พระยาวิชิตสงครามเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สี่ถึงต้นรัชกาลที่ห้า โดยเฉพาะตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบันด้วยวิธีการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภูเก็ต นั่นก็คือ แร่ดีบุกและวุลแฟรมให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลกลาง ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความผันผวนของราคาแร่ดีบุกที่ตกต่ำลงในบางช่วงและนโยบายการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ทำให้ผู้จัดเก็บภาษีปรับสภาพสถานการณ์ไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอันใหญ่หลวงแก่ครอบครัวของท่านในภายหลัง

พระยาวิชิตสงคราม บรรพบุรุษของท่านเดิมเป็นแขกชาวอินเดีย เป็นชาวเมืองมัดราสซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาดู เดิมเมืองนี้เป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๒๒ ต่อมาเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๙ บรรพบุรุษของท่านได้เดินทางไปมาค้าขายระหว่างประเทศอินเดียตอนใต้กับชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองเรื่อยลงไปถึงสตูลและมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ครั้งแรกได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดระนองด้วยการเลี้ยงวัวฝูง ต่อมาย้ายมาอยู่เมืองถลางได้รับราชการในฐานะล่าม จนได้บรรดาศักดิ์เป็นขุน น่าจะเป็นขุนวรวาทีฝ่ายกปิตัน ต่อมาได้เป็นหลวงล่ามหรือหลวงวรวาที หลวงล่ามได้ภรรยาเป็นชาวเมืองถลาง ท่านมีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจิม ชาวเมืองถลางเรียกท่านว่า เจ๊ะมะ ต่อมา ท่านเจิมได้รับราชการและได้แต่งงานกับคุณแสง ผู้เป็นเครือญาติกับท้าวเทพกระษัตรี นายเจิมได้ย้ายไปรับราชการที่เมืองตะกั่วทุ่ง จนได้เป็นหลวงยกกระบัตร ดังจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๓ ( พ.ศ. ๒๓๕๔ ) สารตรามา ณ วันศุกร์แรม๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม ตรีศกฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…ให้เอาหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นพระวิเชียรภักดี ว่าราชการเมืองถลาง ออกมาส้องสุมชักชวนเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ตั้งบ้านเรือนทำไร่นา ขุดร่อนแร่ดีบุก ณ ที่พังงาให้พร้อมมูลก่อน ถ้าได้เสบียงอาหาร ปืน กระสุนดินประสิว ซึ่งจะรักษาบ้านเมืองพร้อมมูลขึ้นเมื่อใด จึงจะให้ไปตั้ง ณ เกาะเมืองถลาง…” พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งนายฤทธิ์มหาดเล็กชื่อ เริก หรือ ฤกษ์(นายศักดิ์ นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช เป็นบรรดาศักดิ์มีศักดินา ๘๐๐ ตำแหน่งมหาดเล็ก )บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ ) เป็นหลวงวิชิตภักดี ช่วยราชการ อีกด้วย เรื่องการสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ รัชกาลที่ ๓ ทรงรับสั่งถามพระยานครศรีธรรมราชว่า จะให้ทางเมืองนครศรีธรรมราชดำเนินการรับผิดชอบไปก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาฟื้นฟูทั้งตัวเมืองถลางและชาวเมืองถลางหลายปี ทางนครศรีธรรมราชยินดีรับและได้จัดการดูแลเมืองถลางอยู่หลายปี โดยมีพระวิเชียรภักดี ( เจิม ) เจ้าเมืองถลาง และหลวงวิเชียรภักดี ( เริก หรือ ฤกษ์ ) ผู้ช่วยราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้มอบให้หลวงวิเชียรภักดีไปควบคุมภาษีดีบุกที่เมืองภูเก็ตอีกตำแหน่งนึ่งด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ต่อมาพระวิเชียรภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระถลาง (เจิม) เมื่อเมืองถลางเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว พระถลาง จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถลาง หรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ( เจิม ) และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ.๒๓๘๐
พระวิเชียรภักดี (เจิม) มีภรรยาและบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ แก้ว ข้าหลวงเมืองพังงาได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายแก้ว เมื่อโตเป็นหนุ่มได้บวชเรียนหนังสือที่เมืองพังงา และเข้ารับราชการที่เมืองพังงา จนได้แต่งงานกับคุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่งธิดาหลวงเมือง เมืองพังงา นายแก้วและคุณแจ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเห็นว่าเมืองถลางซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างบ้านแปงเมืองชึ้นมาใหม๋ หลังจากที่พม่าทำลายบ้านเมืองย่อยยับเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ จึงขออนุญาตผู้ใหญ่จากเมืองพังงาและแจ้งมายังเจ้าเมืองถลางคือ พระถลาง ( เจิม )ผู้เป็นบิดาว่าต้องการมารับราชการที่เมืองถลาง พระถลางเจิมจึงอนุญาตให้บุตรและบุตรสะใภ้ลงมายังเมืองถลาง แต่ท่านเห็นว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ หลังจากที่พม่าทำลายเมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๒ ยังไม่ได้รับการบูรณะรวบรวมผู้คนให้ทำการร่อนแร่ดีบุก พระถลางจึงแต่งตั้งนายแก้วลงมาประจำอยู่เมืองภูเก็ตท่าเรือ เพื่อช่วยหลวงวิเชียรภักดี ( เริก ) เก็บส่วยสาอากรฤชาธรรมเนียมต่างๆส่งไปยังเมืองถลางและกรุงเทพฯ
แต่เดิมครั้งสมัยท่านผู้หญิงจันทร์หรือท้าวเทพกษัตรีย์ ท่านได้แต่งตั้งนายเทียน บุตรชายคนโตลงมาเป็นผู้เก็บส่วยสาอากรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์ในตำแหน่ง เมืองภูเก็จ บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มีศักดินา ตั้งแต่ ๖๐๐ ๘๐๐ และ ๑๐๐๐ ต่อมา “เมืองภูเก็จ” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทุกขราช ปลัดเมืองถลาง และพระยาถลาง ( เทียน ) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังเสียเมือง พ.ศ. ๒๓๕๒ หลวงวิเชียรภักดีเป็นผู้เก็บภาษีดีบุก และได้เป็น พระภูเก็ต ( เริก ) เจ้าเมืองภูเก็ต จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๐ พระยาถลาง(เจิม)ถึงแก่อนิจกรรม พระภูเก็ต(เริก) จึงได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นพระยาถลาง(เริก)
นายแก้วรับราชการดูแลเรื่องภาษีแร่ดีบุก จนเป็นที่ไว้วางใจแก่เจ้าเมืองถลาง ต่อมาได้มีการขยายการขุดแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา คืออำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน ชาวบ้านและชาวต่างประเทศตลอดจนชาวจีนจึงได้อพยพบางส่วนไปขุดร่อนหาแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา โดยมีนายแก้วดูแลวางแผนควบคุมพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ จากหมู่บ้านเล็กๆกลายเป็นตำบลและเมืองใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนภาษีแร่ดีบุกที่จะต้องส่งเมืองถลางและส่งเข้ากรุงก็มากขึ้นตามไปด้วย อาคารบ้านเรือนได้ก่อสร้างเป็นตึก การดูแลท่าเรือให้เรือใหญ่เข้ามาขนสินค้าได้สะดวก นายแก้วจึงต้องย้ายที่ทำการส่วนหนึ่งจากเมืองภูเก็ตมายังเมืองทุ่งคา และพัฒนาควบคู่ไปด้วย
ทางราชการ ณ กรุงเทพฯจึงยกให้เป็นเมืองทุ่งคาขึ้นตรงต่อเมืองถลาง และนายแก้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์” เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ภายหลังจากที่พระภูเก็ต(ฤทธิ์)ได้ย้ายไปเป็นพระยาถลางแล้ว พระภูเก็ต ( แก้ว ) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อหากุลีและได้ชาวจีนไหหลำ จีนมาเก๊าจำนวน ๓๐๐ คนพาไปเป็นกรรมกรบุกเบิกการทำเหมืองแร่ดีบุกให้เอิกเกริกกว่าแต่ก่อน ที่มีคนเพียงสี่ห้าคนต่อเหมือง นอกจากนี้ท่านยังได้ขยายเขตการขุดหาแร่ดีบุกออกไปยังบ้านท่าแครง บ้านหล่อยูงนอกจากที่ตำบลทุ่งคาซึ่งบริเวณแถบนี้ สายแร่ดีบุกอยู่ไม่ลึก จึงสะดวกต่อการขุดแร่ให้ได้จำนวนมาก ท่านได้ให้คนจีนเหล่านี้จัดกั้นทำนบฝายกั้นน้ำแต่งคลองส่งน้ำเข้าเหมืองและถ่ายเทน้ำขุ่นจากการทำเหมืองลงทะเล แล้วยังขยายตลาด สร้างบ้านที่อยู่อาศัยออกไปอีกเป็นจำนวนมาก พระภูเก็ต(แก้ว) ยังได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นวัดกลางหรือวัดมงคลนิมิตร ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ทราบกันต่อๆมาว่า วัดนี้เป็นวัดของตระกูลรัตนดิลกเป็นผู้สร้าง เมื่อคนในตระกูลรัตนดิลกถึงแก่กรรมให้เผาศพที่วัดนี้ เช่น คุณนายวัน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (บุตรสาวพระเทพธนพัฒนา กระต่าย ณ นคร ) ภรรยา นายศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ( บุตรหลวงนรินทร์บริรักษ์ ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)เมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ.๒๔๙๙
พระภูเก็ต ( แก้ว ) มีภรรยา มีบุตรและธิดาหลายคน บุตรที่เกิดจากคุณแจ่ม ธิดาหลวงเมืองพังงาชื่อ ทัต ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ตรงกับปีวอก นายทัตได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานภายหลังจากบวชแล้วสึกออกมารับราชการกับบิดา ส่วนบุตรคนที่สองชื่อ นายบุตร คนที่สามคือ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์) คนที่สี่คือ หลวงราชรองเมือง ( คง ) คนที่ห้าไม่ทราบชื่อ คนที่หกคือ นายร้อยโทเจิม ตั้งแต่คนที่สองถึงคนที่หกไม่ทราบชื่อมารดา คนที่เจ็ดมารดาชื่อพรมเนี่ยวคือ นายเดช ต่อมาเป็น พระรัตนดิลก  เป็นนายอำเภอเมืองทุ่งคา(ภูเก็ต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ฝ่ายนายทัตมื่ออายุพอสมควร ได้แต่งงานกับคุณเปี่ยม ธิดาพระยาถลาง ( ทับ ) เมืองถลาง คุณเปี่ยมมีฐานะเป็นเหลนของท้าวเทพกษัตรีย์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ที่เติบใหญ่มีชื่อเสียงคือ คุณหญิงรื่น เป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ณ นคร ) แห่งเมืองนครศรีธรรมราช นายลำดวน ได้เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เจ้าเมืองภูเก็ต คุณหญิงเลื่อม เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ ส่วนคุณหญิงฟอง ภรรยาพระยาไกรเพชรรัตนสงคราม ( แฉ่ บุนนาค )มารดาเป็นอนุภรรยาไม่ทราบนาม ภรรยาอีกคนหนึ่งคือ คุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่ง ธิดาพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี ( ถิน ณ ตะกั่วทุ่ง ) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง ไม่ทราบนามบุตรธิดา
นายทัตได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนได้เป็น หลวงมหาดไทย (ทัต) กรมการเมืองถลาง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิทักษ์ทวีป ช่วยราชการบิดาที่ภูเก็ต หลังจากที่พระภูเก็ต ( แก้ว ) บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ จึงได้รับพระกรุณาฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) แทนบิดา เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และได้ดำเนินการพัฒนาเมืองภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่องเจริญก้าวหน้า สามารถเก็บส่วยสาอากรได้มาก กลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่เท่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองถลางซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถลาง กับเมืองภูเก็ตซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภูเก็ต ให้ไปขึ้นกับเมืองพังงาทั้งสองเมือง และโปรดฯให้เลื่อน พระภูเก็ตเป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) มีฐานะเกียรติยศเท่าเมืองถลาง เมื่อพระยาภูเก็ต ( ทัต )อายุได้ ๓๙ ปี ในปีพ.ศ. ๒๔๐๖ ส่วนผู้ช่วยราชการหรือรองเจ้าเมือง จากหลวงพิทักษ์ทวีปเป็นพระอาณาจักรบริบาล
เมื่อเมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองถลาง เพราะทำเลที่ตั้งดีกว่า คือมีท่าเรือที่เรือใหญ่สามารถเข้ามาจอดได้สะดวก มีพ่อค้าต่างเมืองโดยเฉพาะจากสิงคโปร์ ปีนัง และฝรั่ง ฯลฯเข้ามาติดต่อกันมากขึ้น รายได้ภาษีอากรก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ภายหลังจากที่พระยาบริรักษ์ภูธร ( แสง ) เจ้าเมืองพังงาถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองภูเก็ตขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ดังสารตราในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตอนหนึ่ง ว่า “…พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) ทะนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง คิดอ่านชักชวนลูกค้าพาณิชย์ไทยจีนแขกมาตั้งบ้านเรือนก่อตึกร้าน ตั้งตลาดปสาน ให้ทำมาหากินมั่งคั่งบริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองขึ้นมาก ลูกค้าพาณิชย์ เรือสลูบ กำปั่น สำเภา เรือเสาใบไปมาค้าขายก็ชุกชุม เรียกเศษดีบุกปึก ดีบุกย่อย ภาษีพรรณผ้า จังกอบ และอากรดีบุก เป็นพระราชทรัพย์ของหลวง ถึงมรสุมงวดปีก็ส่งเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย ไม่ได้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ ครั้งนี้มีความกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณ จัดได้เพชรเม็ดใหญ่เท่าผลบัวอ่อนอันดีมีราคากับของอย่างนอกต่างๆ ให้พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ตคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายหาบำเหน็จความชอบใส่ตัวเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองภูเก็ตมาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร…”
การขยายกิจการการทำเหมืองแร่และการขุดร่อนหาแร่ดีบุก จำเป็นต้องใช้คนมาก เช่นการเปิดหน้าดินในการทำเหมืองหาบ หรือเหมืองแล่น หรือเหมืองรูที่ขุดเป็นบ่อลึกแล้วเอาดินในชั้นแร่มาล้างจึงจะได้แร่ แต่กำลังคนในเมืองถลางและภูเก็ตมีไม่พอกับการขยายการทำเหมือง ดัง นั้นนายเหมืองหรือผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับแร่จึงต้องหาคนจีนจากเมืองจีนและคน จีนที่ได้อพยพมาจากแหลมมลายูมาก่อนแล้วเข้ามาทำงานเป็นจำนวนเป็นหมื่นคน ทำให้เมืองภูเก็ตมีสีสันผู้คนพลุกพล่าน มีมหรสพ คือ งิ้ว การเชิดหุ่นจีน ตลาดขายสินค้าพวกยาจีน อาหาร รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีแบบจีนตามเข้ามาด้วย คนจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน ) กว่างตง เกาะไหหลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาและคนที่มีการศึกษา บางส่วนเป็นสมาชิกของพรรคใต้ดินหรือสมาคมลับในจีน บางคนเมื่อมาถึงภูเก็ตภายหลังจึงละจากการเป็นกรรมกรเหมืองไปค้าขายโดยเช่าอาคารตึกแถวของพระยาภูเก็ต บางส่วนไปทำสวนผัก เป็นนายเหมืองรายย่อยและนายเหมืองที่มีเงินมาก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการขุดหาแร่ดีบุกแล้ว ยังมีการสร้างโรงงานสำหรับล้างแร่ คือแยกแร่ดีบุกออกจากขี้ดินทราย ขี้แร่ และการหลอมแร่ดีบุกเป็นก้อนคล้ายหัวร่มทางภาคเหนือ การหลอมแร่ดีบุกต้องใช้ไม้ฟืนและใช้คน โรงงานหลอมแร่อยู่แถวใกล้ท่าเรือ เพื่อสะดวกในการขนลงเรือสินค้า การหลอมแร่ดีบุกจะมีตะกรันคือเศษดีบุกที่ติดกับเบ้าหลอมที่ช่างหลอมจะต้องแคะออก โรงงานหลอมดีบุกที่เหลือเป็นเศษตะกรันจำนวนมากมาย ชาวภูเก็ตได้ขุดขายกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๕ แถวบริเวณถนนตะกั่วป่าริมคลองบางใหญ่หรืออ่าวเกไปจนถึงฝั่งคลองด้านตะวันออก และบริเวณหน้าศาลเจ้าปุดจ้อเป็นต้น
ข้างพวกกรรมกรเหมืองทางเจ้าของเหมืองจัดสร้างที่พักกั้นจากมุงจากเป็นห้องโถงยาวให้นอนเรียกว่า กงสี มีข้าวต้มข้าวสวยให้กินยกเว้นกับข้าวหากินเอาเอง แต่ละเหมืองจะมีเกือบร้อยหรือเป็นร้อยคน คนเหล่านี้ได้เงินแล้วส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีน บางคนมีภรรยาคนที่สองที่ภูเก็ต เมื่อคนหมู่มากหลายพันคนมาต่างแซ่ต่างถิ่นย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน จนเกิดการยกพวกเข้าทำร้ายกัน การไม่พอใจค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ที่ชิงดีชิงเด่นในกลุ่มเพื่อตนจะได้เป็น “ตั่วโก”หรือตั้วเฮียหรือพี่ใหญ่ พี่รอง พี่สาม พี่สี่ ฯลฯ ซึ่งในขณะนั้นเมืองภูเก็ตเป็นเมืองค้าขาย มิได้เตรียมกองทหารไว้สู้รบกับพม่าเหมือนแต่ก่อน จึงมีแต่กองโปลิศหรือตำรวจดูแลความสงบสุขของชาวบ้านเท่านั้น
เมื่อคนจีนไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามและอาศัยทำมาหากินตั้งแต่กรุงเทพฯ มหาชัย แม่กลองเรื่อยลงไปตลอดแหลมมลายูของอังกฤษถึงสิงคโปร์ หัวหน้าจีนที่สิงคโปร์เริ่มก่อตั้งสมาคมลับที่เรียกว่า “ซันโฮหุย หรือ ซันเทียนหุย” หรือ เทียนตี้หุย หรือสมาคมไตรภาคี ที่หมายถึงความกลมกลืนของสามอย่างคือ ฟ้า ดิน มนุษย์ เมื่อทางการอังกฤษสอบสวนแล้วเห็นว่า สมาคมนี้ไม่มีพิษภัยต่อการปกครองของตน เพียงแต่ใช้ชื่อจากจีนเพื่อช่วยเหลือคนจีนที่เพิ่งเดินทางมาหางานทำเท่านั้น สมาคมนี้มีสมาชิกกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆตลอดแหลมมลายู ทำให้เกิดสมาคมอื่นๆอีกหลายสมาคม หรือหลายกงสี เช่น หยี่หิ้น หยี่ฮก ปุนเถ่ากง ตัวกงสี ชิวหลี่กือ ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกว่าพวกอั้งยี่หรือ“หนังสือแดง”
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้เกิดการก่อความวุ่นวายขึ้นที่เมืองปีนัง เมื่อสมาคมธงแดง นับถือตัวแป๊ะกงหรือปุนเถ่ากง พวกนี้เป็นชาวฮกเกี้ยน กับสมาคมธงขาว หรือสมาคมหยี่หิ้น ซึ่งเป็นพวกกว่างตงหรือกวางตุ้ง จัดตั้งเป็นรูปกองทัพจับอาวุธเข้ารบรากันตีโล่ก้อกลอง เอาธงสามแฉกขนาดใหญ่นำหน้า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ลุกลามไปหลายแห่งรวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๔ คนจีนในภูเก็ตได้จัดตั้งสาขากงสีขึ้น คือ กงสีหยี่หิ้น กงสีปุนเถ่ากง กงสีโฮ่เส้ง แต่ละสมาคมหรือกงสีจะมีระเบียบการเข้าเป็นสมาชิกที่เข้มงวด กงสีหยี่หิ้นหรือหยี่หิ้นเกียนเต๊ก เป็นพวกธงแดงสำนักตั้งอยู่ที่กะทู้มีสมาชิกประมาณ ๓๕๐๐ คน ส่วนกงสีปุนเถ่ากงตั้งอยู่แถวบางเหนียวและในตลาดเมืองภูเก็ต มีสมาชิกราว ๔๐๐๐ คน แต่ละกงสีมีตั่วโกหรือพี่ใหญ่ เป็นหัวหน้า เพื่อดูแลควบคุมลูกน้อง การรับคนเข้าไปเป็นกรรมการในเหมืองแร่แต่ละแห่งก็คงจะยกเอาสมาชิกทั้งชุดเข้าไปเพื่อง่ายต่อการควบคุม ต่อมากงสีทั้งสองเกิดทะเลาะกันเรื่องแย่งกระแสน้ำเข้าไปทำเหมืองแร่ จึงเกิดการสู้รบกันกลางเมือง ฝ่ายพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เจ้าเมืองพร้อมด้วยกรมการเมืองต่างเข้าไปห้ามปราม ในขณะเดียวกันท่านได้ติดต่อไปยังหัวเมืองใกล้เคียงเพื่อขอกำลังตำรวจมาเสริม หากพวกอั้งยี่ยังก่อความวุ่นวายอีก พร้อมทั้งแจ้งเรื่องด่วนไปยังกรุงเทพฯ ทางหัวเมืองต่างส่งกำลังมาสนับสนุน ส่วนทางกรุงเทพฯได้ส่ง พระยาเทพประชุน ( ต่อมาคือเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี -ท้วม บุนนาค ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวง ลงมายังภูเก็ต พระยาภูเก็ตพร้อมด้วยกรมการเมืองภูเก็ต และพระยาเทพประชุน ให้เชิญหัวหน้าจีนทั้งสองกลุ่มเข้ามาไกล่เกลี่ย ทางราชการต้องการให้พวกเขาทำมาหากินโดยสุจริต พวกเขายอมรับ ทางราชการจึงนำตัวหัวหน้ารวมเก้าคนเข้ากรุงเทพฯ แล้วโปรดฯให้หัวหน้าทั้งเก้าคนให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อทางราชการ ไม่ก่อเรื่องเดือดร้อนขึ้นอีก พวกเขาจึงเดินทางกลับมาภูเก็ตทำมาหากินต่อไป
ข้างทางกรุงเทพฯได้วางแผนให้พระยาภูเก็ต( ทัต ) กับพระยาเสนานุชิต ( นุช ) เจ้าเมืองตะกั่วป่าช่วยกันออกเงินซื้อเรือกลไฟสองลำเอาไว้ลาดตระเวนและช่วยเหลือเรือรบหลวงไว้ป้องกันเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นอีกในอนาคต และใช้วิธีการปราบพวกอั้งยี่แบบที่อังกฤษใช้อยู่ในแหลมมลายูของอังกฤษ คือ แต่งตั้งตัวหัวหน้าอั้งยี่ให้มีบรรดาศักดิ์และอำนาจตรวจตราบังคับลูกน้อง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ทางราชการจึงได้แต่งตั้งปลัดฝ่ายจีน ๒ คน คือ หลวงอำนาจสิงขร และหลวงอร่ามสาครเขต และแต่งตั้งนายอำเภอจีน ๔ คน คือ พระขจรจีนสกล หลวงพิทักษ์จีนประชา หลวงบำรุงจีนประเทศ และหลวงนิเทศจีนประชารักษ์ นอกจากนี้ยังได้ยกเอาเมืองถลางซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า มาขึ้นกับเมืองภูเก็ต เพื่อง่ายต่อการสั่งการบังคับบัญชาเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประจวบกับขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม ทางราชการจึงให้ พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ต ไปเป็นพระยาถลาง ( เกต ) ขึ้นตรงต่อพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒

ตราประทับของพระยาวิชิตสงคราม ดูเป็นฉัตรห้าชั้น

          ในปีเดียวกันนี้ พระยาภูเก็ต ( ทัต ) ได้รับบำเหน็จความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาวิชิตสงครามรามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ พิทักษสยามรัฐสีมา มาตยานุชิตพิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวาง ( วิเศษ )เมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ มีเครื่องยศเพียงเท่า เสนาบดี คือ กระบี่บั้งทองเล่มหนึ่ง ประคำทองสายหนึ่ง ดวงตราพระจุลจอมเกล้าชั้น ๒ ดวงหนึ่ง พานทองคำใบใหญ่ใบหนึ่ง พานจอกหมากทองคำ ๒ จอก ตลับยาทองคำ ๒ ตลับ ตลับทองคำใส่สีผึ้งตลับหนึ่ง ซองพลูทองคำซองหนึ่ง ซองบุหรี่ทองคำซองหนึ่ง มีดเจียนหมากด้ามหุ้มทองคำเล่มหนึ่ง คนโททองคำใบหนึ่ง กระโถนทองคำใบหนึ่ง หมวกประพาสใบหนึ่ง เสื้อประพาสตัวหนึ่ง แพรขลิบโพกผืนหนึ่ง สัปทนหนึ่ง แคร่หลังหนึ่ง รวมทั้งหมด๑๙สิ่งซึ่งเป็นพระยาพานทองเมื่ออายุได้๔๕ปี
        จากการที่ชาวจีนแต่ละกงสีมักทะเลาะวิวาทยกพวกกันเข้าทำร้ายต่อกันเนืองๆ ทำให้บ้านเมืองไม่สู้จะสงบนักถึงแม้จะมีหัวหน้าต้นแซ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลควบคุมก็ตาม การควบคุมคนจีนวัยกำลังทำงานเหล่านี้บางครั้งตัวหัวหน้าไม่ทราบว่าลูกน้องยกกำลังกันเข้าฆ่าฟันตายหลายสิบคน ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าเมืองคือ พระยาภูเก็ตที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ประมาณหลังจาก พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นต้นมาสุขภาพร่างกายของพระยาวิชิตสงครามไม่สู้จะดีนักเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ ดวงตาเริ่มพร่ามัว ทำให้การว่าราชการย่อหย่อนลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระอาณาจักรบริบาล ( ลำดวน ) บุตรชายซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยราชการอากรดีบุกเมืองภูเก็ต เป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๓๐๐๐ ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้นสามค่ำเดือน ๘ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ ( พ.ศ. ๒๔๑๘ ) ในขณะที่พระยาวิชิตสงครามอายุได้ ๕๑ ปี

        ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมืองภูเก็ตมีคนจีนเข้ามาทำมาหากินหลายหมื่นคน แต่ส่วนใหญ่จะหมุนเวียนกันกลับไปเมืองจีนในช่วงตรุษจีน  กง สีปุนเถ่ากงซึ่งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตมักหาว่าพระยาวิชิตสงครามเข้าข้างพวกกง สีหยี่หิ้นที่กะทู้และมักจะช่วยพวกเขาเสมอเมื่อมีการสู้รบกันระหว่างสองกงสี  พวกนี้หนีการจับกุมมาจากระนองแล้วรวมตัวกันจะเข้ายึดตัวเมืองภูเก็ต แต่หัวหน้าต้นแซ่ไม่รู้เรื่อง

        ในเดือนสี่ ขึ้นสิบสามค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙  เวลาบ่าย  กะลาสีเรือเมาสุราเกิดทะเลาะกับคนจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต  แต่หัวหน้ากะลาสีเรียกลงเรือไปเสียก่อน จนเวลาค่ำพวกกะลาสีสองคนขึ้นมาเที่ยวในตลาด  พวกคนจีนเห็นดังนั้นจึงชวนพรรคพวกเข้ารุมทุบตีกะลาสีปางตาย ฝ่ายตำรวจเข้าระงับเหตุพร้อมกับรวบตัวคนจีนที่ทำร้ายแล้วพาไปโรงพัก  พวกที่เหลือไม่พอใจ ต่างลุกฮือขึ้นไปชวนพวกมากว่า ๓๐๐ คนถืออาวุธเข้ารื้อโรงพัก เผาวัดและเข้าปล้นบ้านเรือนคนไทย  คนไทยต่างหนีเอาตัวรอด  ข้างคนจีนเมื่อรวมพวกได้กว่า ๒๐๐ คนหมายจะเข้าปล้นสำนักงานรัฐบาลและบ้านพระยาวิชิตสงครามที่บางงั่ว

        ขณะนั้นพระยาวิชิตสงครามที่กำลังป่วย และบุตรเขยของท่าน คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังและข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  จึงรวมไพร่พลคนไทยปลดนักโทษจากเรือนจำ ตำรวจอีกได้ประมาณ ๑๐๐ คน พร้อมกับทหารเรือในเรือรบสองลำที่ทอดสมออยู่ในอ่าวอีก ๑๐๐ คน  จัดการเอาปืนใหญ่จุกช่องทั้งสี่ทิศ  พร้อมกับโทรเลขถึงกรุงเทพฯ  มีหนังสือไปยังหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกให้ยกกำลังมาช่วย  ในขณะเดียวกันได้เรียกหัวหน้าต้นแซ่มาประชุมตกลง

        ข้างทางกรุงเทพฯได้ส่งเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) ข้าหลวงใหญ่ปราบปรามอั้งยี่โดยเฉพาะคุมเรือรบและเรือสลูปลงมายังภูเก็ต  ด้วยเกรงว่าเจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) จะวางแผนต่อสู้กับพวกอั้งยี่ไม่ได้  เมื่อได้รวมพลทั้งหลายเข้าได้พอสมควรแล้วจึงประกาศเอาโทษแก่ผู้ประพฤติร้าย  ข้างหัวหน้าต้นแซ่ต่างเข้ามาขอโทษและกลับไปทำมาหากินตามเดิม  แต่ยังมีคนจีนหลายกลุ่มที่ดื้อรั้นไม่พอใจ  จึงรวมพวกกันออกไปปล้นบ้านเรือนราษฎรรอบนอก  ทำให้เกิดจลาจลขึ้นทั่วเกาะภูเก็ต  มีแห่งเดียวที่รักษาตำบลของตนเองไว้ได้คือ บ้านฉลองซึ่งมีหลวงพ่อแช่มเจ้าวัดและชาวบ้านฉลอง

        เมื่อเหตุการณ์สงบลง  ต่างได้รับบำเหน็จความชอบคือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์  เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) เป็น พระยาประภากรวงศ์ ในตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานพานทองเสมอทั้งสองคน ส่วนคนอื่นๆได้รับบำเหน็จความชอบตามลำดับทุกคน

กรณีอั้งยี่ พ.ศ. ๒๔๑๙

        สาเหตุของการเกิดกบฏอั้งยี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ และลุกลามไปอีกหลายปีนั้น สรุปได้ดังนี้

        ๑.  เมื่อกงสีหยี่หิ้นกับกงสีปุนเถ่ากงเกิดทะเลาะวิวาทกันบ่อยเข้า  บางช่วงพวกกงสีปุนเถ่ากงที่ตลาดเมืองภูเก็ตปิดถนนไม่ให้ส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปกะทู้ของพวกกงสีหยี่หิ้น  โดยเฉพาะข้าวสาร  พระยาวิชิตสงครามจึงให้ขนข้าวสารลงเรือไปขึ้นที่หาดป่าตองแล้วลำเลียงด้วยช้างข้ามภูเขาไปยังกะทู้  ทำให้พวกกงสีปุนเถ่ากงไม่พอใจ

        ๒.   การ ตัดสินคดีความต่างๆ พวกกงสีปุนเถ่ากงหาว่า พระยาวิชิตสงครามไม่ให้ความยุติธรรมกับพรรคพวกของตน และพยายามช่วยพวกกงสีเกียนเต็กหรือหยี่หิ้น  แต่ไม่ช่วยพวกตน

        ๓.   ราคาดีบุกตกต่ำ ราคาดีบุกในตลาดลอนดอนตกต่ำลง  ทำให้ราคาดีบุกเมืองปีนัง สิงคโปร์ ภูเก็ตพลอยตกต่ำไปด้วย

        ๔.   การเก็บภาษีผูกขาดของรัฐบาลกลางจากพระยาวิชิตสงครามเป็นรายปี  เมื่อราคาดีบุกตกต่ำลง  เงินรายได้จากภาษีดีบุกก็ตกต่ำลงไปด้วย  แต่พระยาวิชิตสงครามจะต้องจ่ายภาษีรายปีให้รัฐบาลกลางเท่าเดิม

        ๕.   ระบบการจัดเก็บภาษีดีบุกเปลี่ยนแปลงไป คือ รัฐบาลกลางมีนโยบายที่จะให้คนที่ประมูลการจัดเก็บภาษีได้  จะต้องส่งเงินล่วงหน้า ๓ เดือน  และต่อไปเดือนละ ๒ ครั้ง และห้ามส่งเป็นของวัตถุ ต้องส่งเป็นเงินเหรียญเท่านั้น  ทำให้พระยาวิชิตสงครามและนายเหมืองหุ้นส่วนของตนเกิดความยุ่งยากขึ้นทันที  เมื่อกรรมกรจีนต้องการเงินค่าจ้างโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน  ซึ่งพวกเขาจะกลับไปเมืองจีนหรือส่งเงินไปบ้าน  แต่เงินหมุนเวียนของพระยาวิชิตสงครามและหุ้นส่วนนายเหมืองมีไม่พอที่จะจ่ายให้กรรมกรเหล่านั้น

        ๖.   ราคาประมูลภาษีอากรต่อปีสูงเกินไป  คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔  เพียงปีละ ๑๗,๓๖๐. บาท  แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ – ๒๔๑๙  ได้มีการประมูลสูงขึ้นเป็นปีละ  ๔๘๐,๐๐๐. บาท  โดยพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ( ตันกิมเจ๋ง )  ได้ประมูลแข่งกับพระยาวิชิตสงครามในราคาดังกล่าว  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องสู้ราคาดังกล่าวกับพระยาอัษฎงคต  จึงทำให้พระยาวิชิตสงครามต้องส่งเงินงวดล่วงหน้า ๓ เดือน เป็นจำนวน ๑๒๐,๐๐๐. บาท และเงินงวดต่อไปงวดละ  ๔๐,๐๐๐. บาท  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องเอาเงินค่าจ้างกรรมกรจีน ไปจ่ายภาษี  เมื่อความลับรั่วไหลออกไปทำให้กรรมกรจีนไม่พอใจ

        ๗.   พวกกรรมกรจีนจังหวัดระนองเมื่อถึงวันตรุษจีน ใน พ.ศ. ๒๔๑๙  ขอให้นายเหมืองจ่ายเงินที่คงค้างกับพวกตนให้หมดตามประเพณีจีน  แต่นายเหมืองที่ระนองไม่มีจ่าย  พวกกรรมกรจีนจึงก่อการจลาจลขึ้น  โดยเฉพาะพวกสาขากงสีปุนเถ่ากงฆ่านายเหมืองตาย แล้วหลบหนีไปทางเมืองหลังสวนชุมพร  ข้างนายด่านเห็นผิดสังเกตจึงจับตัวส่งเมืองระนอง  ข้างพรรคพวกทางระนองเข้าแย่งตัวผู้ร้ายแล้วฆ่านายด่านตาย เมื่อเห็นความผิดจึงพากันหลบหนีมาภูเก็ตประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ คน โดยแทรกซึมเข้าไปอาศัยอยู่กับสมาชิกสาขากงสีปุนเถ่ากงที่ในเมืองภูเก็ต  พวกนี้วางแผนที่จะเข้าปล้นศาลารัฐบาลและบ้านเรือนราษฎรเพื่อลบล้างความผิดทางอาญาของพวกตน

        ๘.   ในช่วงปี พ.ศ.  ๒๔๑๖ – ๒๔๑๘  พระยาอนุกูลสยามกิจได้ประมูลภาษีดีบุก  ประมูลเงินขึ้นปีละ ๒๐๒,๖๔๐. บาท  รวมเป็น ๓๒๐,๐๐๐. บาท พระยาวิชิตสงครามจึงต้องสู้ราคากับพระยาอนุกูลสยามกิจ  จึงเป็นเหตุให้เมืองภูเก็ตต้องเสียภาษีให้รัฐบาลกลางปีละ ๔๘๐,๐๐๐. บาท  หัวเมืองชายทะเลตะวันตกก็ต้องขึ้นภาษีตามไปด้วย

        อย่างไรก็ตาม การประมูลภาษีตามที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษาเคยประมูลไว้  เมื่อถึงเวลาที่พระยาภูเก็ต (ลำดวน ) ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ และขอถอนตัวออกจากการประมูล  แต่พระยาอัษฎงคตก็ไม่ได้เข้ามาประมูลต่อ  ทางรัฐบาลกลางจึงมอบให้พระยาภูเก็ตจัดการต่อไปโดยให้ร้อยละ ๕

        ๙.   พวกคนจีนนายเหมืองที่มีเงินทุนน้อย  จึงขุดแร่ดีบุกได้ไม่มาก  ทางรัฐบาลต้องการภาษีให้ได้มาก  จึงอนุมัติให้พระยาวิชิตสงครามเบิกภาษีของหลวงในแต่ละปีส่วนหนึ่งออกมาเป็นเงินหมุนเวียนให้พวกนายเหมืองจีนกู้ยืมไปลงทุน  แต่ทว่าราคาดีบุกตกต่ำ  ราคาข้าวสารกลับแพงขึ้น  ภาวะเศรษฐกิจของภูเก็ตกลับซบเซาลง  พวกนายเหมืองบางคนต้องปิดกิจการเหมือง  ทำให้คนจีนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาเดือดร้อนไปตามๆกัน

        ๑๐.   เมื่อภาษีที่ทางรัฐบาลกลางเรียกเก็บสูงขึ้นทุกปี แต่การจัดเก็บภาษีดีบุกกลับตกต่ำ  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องหาช่องทางเพิ่มภาษีอย่างอื่นไปด้วย  และในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ พระยาภูเก็ต(ลำดวน) ได้ประกาศขึ้นราคาผูกปี้คนจีนจากเดิมคนละ ๔๐ เซ็นต์ เป็น ๒ เหรียญ ๖๐ เซ็นต์  ทำให้กรรมกรจีนที่ตกงานและมีรายได้น้อยเดือดร้อนมากขึ้น  ความแค้นต่อเจ้าเมืองจึงเพิ่มมากขึ้นไปอีก  จึงรวมตัวกันวางแผนก่อการกบฏ

        ๑๑.   ในปี พ.ศ.  ๒๔๑๙  พระยาภูเก็ต(ลำดวน)ได้ประกาศอีกว่า จะไม่ลงทุนให้กับพวกนายเหมืองที่มีทุนน้อยมากู้ยืมอีกต่อไป  ทำให้นายเหมืองทุนน้อยที่เคยกู้เงินจากราชการไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทำเหมือง  สร้างความแค้นเคืองให้กับกลุ่มนายทุนเหมืองเหล่านี้  แต่นายเหมืองที่มีทุนมากก็ไม่เดือดร้อน

        สรุป ได้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากการแข่งขันกันประมูลภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีอย่างผิดสังเกต ทำให้ผู้ที่ประมูลได้ต้องขึ้นภาษีอย่างอื่นมาชดเชย  ราคาดีบุกตกต่ำ เศรษฐกิจซบเซา  กิจการการทำเหมืองแร่ดีบุกหยุดชะงัก คนจีนที่เดินทางเข้ามาหลายหมื่นคนตกงาน  การบริหารจัดการด้านการเงินและธุรกิจของพระยาภูเก็ต(ลำดวน)ไม่คล่องเหมือนพระยาวิชิตสงคราม  รัฐบาลกลางเร่งรัดเก็บเงินภาษีจากรายปีเป็นรายเดือน  เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นก็ไม่ได้ลดหย่อนการเก็บภาษี  เป็นต้น

        พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๒๑ ปีขาล ภายหลังจากกบฏอั้งยี่สามปี ด้วยโรคเรื้อรังมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖  และจักษุพร่ามัว

 

สกุล “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”

        ฝ่ายอำมาตย์โท  หลวงวรเทศภักดี (เดช)  ผู้เป็นน้องชายของพระยาวิชิตสงคราม(ทัต)  ได้ทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯขอพระราชทานนามสกุล  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลให้ว่า  “รัตนดิลก”  ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘  เป็นครั้งที่ ๓๑

        ที่มาของนามสกุลพระราชทาน น่าจะมาจากนามบรรพบุรุษของผู้ขอพระราชทาน คือ        พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม) พระยาถลาง  ผู้ก่อสร้างบุกเบิกเมืองถลางขึ้นมาใหม่  ภายหลังจากที่พม่าเผาผลาญหมดสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒  พระภูเก็ต (แก้ว) บุตรพระยาถลาง(เจิม) เป็นผู้บุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุกแบบธุรกิจขนาดใหญ่สร้างเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรือง

       พระภูเก็จ (แก้ว)  คำว่า  “แก้ว”  หมายถึง  “รตน”

       พระยาถลาง (เจิม)  คำว่า  “เจิม”  จาก  แปลก สนธิรักษ์ ( พจนานุกรมบาลี – ไทย, ๒๕๐๖ : ๑๓๒ )  “ติลก  นาม. เจิม, ประ, คุณ, ตกกระ”  ดังนั้นคำว่า  “เจิม”  หมายถึง  “ติลก”  อ่านว่า  ติละกะ

         จากคำว่า  แก้ว + เจิม =  รตน + ติลก  เป็น 

         รัตนดิลก

        คุณตาเสริม (ดำ) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  คำว่า รัตนดิลก หมายถึง ส่วน (แป้ง,แก้ว) ที่เจิมหน้าผากของชาวอินเดีย ซึ่งเข้าเค้าว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอินเดียอีกด้วย

        ต่อมาอำมาตย์เอก หลวงวรเทศภักดี (เดช รัตนดิลก)  กรมการพิเศษมณฑลภูเก็ต  ได้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  วงศ์สกุลของหลวงวรเทศภักดี  เป็นตระกูลที่สืบเนื่องมาจากข้าราชการมณฑลภูเก็ต  และมีนิวาสสถานตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลภูเก็ตตั้งแต่เดิมมาจนบัดนี้  จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพิ่มนาม  “ณ ภูเก็ต”  ต่อท้ายนามสกุล  “รัตนดิลก”  เป็น  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  และขอพระบรมราชานุญาตให้หลานชายของหลวงวรเทศภักดีสามคน  คือ  อำมาตย์ตรี  หลวงประสานสรรพเหตุ (เอี้ยว รัตนดิลก) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสตูลหนึ่ง  รองอำมาตย์โท  ขุนเขตขันธ์ภักดี (แนบ รัตนดิลก) นายอำเภอจังหวัดสตูลหนึ่ง รองอำมาตย์ตรี ขุนนิเทศทาวันการ (ดิษฐ์ รัตนดิลก) ผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้มณฑลภูเก็ตหนึ่ง  ใช้นามสกุล  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  ได้ทรงพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม “ณ ภูเก็ต”  ต่อท้ายนามสกุล “รัตนดิลก”  เป็น  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  ตั้งแต่วันประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๓๓ แผนกราชกิจจา  วันที่  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๕๙ หน้า  ๘๓๑

                    คุณหญิงเลื่อมบุตรีพระยาวิชิตสงครามได้ติดตามสามีคือพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชื่น บุนนาค)เข้ากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสามี ทรงแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี จึงโปรดฯให้บรรดาพระบรมวงศานุงวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จ แต่งประทีปโคมไฟประดับประดาบริเวณพระราชวังที่นั่น เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางที่ได้กระทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดิน ตามรายพระนามและนามในพระราชพงศาวดาร พระยาวิชิตสงครามมีชื่อผู้ได้รับบำเหน็จความชอบอยู่ด้วย คุณหญิงเลื่อมจึงขอพระกรุณาจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์คำโคลงประวัติพระยาวิชิตสงครามติดไว้ที่โคมไฟด้วย และได้ทรงพระกรุณาแต่งที่มีบางคำเป็นสำเนียงชาวภูเก็ตพูด  คำโคลงนั้นว่า

                               เกาะถลางข้างด้านประ        วันเอาะ

                         ภูเก็ตเป็นบ้านเนาะ                   รกร้าง

                         พระภูเก็ตทัดเสาะ                     แสวงแร่

                         พบที่ทุ่งคาสร้าง                       ที่บ้านทำเหมือง

                              เอาภารการเติบตั้ง               เมืองตึก  เต็มแฮ

                         เฮินเอนกเจ๊กอึกทึก                  ค่ำเช้า

                         เภาไฟรถรัถคึก                        คับคั่ง

                         เพราะพระภูเก็ตเป็นเค้า             แก่บ้านเมืองเจริญ

                             สมพระไทยธิเบศร์                จอมสยาม

                         พระยาวิชิตสงคราม                   ท่านตั้ง

                         พานทองและตราความ               ชอบพระราช  ทานแฮ

                         เลื่องชื่อฤายศทั้ง                      ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ

* * * * * * * * * *

อนุสรณ์พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

๑.  ถนนวิชิตสงคราม

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓  ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๓  ได้เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับตำบลสามกอง ผ่านตัวเมืองภูเก็ตถึงหัวถนนทางที่จะไปอำเภอกะทู้  เจ้าหน้าที่ได้จัดปะรำพิธีไว้ที่หัวถนน  ได้อาราธนาพระอริกระวี เจ้าคณะมณฑลภูเก็ตเป็นประธาน  หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานการสร้างถนนสายนี้  แล้วกราบบังคมทูลเชิญเสด็จเปิดถนนสายไปอำเภอกะทู้  ทรงมีพระราชดำรัสตอบ  แล้วพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า  “ถนนวิชิตสงคราม”  ตามนามพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)ผู้ได้พัฒนาบุกเบิกเมืองภูเก็ตและกะทู้ให้เจริญรุ่งเรือง  ทรงชักผ้าคลุมป้ายนามถนน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา  ปี่พาทย์ประโคม  แล้วทรงพระราชดำเนินไปตัดแพรแถบที่ขึงขวางถนน  เสด็จขึ้นทรงรถยนต์ขับไปตามถนนวิชิตสงครามผ่านวัดเก็ตโฮ่  ตรงสามแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านทุ่งทอง ผ่านทางเข้าน้ำตกจนถึงตลาดกะทู้  แล้วมาบรรจบที่สามแยกวัดเก็ตโฮ่ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เส้น

๒.   โรงเรียนวิชิตสงคราม

        โรงเรียนวิชิตสงครามตั้งอยู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ในเขตเทศบาลตำบลวิชิต ใกล้สี่แยกทางที่จะไปอำเภอกะทู้  เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาลบ้านระเงง  ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐  สอนตั้งแต่ชั้น ประถมปี่ที่ ๑ ถึง ประถมปีที่๔ โดยเช่าที่ดินของเอกชน  มีนายชั้น วรวิฑูร เป็นครูใหญ่  และได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวิชิตสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาวิชิตสงคราม  ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ มีนักเรียนกว่าพันคน

๓.   เทศบาลตำบลวิชิต

        พื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ตมี ๘ ตำบล และมีสองตำบลที่ตั้งชื่อตำบลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ปกครองเมืองภูเก็ต คือ ตำบลรัษฎา  อนุสรณ์แด่ มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี  ( คอซิมบี้ ณ ระนอง )  ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และตำบลวิชิต  เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่  พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) จางวางเมืองภูเก็ต และผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  องค์การ บริหารส่วนตำบลวิชิตตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลวิชิต ถนนเจ้าฟ้าตะวันออกติดกับวัดเทพนิมิตร ( วัดแหลมชั่น ) อำเภอเมืองภูเก็ต มี ๙ หมู่บ้าน  องค์การบริหารส่วนตำบลวิชิตได้รับการยกฐานะเป็น “เทศบาลตำบลวิชิต”  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐

๔.   วัดวิชิตสังฆาราม

         วัด วิชิตสังฆาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดควน เพราะตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นเนินหรือควน ที่ดินบริเวณนี้เดิมเป็นที่ดินของพระยาวิชิตสงครามภายหลังต้องมอบให้ราชการ

          วัดวิชิตสังฆารามตั้งอยู่ถนนนริศร  ในเขตบริเวณที่ทำการของหน่วยราชการต่างๆ  วัดนี้จึงเป็นอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่งของพระยาวิชิตสงคราม

๕.   บ้านพระยาวิชิตสงคราม

        บ้านพระยาวิชิตสงคราม  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ    ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ภูเก็ต  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๑๐๒ ตอนที่ ๑๒๘  ลงวันที่ ๑๗ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๒๘  มีเนื้อที่  ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา  ทางกรมศิลปากรได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑

        จากจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ( พ.ศ. ๒๔๕๓ ) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “…ขากลับแวะทอดพระเนตรบ้านท่านพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต  ที่ตำบลท่าเรือ บ้านนี้ท่านพระยาวิชิตไปสร้างขึ้นเมื่อครั้งจีนกระทำการตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็ต  ท่านพระยาวิชิตเห็นว่าอยู่ในเมืองภูเก็ตใกล้ภัยอันตรายนัก  จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือสำหรับเป็นที่เลี่ยงไปอยู่  มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง  มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะๆรอบ เตรียมรบเจ๊กอย่างแข็งแรง  ภายในได้ก่อตึกรามไว้หลายหลัง  แต่ปรักหักพังเสียเกือบหมดแล้ว…”          

        บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าเรือทางทิศตะวันตก  ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ที่เรือสำเภาเข้ามาจอดทอดสมอได้ มีถนนเรียงอิฐ สองข้างทางมีบ้านตึกฝรั่งเกือบร้อยหลัง มี ฝรั่ง แขก จีน กลาสีเรือ เป็นชุมชนที่พลุกพล่าน และเป็นท่าเรือที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองถลางมาตั้งแต่สมัยท้าวเทพกระษัตรีแล้ว  ท่าเรือแห่งนี้เป็นชุมชนที่เรือสำเภาเข้ามาขนถ่ายสินค้าขึ้นและนำดีบุกที่ถลุงและหลอมแล้วลงเรือสำเภา  เพราะมีหลักฐานจากขี้ตะกรันเศษดีบุกที่ติดกับแบบหลอมดีบุกกองอยู่บริเวณกำแพงบ้านเป็นจำนวนมาก  นอกจากการขนถ่ายสินค้าแล้ว  คนที่จะเดินทางไปยังหัวเมืองอื่นก็ต้องมาลงเรือที่ท่าเรือแห่งนี้เช่นเดียวกัน  และเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรขาเข้าขาออกภาษีปากเรือของพนักงานของรัฐด้วย  ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันตกเมืองถลาง บริเวณเลพัง บ้านดอนมีท่าเรือมาแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกัน

        ภายหลังจากที่กรมศิลปากรได้บูรณะขุดแต่งจัดทำแผนผังซากอาคารต่างๆ  พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายสังเขปตามข้อสันนิษฐาน  ทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจมากขึ้น  จากแผนผังในเนื้อที่ ๒๓ ไร่เศษ  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสามตอน  คือ  ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง  ล้อมรอบด้วยกำแพงหนา ๒๐ นิ้ว บางส่วนหนา ๑๖ นิ้ว  หอคอยป้อมปืนอยู่ตรงกลางทั้งสี่ด้าน  ชิองประตูทางเข้าอยู่ทางทิศใต้

        พื้นที่ส่วนหน้า  ประกอบด้วย

                (๑)  ช่องประตูทางเข้าอยู่ตรงกลางข้างป้อมปืน

               (๒)   ป้อมปืนสังเกตการณ์  เป็นอาคารสองชั้น  ชั้นล่างมีช่องปืนใหญ่สองกระบอก  ขนาดพื้นที่ของป้อม ๗ x ๗.๒๐ เมตร  ป้อมปืนส่วนนี้ยังมีสภาพหลักฐานเดิม มีเศษกระเบื้องดินเผามุงหลังคา  ส่วนยอดของหลังคาทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมสอบปลายยอดแหลม  ประดับลวดลายแบบจีน  หลังคาทรงปั้นหยา

              (๓)   กำแพงทั้งสี่ด้าน สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงกล่าวไว้ว่า  กำแพงสูง ๖ ศอก ใบเสมาศอกคืบแบบจีน  กำแพงบางไม่มีเชิงเทิน  ความกว้างของกำแพง  ๖๐ วาทั้งหน้าหลัง  กำแพงสร้างอย่างแข็งแรง เพื่อป้องกันการสู้รบกับอั้งยี่

              (๔)   อาคารหมายเลข ๒, ๓  เป็นศาลหอนั่ง ขนาด  ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐ เมตร อยู่ริมกำแพงทิศใต้ส่วนหน้าเช่นเดียวกัน  เป็นอาคารตึกสำหรับเป็นศาลและหอนั่ง  ด้านหน้าเป็นโถงโล่ง ส่วนหลังคาเป็นทรงปั้นหยา

              (๕)   กลุ่มอาคารทิมดาบ ด้านหน้าทั้งสองมุม  เป็น กลุ่มอาคารห้องแถวมุมกำแพงพอดีแยกออกทั้งสองปีก ด้านละ ๕ ห้องมุมหนึ่งรวม ๑๐ ห้อง หน้าอาคารน่าจะปูไม้เป็นนอกชาน สำหรับพวกตำรวจพัก  รวมสองมุม  ๒๐ ห้อง

              (๖)   ตรงกลางอาคารส่วนหน้าเป็นอาคารว่าราชการหรือรับแขกมีบันไดขึ้นทั้งสองด้าน ถัดบันไดเข้าไปภายในเป็นพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาขนาดใหญ่สีแดง อาจจะต่อเชื่อมเข้าไปเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยไม้มีตอม่อเสาปูนเรียงด้วยอิฐ

              (๗)   ตรงส่วนหน้ามุมซ้ายสุดติดกำแพงเตี้ยกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนกลาง  มีอาคารชั้นเดียว (หมายเลข ๔) สามด้านก่ออิฐส่วนด้านหน้าอาจเป็นไม้ทำเป็นนอกชานโล่ง ขนาด  ๗ x ๑๑ เมตร เป็นอาคารหลังเล็ก  หลังคาน่าจะเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินเผา  แต่ฟากตรงกันข้ามทางริมกำแพงทิศตะวันออกไม่มีอาคารแบบนี้

             (๘)  กำแพงแบ่งพื้นที่ส่วนหน้ากับพื้นที่ส่วนกลาง มีช่องประตูทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางสองช่องซ้ายขวาของกำแพง

     พื้นที่ส่วนกลาง    

           พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นพื้นที่หลัก  มีขนาดกว้างใหญ่กว่าพื้นที่อีกสองส่วน  ประกอบด้วย

          (๑)   อาคารหมายเลข ๕  มีขนาด  ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐  เมตร  เป็นอาคารสองชั้นหลังใหญ่  อยู่ขนานกันกับอาคารหลังใหญ่ตรงส่วนหน้า  อาคารหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน  ชั้นล่างยกพื้นสูงมีบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง  บันไดขึ้นชั้นสองอยู่ตรงกลางห้องโถง  เจ้าของบ้านเข้ามาอาศัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐

          (๒)   สระน้ำ  อยู่ด้านหลังอาคาร เป็นสระน้ำขนาดเล็ก ขนาด  ๑๕ x ๒๐ เมตร  พื้นสระปูด้วยหินจัดเรียงเรียบสวยงาม  ลำร่องน้ำเข้าสระขุดเชื่อมกับคลองท่าเรือทิศตะวันตกของตัวบ้าน เป็นร่องน้ำตื้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าสระ  กล่าวกันว่า น้ำในลำคลองท่าเรือใสสะอาด น้ำไหลตลอดปี  ส่วนร่องน้ำไหลออกจากสระทางทิศเหนือ ขุดลึกเสมอพื้นสระเพื่อให้ตะกอนไหลออกได้สะดวก

          (๓)   ป้อมปืนรักษาการณ์ทั้งสองด้านคือด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก  ป้อมทางทิศตะวันออกจะเห็นช่องเสียบปืนใหญ่สองช่อง

         (๔)   ถัดจากสระน้ำไปทางทิศเหนือติดกำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ชั้นกลางกับชั้นหลังมีอาคารชั้นเดียวอยู่ตรงกลางขนานกับบ้านหลังใหญ่

         (๕)   มุมขวาของส่วนกลางติดกำแพงส่วนหลังมีอาคารชั้นเดียวหลังหนึ่ง

         (๖)   กำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ส่วนหลังมีช่องประตูเข้าออกสองช่องซ้ายขวา

        พื้นที่ส่วนหลัง

            พื้นที่ส่วนหลังตรงกลางกำแพงมีป้อมปืนสังเกตการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนหน้า  ตรงมุมกำแพงทั้งสองด้านมีห้องข้างละ ๑๐ ห้อง  รวมสองด้าน  ๒๐ ห้อง เช่นเดียวกับส่วนหน้า  กล่าวกันว่า พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่เก็บยุ้งฉางเสบียงอาหาร

       ส่วน พื้นที่ดินและบ้านพระยาวิชิตสงครามที่อยู่ในตัวเมืองภูเก็ตอยู่ริมคลองบาง ใหญ่ฝั่งตะวันออกบริเวณหน่วยราชการต่างๆในปัจจุบัน คือ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารออมสิน สวนสมเด็จฯ เรื่อยไปจนถึงการทาง วัดวิชิตสังฆาราม โรงเรียนพิบูลสวัสดี ศาลจังหวัด ศาลากลางจังหวัด จนติดเชิงเขาโต๊ะแซะ หน่วยราชการทั้งหมดบริเวณนี้  วกกลับมาทาง เรือนจำจังหวัด  โรงเรียนสตรีภูเก็ต วัดมงคลนิมิตร ที่ว่าการอำเภอจนติดเชิงเขารัง  ฯลฯ  ตามศักดินาหนึ่งหมื่นไร่ของท่าน  แต่ต่อมาถูกยึดเป็นของหลวงในสมัยพระยาภูเก็ต(ลำดวน) รวมทั้งบ้านที่ตำบลท่าเรือด้วย  เพื่อชดใช้การค้างชำระค่าภาษีรายปีเป็นเวลาหลายปี  สมัยก่อนบรรดาคุณหลวงคุณพระคนจีนที่ถือศักดินากี่ไร่  เล่ากันว่า ท่านใช้ไม้เท้าชี้เอาระหว่างเชิงเขานี้ไปจดเชิงเขานั้น เป็นของตนตามศักดิ์ เช่น  พันไร่ ฯลฯ

      พระยา วิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล ท่านเฉลียวฉลาดในการบริหารเมืองภูเก็ตทั้งในเชิงการจัดการราชการและในเชิง ธุรกิจ  แสดงให้เห็นว่าท่านมีบริวารและญาติมิตรที่ดี  รู้จักการทำมาหากินในเชิงราชการ การอ่อนน้อมถ่อมตน การกล้าตัดสินใจ  ท่านได้วางรากฐานการจัดการเมืองภูเก็ต ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดำเนินงานสานต่อ  แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างต่อมาทำให้พระยาภูเก็ตไม่สามารถจะบริหารงานราชการให้เป็นไปตามที่ทางการกำหนดได้  จึงทำให้ตระกูลรัตนดิลกที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง  ต้องแตกกระจายไป  เหลือแต่ความทรงจำและอนุสรณ์ของท่านเท่านั้น

บรรณานุกรม

 

การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๑

จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๐๖

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒  จุลศักราช ๑๑๗๑ – ๑๑๗๔ ล.๓  กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ  ประวัติความเป็นมาของอั้งยี่กับศาลเจ้าต่องย่องสู ภูเก็ต  ภูเก็ต : วิเศษออฟเซ็ตคอมพิว, ๒๕๔๐

พงศาวดารนามสกุลพระราชทานจากต้นฉบับเดิม  พิมพ์ในงานศพพระสุวพิทย์วิจัย ( ม.ล.สนิท สุทัศน์ )  กรุงเทพฯ : บริษัทบพิธจำกัด, ๒๕๑๓

ภูเก็จ๓๓   ภูเก็ต : กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ ๖  ๒๕ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๓

ที่ระลึก ๘๔ ปี คุณแม่จวง (ณ ถลาง) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), ๒๕๓๖

รายงานกิจการ พ.ศ. ๒๕๐๒ จังหวัดภูเก็ต  พระนคร : บริษัทการพิมพ์วีระสัมพันธ์จำกัด, ๒๕๐๓

เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ฉะบับมีรูป  พระนคร : โรงพิมพ์ลหุโทษ, ๒๔๗๔

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต  กรมศิลปากร, ๒๕๔๔

สงบ ส่งเมือง “วิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต),พระยา”  สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ (๘) : ๓๓๕๑ – ๓๓๕๒

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒  พิมพ์ในงานศพพลเรือเอก หลวงอาจณรงค์ (อิง ช่วงสุวนิช)  พระนคร : บุญส่งการพิมพ์, ๒๕๑๘

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อธิบายราชินีกุลบางช้าง  ฉบับชำระใหม่และพิมพ์ครั้งที่ ๑  พิมพ์ในงานพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี  พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๑

สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ประวัติเมืองภูเก็ต  ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  วิทยาลัยครูเพชรบุรี, (๒๕๒๐)

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  หลวงอรรถมนูญเนตยาทร ( ปกครอง ณ ถลาง )  กรุงเทพฯ : กรุงเทพการพิมพ์, ๒๕๑๗

         :  สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๒๙  กันยายน  ๒๕๕๐

Title  :  Phraya Wichitsongkram

        :  Somboon Kantakian

 Revised  :  November 16, 2008.

              :   November 21, 2008.

              :  January 09, 2009.

              :  January 16,2013

:  November 14, 2018

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.