ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร

ท้าวเทพกระษัตรี (เกิดราวปี พ.ศ. 2278 หรือ 2280 – ราวปี พ.ศ. 2336) และ ท้าวศรีสุนทร (ไม่ทราบปีเกิด)[1] นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลางเกาะภูเก็ตจากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อพ.ศ. 2328

ประวัติ

ข้อมูลต้นกำเนิดของท้าวเทพกะษัตรี (จัน) และท้าวศรีสุนทร (มุก) ได้จากพงษาวดารเมืองถลาง ระบุว่าท้าวเทพกะษัตรี (จัน) และท้าวศรีสุนทร (มุก) เป็นธิดาของจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียน มารดาคือ”นางหม่าเซี้ย”ซึ่งเป็น”แขกเมืองไทร”[2]หรือหญิงมลายู ระบุว่าหม่าเซี้ยนั้นเป็นธิดาของ”มะหุม” หรือ “มาร์ฮุม” (Marhum) หรือสุลต่านเมืองไทรบุรี หม่าเซี้ยเกิดความขัดแย้งเรื่องเงินมรดกกับน้องชายที่เมืองไทรบุรี หม่าเซี้ยมีความไม่พอใจจึงเดินทางย้ายมาอาศัยอยู่ที่เกาะภูเก็ต ได้พบกับจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียนและสมรสกัน มีบุตรธิดาจำนวนห้าคนได้แก่;[2]

  • ญ. จัน หรือคุณหญิงจัน
  • ญ. มุก หรือคุณมุก
  • ญ. หมา
  • ช. อาด
  • ช. เรือง

คุณหญิงจัน เกิดเมื่อประมาณพ.ศ. 2278 คุณมุก เกิดเมื่อประมาณพ.ศ. 2280 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น บนเกาะถลางมีชุมชนอยู่สองแห่งได้แก่ เมืองถลางบ้านตะเคียน ปกครองโดย”จอมร้าง” และเมืองถลางบ้านดอน ปกครองโดย”จอมเฒ่า” จอมร้างและจอมเฒ่าเป็นพี่น้องต่างมารดาบิดาเดียวกัน จอมเฒ่าบ้านดอนมีบุตรชื่อ “ทองพูน” เป็นลูกพี่ลูกน้องของคุณหญิงจันและคุณมุก

คุณหญิงจัน สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี หรือหม่อมภักดีภูธร หรือหมื่นศรีภักดี ซึ่งหมื่นศรีภักดีนั้น เป็นบุตรของจอมนายกองกับนางบุญเกิด คุณหญิงจันกับหมื่นศรีภักดีมีบุตรด้วยกันสองคนได้แก่

  • ธิดาชื่อ ปราง หรือแม่ปราง
  • บุตรชายชื่อว่า เทียน ต่อมาคือพระยาถลาง (เทียน) ต้นสกุล”ประทีป ณ ถลาง”

ต่อมาหมื่นศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณหญิงจันสมรสใหม่เป็นครั้งที่สองกับหลวงพิมล (ขัน) เจ้าเมืองกระบุรี และมีบุตรด้วยกันอีกห้าคนได้แก่;

  • ธิดาชื่อ ทองมา ต่อมาคือ เจ้าจอมมารดาทองในรัชกาลที่ 1
  • บุตรชายชื่อ จุ้ย
  • บุตรชายชื่อ เนียน
  • ธิดาชื่อ กิ่ม
  • ธิดาชื่อ เมือง

เมื่อจอมร้างเจ้าเมืองถลางบ้านตะเคียน บิดาของคุณหญิงจันและคุณมุกได้ถึงแก่กรรมลง นายอาดน้องชายของคุณหญิงจันและคุณมุกจึงได้เป็นเจ้าเมืองถลางคนต่อมา แต่ต่อมาพระยาถลาง (อาด) ถูกยิงเสียชีวิต[2] พระพิมล (ขัน) สามีของคุณหญิงจัน“ต้องความ”[2]จึงแยกจากคุณหญิงจัน ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง[3] ภายใต้การปกครองของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) แห่งชุมนุมนครศรีธรรมราช จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเข้าตีชุมนุมนครศรีธรรมราชได้สำเร็จ พระพิมลขันสามีของคุณหญิงจันจึงได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ในขณะที่นายทองพูน บุตรของจอมเฒ่าบ้านตอน ได้เป็นพระปลัดเมืองถลาง และนายเทียน บุตรชายของคุณหญิงจันกับสามีคนก่อน ได้ดำรงตำแหน่งเป็น”เมืองภูเก็จ”ปกครองเมืองภูเก็จท่าเรือ (บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทรในปัจจุบัน)

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาอินทรวงศามาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตกอยู่ที่เมืองปากพระ นายฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) พ่อค้าชาวอังกฤษ เดินทางมายังเกาะถลางเพื่อตั้งสถานีการค้าในพ.ศ. 2308 ฟรานซิส ไลท์ ได้หญิงลูกครึ่งถลาง-โปรตุเกสเป็นภรรยา และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระพิมลขันและคุณหญิงจัน ต่อมานายฟรานซิส ไลท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชกปิตัน หรือ “พระยาราชกปิตันเหล็ก” เมื่อสิ้นสุดยุคสมัยกรุงธนบุรีในพ.ศ. 2325 ทางกรุงเทพฯได้ส่งพระยาธรรมไตรโลกยกทัพลงมายังปากพระเพื่อปราบเจ้าพระยาอินทรวงศา เจ้าพระยาอินทรวงศาหลบหนีข้ามฝั่งจากเมืองปากพระมาเกาะถลาง เจ้าพระยาอินทรวงศาเมื่อสู้ทัพของพระยาธรรมไตรโลกไม่ได้จึงฆ่าตัวตาย

อีกสามปีต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระยาธรรมไตรโลกมีคำสั่งให้จับกุมคุณหญิงจันด้วยข้อหาบางประการ[4] (อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เจ้าพระยาอินทรวงศา[5]) ไปสอบสวนที่เมืองปากพระ เมื่อคุณหญิงจันถูกคุมตัวไปถึงเมืองปากพระ ทัพพม่านำโดยยี่หวุ่น ยกทัพจำนวน 3,000 คน มาถึงเข้าโจมตีเมืองตะกั่วป่าพอดี พม่าสามารถยึดเมืองตะกั่วป่าและเมืองปากพระได้ พระยาธรรมไตรโลกเสียชีวิตในการรบกับพม่า[2] คุณหญิงจันจึงเดินทางกลับมายังเมืองถลาง ดังปรากฏในจดหมายของคุณหญิงจันถึงนายฟรานซิส ไลท์ เมื่อพ.ศ. 2330 ว่า “…เมื่อพ่มาญกมานั้น พญาธรัมไตรยโลกให้เก้าะเอาต้อตูฃาลงไปไวณ่ปากพระ ครันพ่มาญกมาตียปากพระได้ กลับแล้นขินมาณ่บาน…[4] ในเวลานั้นพระยาถลาง (พิมลขัน) ล้มป่วยอยู่ นายฟรานซิส ไลท์ ได้แจ้งเตือนแก่คุณหญิงจันว่าพม่ากำลังยกทัพลงมาเมืองถลาง ดังปรากฏในจดหมายที่คุณหญิงจันเขียนถึงนายฟรานซิส ไลท์ เมื่อธันวาคมพ.ศ. 2328;

(ปริวรรตเป็นการสะกดแบบปัจจุบัน)

หนังสือท่านผู้หญิง มาถึงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอา หนังสือเรียนแก่พญาถลาง พญาถลางป่วยหนักอยู่ แลซึ่งว่ามาค้าขายณเมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้ว นั้นเห็นธุระของลาโตกอยู่ แต่หากว่าลาโตกมีเมตตา เอ็นดูข้าเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมากทรมานอยู่ ด้วยความเอ็นดู แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพญาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจึงข้าเจ้าจะได้ลาโตกเป็นหลักที่ยึดต่อไป…

[4]

นายฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) พ่อค้าชาวอังกฤษ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่เกาะถลางในระหว่างพ.ศ. 2308 – 2325 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตระกูลเจ้าเมืองถลาง

ในเวลานั้นพระยาถลาง (พิมลขัน) สามีของคุณหญิงจันได้ถึงแก่กรรมลงในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2328[4] เมื่อพระพิมลขันเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรมลง ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ คุณหญิงจันภรรยาหม้ายของพระพิมลขัน และคุณมุกน้องสาวของคุณหญิงจัน รวมทั้งพระปลัดถลาง (ทองพูน) หลวงเพชรภักดีฯยกกระบัตรเมืองถลาง และเมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจัน เตรียมการป้องกันเมืองถลาง และได้รับอาวุธจากฟรานซิส ไลท์ คุณหญิงจันและคุณมุกตั้งค่ายที่วัดพระนางสร้าง มีปืนใหญ่ชื่อแม่นางกลางเมือง[5] ส่วนพระยาปลัด (ทองพูน) ตั้งค่ายที่ทุ่งนางดัก มีปืนใหญ่ชื่อว่าพระพิรุณสังหาร ทัพเรือพม่ายกพลขึ้นบกที่ท่าตะเภา นำไปสู่การรบที่ถลาง พม่าตั้งค่ายที่นาโคกกับนาบ้านกลาง ฝ่ายถลางและพม่าต่อสู้กัน ฝ่ายถลางยิงปืนใหญ่ใส่พม่า การรบดำเนินไปเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน[4] จนกระทั่งฝ่ายถลางยกทัพเข้าตีพม่าแตกพ่ายไปในวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับ 13 มีนาคมพ.ศ. 2329[4] พม่าจึงถอยกลับไป

หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้ถอยไปแล้วนั้น เมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรของคุณหญิงจันได้นำใบบอกข้อราชการเรื่องศึกเมืองถลางไปกราบทูลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองสงขลา พระปลัดเมืองถลาง (ทองพูน) ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง และนายเทียนขึ้นเป็นพระยาทุกขราษฎร์เมืองถลาง หลังจากสิ้นสุดสงครามเก้าทัพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองภาคใต้มีหน้าที่ดูแล”พระราชทรัพย์”หรือดีบุก เจ้าพระยาสุรินทรราชานำท้องตรามาแต่งตั้งคุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกะษัตรี คุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ส่วนพระยาถลาง (ทองพูน) เจ้าเมืองถลางคนใหม่นั้น ได้รับพระราชทานพานทองเป็นกรณีพิเศษ จึงได้รับสมยานามว่า”พระยาถลางเจียดทอง”

นายฟรานซิส ไลท์ ย้ายออกจากเกาะถลางไปอาศัยอยู่เกาะปีนังหรือเกาะหมากในพ.ศ. 2329 ครอบครัวของคุณหญิงจันและนายฟรานซิส ไลท์ ยังคงติดต่อกันผ่านทางจดหมายหกฉบับที่เขียนระหว่างพ.ศ. 2328 ถึงพ.ศ. 2331 หลังจากสงครามเก้าทัพ คุณหญิงจันและครอบครัวประสบกับความลำบาก ดังจดหมายที่แม่ปรางธิดาของคุณหญิงจันได้เขียนถึงฟรานซิส ไลท์ ในพ.ศ. 2331 ว่า “…แลข้าพระเจ้าทุกวันนีใดความทุกยากอยูนักหนา…[4] ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาถลาง (ทองพูน) และพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจันไม่สู้ดีนัก ดังจดหมายของพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ถึงฟรานซิส ไลท์ เมื่อพ.ศ. 2330 ว่า “…ทุกวันนี ฯข้าฯกับเจาพญาถลาง ก่อวีวาดกันหาปกกตียกันใหม…” (ทุกวันนี้ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกันหาปกติกันไม่)[4] ท้าวเทพกะษัตรี (คุณหญิงจัน) ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯในพ.ศ. 2331 ท้าวเทพกะษัตรี (คุณหญิงจัน) ได้ถวายบุตรสาวคือทองมาหรือแม่ทองเป็นเจ้าจอมทอง และถวายบุตรชายคือนายเนียนเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จนกระทั่งเมื่อพระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ได้ฟ้องร้องความผิดของพระยาถลาง (ทองพูน) ต่อทางกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้พระยาถลาง (ทองพูน) ถูกเรียกตัวไปสอบสวนและถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ[2] พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) บุตรชายของคุณหญิงจัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามเจ้าเมืองถลางคนใหม่ ได้รับสมยานามว่า “พระยาถลางหืด” โดยมีนายเรือง น้องชายของท้าวเทพกะษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นพระยาปลัดเมืองถลาง[2] ต่อมาเจ้าจอมทองได้ประสูติพระธิดาคือพระองค์เจ้าอุบลในพ.ศ. 2334

ในพ.ศ. 2335 พระยาเพชรคีรีฯ (เทียน) เจ้าเมืองถลาง เขียนจดหมายถึงฟรานซิส ไลท์ ว่ามารดาของตนคือคุณหญิงจันนั้นชราและล้มป่วย ส่วนแม่ปรางนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว “…โตกทานใดเอนดูแกคุนมารดาด้วยเทีด ด้วยทุกวันนีก่แกลงกว่ากอร แลวก่ขัดสนไมสบายเหมือรแตกอร แลวแมปรางกต้ายเสียแล้ว…[4] ท้าวเทพกะษัตรี หรือคุณหญิงจัน ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2335 ด้วยอายุ 57 ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ส่วนท้าวศรีสุนทร หรือคุณมุกนั้น ไม่ปรากฏว่าถึงแก่กรรมเมื่อใด

ตระกูลสาย ย่าจัน ย่ามุก ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

ทายาทสายสกุลของคุณย่ามุก-ย่าจัน ที่สืบสายสกุล ย่าจัน – ย่ามุก ประกอบด้วย 15 สายสกุล

  1. ประทีป ณ ถลาง
  2. ณ ถลาง
  3. จินดาพล
  4. ณ ตะกั่วทุ่ง
  5. รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
  6. จันทโรจวงค์
  7. ฉวีพงค์ประทีป
  8. ศรีสมุทร
  9. ศรีสวัสดิ์
  10. ฤกษ์ถลาง
  11. เทียนถลาง
  12. เชื้อนาคา
  13. เทพสกุล
  14. อุปถัมภ์
  15. มาลกานนท์

อนุสาวรีย์

อนุสาวรีย์ของทั้งสองท่านตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 [6] จากหลักฐานสำคัญในจดหมายเหตุเมืองถลาง 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จเปิดถนนสายถลาง ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี และได้มีการตั้งชื่อตำบลในภูเก็ต 2 ตำบลตามท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร คือตำบลเทพกระษัตรี และตำบลศรีสุนทรโดยจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่านทุกปี [7] [8]

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พุทธศักราช 2510 [9]

ในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร [10]

คำจารึก ที่อนุสาวรีย์ฯ [11] โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมืองถลางปางพม่าล้อม
รอดเพราะคุณหญิงจัน
ผัวพญาผิวอาสัญ
เหลือแต่หญิงยังกู้
เริ่มรบรุกตลบต้าน
ทั้งสกัดตัดเสบียงที
พม่าอดหมดพลังหนี
กลศึกแพ้แม่ท้าว
ลุยรัณ
รับสู้
เสียก่อน ก็ดี
เกียรติไว้ ชัยเฉลิม
โจมตี
ดักด้าว
จากเกาะ กเจิงแฮ
ไม่ท้อ โถมหนอ

ข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
(จัน) (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2328
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ. 2509

อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก [12] (ประดิษฐานอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร) ได้เริ่มโครงการก่อสร้างขึ้น ในช่วงปี พศ 2553 ตั้งอยู่ ณ สนามสมรภูมิรบของวีรบรรพชนถลาง บนพื้นที่ 96 ไร่ มีการเชิญรูปปั้นของ 9 วีรชนผู้กล้าเมืองถลางมาประดิษฐานไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดี และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ตลอดจนวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร[13] ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.