จังหวัด“ภูเก็ต”หรือ“ภูเก็จ” ชื่อนั้นสำคัญไฉน?
- ธนเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
- กุมภาพันธ์ 14, 2023
- 0 ความคิดเห็น
เครื่องบินประจำมณฑลภูเก็จ หลักฐานยืนยันว่าแต่ก่อนเมืองไข่มุกอันดามันเคยใช้ชื่อ”ภูเก็จ”มาก่อน
มีใครเคยสงสัยหรือสับสนบ้างว่า ทำไมชื่อสถานที่บางแห่งถึงมีการเขียนสะกดไม่ตรงกัน อย่างเช่น บางลำภู-บางลำพู หรือสาธร-สาทร
เรื่องนี้มีคำตอบว่า มาจากการตีความในรากเหง้าของชื่อสถานที่ที่แตกต่างกัน หรือไม่ก็มาจากการเพี้ยนของคำหรือการสะกดผิดอย่างต่อเนื่องช้านานจนกลายเป็นสะกดถูกไปในที่สุด
ดังกรณีของชื่อ(ย่าน)บางลำพู เดิมใช้คำสะกดว่าบางลำภู มาช้านาน จนกระทั่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อ.สมปอง ดวงไสว(ร.ร.วัดสังเวช) ได้ค้นคว้าหารากเหง้าดั้งเดิมของชื่อบางลำพู ว่ามาจากการที่ย่านนี้ สมัยก่อนมีต้นลำพูขึ้นอยู่เยอะมาก พร้อมๆกับมีหลักฐานสำคัญยืนยัน คือ ต้นลำพูต้นสุดท้าย(ในสมัยนั้น) ซึ่งท้ายที่สุด อ.สมปอง และนักวิชาการที่ค้นคว้าในชื่อนี้ก็สามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนชื่อจาก“บางลำภู” มาเป็น “บางลำพู” จนถึงวันนี้
ป้ายบอกทางภูเก็จ สะกดแบบดั้งเดิม
ส่วนชื่อ(เขต)สาทรนั้น ก็มักมีการสับสนไม่รู้จะเขียนว่าสาทร หรือ สาธร ดี เพราะช่วงหนึ่งมีการเขียนทั้ง 2 แบบ ซึ่งตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ “สาธร” ที่เขียนผิดกันอยู่เป็น “สาทร” ตามที่มาที่ไปของชื่อเขตสาทรดั้งเดิม ที่เรียกชื่อตามบรรดาศักดิ์ของหลวงสาทรราชายุกต์ หรือเจ๊สัวยม บุตรพระยาพิศาลสมบัติบริบูรณ์(เจ๊สัวยิ้ม) ที่ได้อุทิศที่ดินของตนของให้ขุดเป็นคลองและนำดินที่ขุดคลองมาทำถนนนั้นเอง
อีกกรณีหนึ่งที่แม้จะไม่ได้มีการพูดถึงในวงกว้าง แต่ก็มีการผลักดันของนักวิชาการท้องถิ่นอยู่พอสมควร เพื่อให้ชื่อนั้นสะกดอยากถูกต้องตามรากเหง้าของท้องถิ่นตัวเอง นั่นก็คือจังหวัด “ภูเก็ต” ที่วันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งแย้งว่าน่าจะเป็น “ภูเก็จ” มากกว่า
สำหรับคำว่า“ภูเก็ต”นั้นเชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ“บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา(ข้อมูลจาก เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) และใช้ต่อเนื่องสืบต่อกันมาช้านาน ในขณะที่คำว่า“ภูเก็จ” นั้นหมายถึง“เมืองแก้ว” ตรงกับความหมายเดิมที่ชาวทมิฬเรียก มณีคราม(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ในเรื่องนี้ ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการกลับมาใช้ชื่อภูเก็จอีกครั้ง อธิบายว่า
“คำว่า “ภูเก็จ” ที่ใช้ จ.จานสะกด แปลว่าภูเขาแก้ว แผ่นดินแก้ว หรือแผ่นดินเพชร หรืออะไรก็ได้ที่เป็นอัญมณี ที่ความหมายเป็นอย่างนั้นเพราะ ภู แปลว่าภูเขาหรือแผ่นดิน ส่วน เก็จ แปลว่าแก้วหรืออัญมณี ความหมายมันแปลได้อยู่สองนัย นัยแรก หมายถึงแผ่นดินที่มีเพชร อีกความหมาย หมายถึง แผ่นดินที่มีค่า แล้วถามว่าเพชรมีจริงไหม ก็มีจริงในประเทศไทยมีเพชรอยู่ 2 จังหวัด คือเพชรที่พังงาและที่ภูเก็ต
“แต่ยุคอย่างพวกเราเราจะเห็นภูเก็ต สะกดด้วย ต.เต่าเสมอ เมื่อเห็นคำว่า ภูเก็ต ต.เต่า ก็เข้าใจว่า ภูเก็ต ต.เต่าเป็นสิ่งที่เราใช้มาตลอด จนวันหนึ่งเราไปค้นหนังสือเอกสารทุกชิ้นของภูเก็ตสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 มาใช้ภูเก็จ สะกดด้วย จ.จานทั้งสิ้น เราก็กล่าวหาคนโบราณว่าทำไมไม่มีโรงเรียนหรือไงเขียนผิดกันจัง แต่ในที่สุดเราก็ทราบว่าเขาใช้ จ.จาน สะกดมาโดยตลอด”
อ.สมหมาย เล่าต่อว่า คำว่า ภูเก็จ จ.จาน สะกด ปรากฏหลักฐานครั้งแรกเมื่อประมาณ 225 ปีก่อน น่าจะปรากฏชัดเจนในปี พ.ศ.2328 เราได้เห็นคำว่า “ภูเก็จ” ในจดหมายของท่านผู้หญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรี ที่เขียนไปถึงกัปตันฟรานซิส ไล้ท์ (พระยาราชกปิตัน) กล่าวถึงเรื่องคุณเทียน ประทีป ณ ถลาง (บุตรท้าวเทพกระษัตรี) ได้รับพระราชทานตำแหน่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง อันแปลว่า ผู้ครองเมืองภูเขาแก้ว
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆอีก เช่น พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลรายงานกิจการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็จ ครั้งเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128, หนังสือราชการเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเขียนถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ, ตราประทับของกระทรวงมหาดไทยประจำมณฑลภูเก็จ(มีจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ กะทู้), เครื่องบินประจำมณฑลภูเก็จ และภาพแผนที่ระวาง เขียนโดยกรมแผนที่ทหารก็ใช้คำว่า “ภูเก็จ” จ.จานสะกด
“เดิมคำว่า “ภูเก็จ” จ.จาน ใช้มาตลอด แต่ในช่วงเวลาประมาณต้นรัชกาลที่ 6 คำว่า “ภูเก็ต” ต.เต่าเริ่มเข้ามา ภูเก็จ จ.จาน ซึ่งแปลว่าแผ่นดินแก้วแผ่นดินอัญมณี ก็หายไปกลายเป็นภูเก็ต ต.เต่า โดยไม่ทราบสาเหตุ เพียงแต่เราสมมติฐานกันเอาไว้ว่าน่าจะมาจากการที่เราไปเขียนติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษก่อนว่า Phuket เมื่อเขียนไปแบบนั้นเมื่อต้องการสื่อสารกันในประเทศไทยเราไปแปลผิดกลายเป็น ตัว ต.เต่า ก็เลยใช้ตัว ภูเก็ต ต.เต่าสะกดมาโดยตลอด
“ผู้รู้ที่สามารถในภาษามาลายู ติดต่อกับมาลายูได้ เขาก็ได้ศึกษาภาษาซึ่งกันและกัน ในภาษามาลายูเขาใช้คำว่า “บูเก๊ะ”(หรือที่รู้จักกันดีว่าบูกิ๊ต) แปลว่า ภูเขา เมื่อแปลว่าภูเขา เลยเข้าใจว่าบูเก๊ะ กับคำว่า ภูเก็ต คือคำเดียวกัน เราจึงแปลคำว่าภูเก็ตแปลว่าภูเขาเฉยๆ กลายเป็นว่าเมื่อเรารู้ว่า ภูเก็จ ตัวเดิมที่ใช้ จ.จานสะกด เราถือว่าวันนี้เราใช้ภาษามาลายู ภูเก็ต เลยเป็นอาณานิคมทางภาษาให้มาลายูมาเกือบ 100 ปี ในการเสียเอกราชทางภาษาให้มาลายู เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงมันไม่ชัดเจนไม่ได้มีการประกาศไว้ เพียงแต่ค่อยๆเปลี่ยนไป
“จนปัจจุบันราชการใช้คำว่า “ภูเก็ต” ต.เต่าสะกดหมด ดังนั้นผู้ที่ศึกษาเรื่องพวกนี้จึงมีโอกาสได้เห็นเท่านั้น ถ้านักเรียนเขียน “ภูเก็จ” ด้วยตัว จ.จานสะกด เพราะไปเห็นของจริงที่เขียนไว้ด้วย จ.จานสะกด มาส่งคุณครู ก็ต้องถูกเรียกมาตีมือเพราะในปัจจุบันถือว่าเขียนผิด” ผศ.สมหมายเล่าแบบหยิกแกมหยอก
หลังจากมีการค้นคว้าหาหลักฐานเรื่องชื่อ ภูเก็จ-ภูเก็ต เรื่อยมา ในปัจจุบันจึงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความประสงค์จะอนุรักษ์ชื่อจังหวัด “ภูเก็จ” ดั่งเดิมไว้ โดยเสนอว่าการกลับไปใช้ “ภูเก็จ” ที่มีอักษร จ. สะกด เป็นการนำอดีตมาเชิดชู รำลึกถึงมรดกตกทอดที่บรรพชนสร้างไว้ให้ดีแล้วนั้นสืบต่อไป ทั้งยังเป็นคำที่มีความหมายอันประเสริฐ และเป็นความหมายที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองนี้ยิ่งกว่าคำ “ภูเก็ต” ที่มีอักษร ต.สะกด หลายประการ
นอกจากนี้ยังมีการนำเอาคำว่า “ภูเก็จ” ที่ใช้ จ.จานสะกดมาเพ้นท์ลงบนเสื้อยืดเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต และมีการนำมาตั้งเป็นชื่อร้านอาหารด้วย เช่น “ร้านภูเก็จโภชนา” หนึ่งในร้านอาหารขึ้นชื่อของภูเก็ตที่ขายอาหารจำพวกขนมจีบ ติ่มซำ ซาลาเปา กาแฟ บั๊กกุ๊ดเต๋
โดย ชาญยุทธ์ ปาเวียง ผู้ดูแลร้านภูเก็จโภชนา เล่าว่า “ก่อนจะตั้งร้านทางหุ้นส่วนของร้านอยากจะทำร้านอาหารที่มันย้อนยุค ทุกอย่างในร้านรวมถึงชื่อร้านมีที่มาที่ไป ด้วยความที่ต้องการทำร้านแบบย้อนยุคและมีกลิ่นอายเก่าๆของเมืองภูเก็ต เมื่อค้นข้อมูลของภูเก็ตทั้งทางอินเตอร์เน็ตและทางผู้รู้ก็ได้รู้มาว่า แต่ก่อนสมัย รัชกาลที่ 5 เรียกภูเก็ตว่ามณฑลภูเก็จ สะกดด้วย จ.จาน แต่แล้วเมื่ออารยธรรมตะวันตกเข้ามาจึงมีการเพี้ยนทางสำนวนเขียนและสำเนียงการพูด สะกดเพี้ยนมาเป็นตัว T เมื่อภาษาอังกฤษสะกดตัว T จึงแปลเพี้ยนมาเป็นตัว ต.เต่า”
ภูเก็จ จ.จานนี้เขามีความหมายอยู่ในตัวคือแปลว่าเกาะแก้ว จึงเลือกที่จะตั้งชื่อร้านเป็น “ภูเก็จโภชนา” โดยใช้ “ภูเก็จ” จ.จานสะกด เพื่อให้เข้ากับแนวทางของร้าน
ชาญยุทธ์ เล่าอีกว่า “เมื่อลูกค้ามาที่ร้านก็มีถามถึงชื่อร้านตลอดที่ใช้ภูเก็จ จ.จานสะกด ทางร้านก็ชี้แจงในเบื้องต้นให้ฟัง ลูกค้าเขาก็เข้าใจ มีคุณครูพาเด็กนักเรียนอนุบาล-ประถมมา เราก็ให้ความรู้เข้าไป ซึ่งเยาวชนรุ่นใหม่รู้กันน้อยว่าแต่ก่อนชื่อจังหวัดภูเก็ต เคยสะกดชื่อภูเก็จด้วยจ.จาน”
“แต่ถ้าจะถามว่าควรใช้ชื่อไหน ผมก็เกิดมาในยุคที่ใช้ภูเก็ต ต.เต่าสะกดแล้ว ก็ต้องบอกว่าภาษาไทยตอนนี้ก็คงต้องใช้ตัวภูเก็ต ต.เต่าสะกดตามที่ทางการใช้ต่อไป” ชาญยุทธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องชื่อของจังหวัด“ภูเก็ต”หรือ“ภูเก็จ”นั้นสำคัญไฉน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่หากทางภาครัฐใส่ใจให้ความสำคัญ ทำการสืบค้นถึงรากเหง้ากันอย่างจริงจัง มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกันอย่างกว้างขวาง และเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง บางทีประเทศไทยอาจได้ชื่อที่ถูกต้องแท้จริงตรงตามรากเหง้าของเมืองไข่มุกแห่งอันดามันนี้ก็เป็นได้
ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9520000120890