พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ลำดวน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ลำดวน   รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  ระหว่าง  พ.ศ. ๒๔๑๘ – ๒๔๓๓ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองทุ่งคา หรือ อำเภอเมืองภูเก็ตให้เจริญก้าวหน้ากว่าหัวเมืองอื่นๆ ในสมัยนั้น

       พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์  หรือ  นาย ลำดวน   รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นบุตรชายคนโตของ พระยาวิชิตสงคราม (ทัด รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) มารดา คือ คุณหญิง เปี่ยม ธิดาพระยาถลาง ( ทับ จันทโรจวงศ์ )   พระยาภูเก็ตลำดวนมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๕ คน  และที่มีชื่อเสียง ๓  คน  คือ คุณหญิง รื่น ในเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คนที่สอง คือ พระยาภูเก็ตลำดวน คนที่สาม คือ คุณหญิง เลื่อม ในพระยามนตรีสุริยวงศ์            (ชื่น บุนนาค)  พระยาภูเก็ตถือกำเนิดปีใดไม่ปรากฏแต่จากหนังสือ “คำนำ”  ในเรื่อง “พงษาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธแลคำแปล” พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นข้าหลวงออกไปตรวจการเมืองภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้ขอคุณ เลื่อม ให้บุตรชาย คือ นาย ชื่น บุนนาค แต่ขณะนั้น คุณ เลื่อมยังเด็กอยู่ คงจะอายุประมาณ ๑๒ – ๑๓ ขวบ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๐๖ คงอายุประมาณ ๑๕ – ๑๖ ปี จึงนำเข้าไปแต่งงานกับ นาย ชื่นที่กรุงเทพฯ นาย ลำดวนเป็นพี่ชายของคุณเลื่อมจึงน่าจะอายุ ๑๕ – ๑๖ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๐๐  ดังนั้น นายลำดวนน่าจะถือกำเนิดประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๕ – ๒๓๘๖

       ในวัยเด็กถึงวัยรุ่น  บิดาได้จ้างครูมาสอนวิชาการเขียนอ่านภาษาไทย  การคิดเลข  จ้างซินแสจีนมาสอนภาษาจีนฮกเกี้ยน จ้างผู้ที่พูดภาษามาเลย์มาสอนภาษามาเลย์ และ ภาษาอังกฤษ  จนมีความรู้แตกฉาน  เพื่อเตรียมตัวรับราชการและรับภาระบ้านเมืองแทนบิดาต่อไป  ในระยะแรกจึงต้องเรียนรู้ระบบงานเก็บภาษีดีบุกที่บิดาทำอยู่  จึงต้องเป็นเสมียนฝึกหัดในสำนักงานราชการ  ซึ่งอยู่ภายในบริเวณบ้านของบิดาตั้งแต่วัยรุ่นหนุ่ม

       ชีวิตครอบครัวของนายลำดวนมีข้อมูลน้อยมาก  เมื่อถึงวัยมีครอบครัว  บิดาได้สู่ขอคุณพุม ณ ตะกั่วทุ่ง  ธิดาพระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดี (อ่อน  ณ ตะกั่วทุ่ง)  ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่งให้เป็นภรรยา  มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ นายยาม  พระยาภูเก็ตลำดวนมีอนุภรรยาหลายคน  คนหนึ่งคือคุณโหมด  ส่วนบุตรชายคนหนึ่งชื่อ  นายตาด  ไม่ทราบนามมารดา  นายตาดมีภรรยาชื่อ สาหร่าย  บุตรธิดาคนอื่น ๆ ของพระยาภูเก็ตลำดวนไม่ทราบนาม

       เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง  คงจะได้รับบรรดาศักดิ์ขั้นหลวง  ให้เป็นผู้ช่วยราชการพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระอาณาจักรบริบาล (ลำดวน) ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒  เมื่อบิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  พระยาวิชิตสงคราม(ทัด) จางวาง  โดยให้เป็นผู้ช่วยราชการอากรดีบุกเมืองภูเก็ต

       ฝ่ายพระยาวิชิตสงคราม  สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม  ดวงตาเริ่มมองไม่เห็น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖  เป็นต้นมา  แต่ก็ต้องปฏิบัติงานในฐานะผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๘  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอาณาจักรบริบาล (ลำดวน)  บุตรชาย เป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต ดังข้อความว่า

       “ให้พระอาณาจักรบริบาล  ผู้ช่วยราชการอากรดีบุกเมืองภูเก็ต เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์  ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  ให้ถือศักดินา  ๓๐๐๐  จงช่วยพระยาวิชิตสงครามรามฤทธิเดชโลหเกษตรารักษพิทักษรัษฐสีมามารตยานุชิต  พิพิธภักดีพิริยพาห   บังคับบัญชาผู้ใหญ่ในเมืองนั้น  แต่ที่เป็นยุติธรรมแลได้บังคับบัญชา  ปลัด  ยกระบัตร  กรมการ  แลราษฎรทั้งราชการ  พระราชทานตั้งแต่วันจันทร  เดือนแปด  ขึ้นสามค่ำ  ปีกุนสัปตศก  ศักราช  ๑๒๓๗  เป็นวันที่  ๒๔๒๘  ในรัชกาลปัตยุบันนี้ฯ”

       พระยาภูเก็ตลำดวน  จึงมีหน้าที่รับผิดชอบเมืองภูเก็ตในฐานะผู้ว่าราชการอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้น  ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดกรณีอั้งยี่ขึ้น

       ฝ่ายทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเจ้ามื่นเสมอใจราช (ชื่น  บุนนาค)  มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง  พร้อมทั้งเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก  ผู้รักษาผลประโยชน์ให้แก่ทางราชการต่างพระเนตรพระกรรณอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย  จึงไปมาระหว่างเมืองตรังกับเมืองภูเก็ต  เพื่อตรวจราชการและเยี่ยมพ่อตา คือ  พระยาวิชิตสงคราม ที่ป่วยอยู่

       ฝ่าย  ตันกิมเจ๋ง  ตามประวัติกล่าวว่า  รัชกาลที่ ๔  ทรงเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  โปรดฯให้ไปเรียนที่สิงคโปร์  จนเติบใหญ่จนเป็นชาวสิงคโปร์ด้วยถือร่มธงอังกฤษ คือเป็นคนในบังคับอังกฤษ  ทรงตั้งให้เป็น  พระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี  กงสุลสยามที่สิงคโปร์  ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖  ทรงโปรดฯและไว้วางพระราชหฤทัยมาก  พระพิเทศพานิชทำมาค้าขายตั้งห้างที่สิงคโปร์  มะละกา  และปีนัง ด้วยการเป็นพ่อค้าอาวุธ ฝิ่น และสินค้าอื่นๆด้วยการตั้งผู้แทนของตนไปประจำตามเมืองต่างๆรวมทั้งทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองลารุต เขามีบทบาทในทางการเมืองในมาเลย์ เพื่อหวังผลตอบแทนด้วยการเข้าไปเจรจาการสืบราชสมบัติของเปรัก และสนับสนุนสุลต่านอับดุลลาห์ โดยแลกกับสิทธิการผูกขาดภาษีในบริเวณเมืองลารุต เป็นเวลา ๑๐ ปี และยังได้รับส่วนแบ่ง ๕ ส่วนใน ๑๑ ส่วนของสุลต่านอีกด้วย เขายังเป็นหัวหน้าอั้งยี่พรรคไห่ซานที่เมืองสิงคโปร์  เมื่อเห็นลู่ทางเพิ่มรายได้จากการทำเหมืองจึงเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖  โปรดฯ ให้ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี พร้อมกับการทำเหมืองแร่ที่นั่นด้วยการตั้งตัวแทนมาดำเนินการ ส่วนตำแหน่งเจ้าเมืองก็ให้ผู้ช่วยราชการเมืองทำไป ตัวเขาอยู่ที่สิงคโปร์  ต่อมาได้เป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา  ในปี พ.ศ.  ๒๔๑๑   จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕  พระองค์ทรงโปรดฯ มากทรงตั้งให้เป็นผู้สืบราชการลับ ทั้งฝ่ายต่างประเทศคืออังกฤษ ฝรั่งเศสและประเทศต่างๆ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของอั้งยี่และทำงานราชการที่เมืองภูเก็ตด้วย เป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการเก็บภาษีต่างๆ

        ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕  พระยาอัษฎงคต  คิดจะประมูลภาษีอากรดีบุกแข่งกับพระยาวิชิตสงคราม (ทัด)  จึงทำเรื่องยื่นเรื่องราวต่อกระทรวงกลาโหม  ผู้บังคับหัวเมืองปักษ์ใต้คือ  เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร  บุนนาค)  ว่า  พระยาวิชิตสงคราม จางวางผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  เก็บภาษีอากรได้เงินเอาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเสียเป็นอันมาก  คงส่งเงินหลวงแต่ปีละ ๑๗๓๖๐ บาท พระยาอัษฎงคต  ขอรับผูกขาดเก็บเงินภาษีอากรเมืองภูเก็ต  จะประมูลเงินขึ้นปีละ ๒๐๒,๖๔๐ บาท รวมเป็นปีละ  ๓๒๐,๐๐๐ บาท  ตามความละเอียดรวม ๖ ข้อ  และสัญญา ๑๐ ข้อ

       ต่อมาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕  ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ทางรัฐบาลจะต้องเลือกเอาว่าจะให้คนในบังคับอังกฤษทำ หรือให้ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตทำ  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชาภาพ  ทรงเห็นว่าทางที่ดีที่สุดให้เจ้าเมืองทำไปอย่างเดิม  แต่ให้ขึ้นเงินส่งคลังเท่ากับที่พระยาอัษฎงคตเสนอประมูลแข่ง  ขณะนั้น  พระยาวิชิตสงคราม อยู่ที่กรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  ดำรัสให้พระยาวิชิตสงคราม รับประมูลเงินหลวงให้มากกว่า พระยาอัษฎงคต ๒๐๐ ชั่ง  เป็นปีละ ๔๒๐๐ ชั่ง

       ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖  พระยาวิชิตสงครามจึงยื่นเรื่องราวขอประมูลภาษีอากรที่เมืองระนอง  เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  เมืองพังงา  ตามอย่างพระยาอัษฎงคตประมูลที่เมืองภูเก็ตบ้าง  จึงทำให้ผู้ว่าราชการเมืองดังกล่าวจำต้องขึ้นเงินประมูล  ทำให้รายได้ภาษีมากกว่าเดิมหลายเท่า

       ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๑๘  พระยาอัษฏงคต ยื่นเรื่องขอประมูลที่เมืองภูเก็ตอีก  โดยจะขึ้นเงินให้ปีละ ๑๐๐๐ ชั่ง เป็น ๕๒๐๐ ชั่ง แต่ก็ไม่ได้รับการประมูล  เพราะพระยาภูเก็ตลำดวนได้ขึ้นเงินไปเท่าราคาประมูลของพระยาอัษฎงคต

       ข้างพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์  (ลำดวน)  จึงทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ  เมื่อ          พ.ศ. ๒๔๒๔  ดังนี้

       “ข้าพระพุทธเจ้า  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ  ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตมีใบบอกให้  พระยศภักดี  ยกกระบัตร  หลวงวิชิตภักดี  หลวงพิทักษสมบัตร  กรมการถือเข้ามาฉบับหนึ่งว่า  มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ออกไปว่า  พระยาอัษฎงคตทิศรักษาสยามประชานุกูลกิจ  ยื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  ภาษีเมืองภูเก็ต  ประโยชน์มีมาก  ดีบุกขั้นราคา  พระยาอัษฎงคตทิศรักษา  ขอพระราชทานรักษาภาษี ๕ อย่าง  เมืองภูเก็ต  มิให้เงินหลวงบกพร่องทูลเกล้า ฯ ถวายปีละ ๖๕๐๐ ชั่ง  ภาษีนอกจาก ๕ อย่างกับค่าตีตราดีบุก  จะเก็บใช้ราชการในเมืองภูเก็ตถ้าเงินเหลือขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวาย  ทรงพระราชดำริเห็นว่า         

พระยาอัษฎงคตทิศรักษา  มาว่ากล่าวผลประโยชน์เมืองภูเก็ตขึ้นดังนี้เป็นทางราชการ  ให้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ  ตริตรองดู  เห็นการจะบวกภาษี ๕ อย่างสิ่งไรขึ้นเท่าใด  ให้มีใบบอกเป็นคำขาดจะได้ปฤกษาท่านเสนาบดี  แล้วจะมีท้องตราบังคับออกไปต่อครั้งหลังนั้น  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ  ได้ทราบทุกประการแล้ว  ซึ่งพระยาอัษฎงคตทิศรักษา  ทำเรื่องราวยื่นให้กราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอบอกประมูลเงินภาษี ๕ อย่างเมืองภูเก็ตขึ้น  ภาษีอื่น ๆ นอกจากภาษี ๕ อย่าง  จะขอเก็บรายนอกอีกนั้น  เป็นการเหลือกำลังบ้านเมือง  เมื่อ ณ ปีเถาะ นพศก ๑๒๒๙ ร.๔  พวกจีนยี่ห้อหินกับจีนปุญเถ้าก๋งเกิดวิวาทสู้รบกันขึ้นในเมือง  เงินภาษีอากรซึ่งพวกจีนรับผูกไปทำ แลทุนรอนที่พระยาวิชิตสงครามจางวางทดรองไปนั้นก็ยับเยินไปครั้งหนึ่ง  ครั้นเรียบร้อยกันแล้ว  พระยาวิชิตสงครามจางวาง ได้ทดรองทุนให้พวกจีนทำเหมืองแร่ดีบุก  แต่งตึงโรงร้านถลุงแร่ดีบุกที่ยับเยินขึ้นเป็นอันมาก  บ้านเมืองเจริญมาได้ 4 จำนวน  ณ ปีวอกจัดวาศก ๑๒๓๔  พระยาอัษฎงคตทิศรักษา  ประมูลเงินภาษีขึ้น ๔๐๐๐ ชั่ง  พระยาวิชิตสงครามจางวางบวกประมูลขึ้นจากพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ๒๐๐ ชั่ง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตสงครามจางวางทำทูลเกล้าฯ ๔๒๐๐ ชั่ง  ตั้งแต่ปีระกาเบญจศก  ๑๒๓๕  เวลานั้นดีบุกขึ้นราคา  กำลังบ้านเมืองก็บริบูรณ์  จึงได้ส่งเงินภาษีของหลวงครบจำนวนปี ณ ปีจอฉศก  พระยาอัษฎงคตทิศรักษาประมูลเงินภาษีขึ้นอีก ๘๐๐๐ ชั่ง  ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า             พระยาอัษฎงคตทิศรักษา  ประมูลเงินภาษีขึ้นถึง ๘๐๐๐ ชั่ง  เกินกำลังบ้านเมืองไป  พระยาวิชิตสงครามจางวางเป็นผู้รับสร้างบ้านเมืองเจริญขึ้น  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตสงครามจางวางรับทำทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๖๐๐๐ ชั่ง  เวลานั้นดีบุกตกต่ำราคาลง  พระยาวิชิตสงครามจางวางเห็นว่าทุนรอนทดรองให้พวกจีนลูกค้านายเหมืองมาก  จะไม่รับทำภาษีอากร  ทุนรอนที่ทดรองไปนั้นจะสูญเสีย  จึงต้องรับทำภาษีทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๖๐๐๐ ชั่ง  แต่ปีกุนสัปตศก  จ.ศ. ๑๒๓๗  มาหามีกำไรไม่ขาดทุนมาทุกจำนวนปี  พระยาวิชิตสงครามจางวางต้องออกเงินทุนส่งแทนเงินภาษีเข้ามาทุกจำนวน  ทุนรอนที่ทดรองไปนั้น  ก็เก็บไม่ขึ้นจนสิ้นทุนรอนลง  เงินภาษีอากรจึงได้ค้างทับงวดปีมา  ครั้นพระยาวิชิตสงครามจางวางถึงแก่อสัญกรรม  เงินทุนในบ้านเมืองหามีไม่  ยังมีอยู่แต่ที่ติดค้างจีนลูกค้าที่เมืองเกาะหมาก  เมืองสิงคโปร์  บ้างเล็กน้อย  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ จะรับทำภาษีอากรไปตามเดิม  ภาษีอากรขาดทุนมาก  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ  จึงมีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานทำภาษีอากรทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๔๓๐๐ ชั่ง  จึงโปรดเกล้าฯ ลดเงินภาษีอากรให้  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษรับทำทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๔๓๐๐ ชั่ง ณ ปีมะโรงโทศก ๑๒๔๒ ดีบุกขึ้นราคา  ภาษีอากรมีกำไรบ้าง  แต่ต้องจ่ายราชการลงทุนทดรอง  จีนลูกค้านายเหมืองติดค้างไปมาก  ภาษีรับไปทำเรียกเร่งได้น้อยหาเต็มจำนวนไม่  ภาษีมีกำไรก็พอทดรองการภาษีอากรแต่ทุนรอนซึ่งพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษทดรองไปนั้น  ถ้าพวกจีนนายเหมืองได้ทำการพร้อมมูลกัน ทุนรอนที่ทดรองไปคงจะเกิดผลประโยชน์ขึ้นบ้าง  บัดนี้บ้านเมืองกำลังร่วงโรย  ดีบุกลงราคา  ผู้คนซึ่งทำเหมืองแร่ดีบุกรื้อถอนไป  ยังหากลับเข้ามาทำมาหากินเต็มภาคภูมิอย่างแต่ก่อนไม่  บัดนี้พระยาอัษฎงคตทิศรักษามาว่ากล่าวประมูลเงินภาษีอากรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสูงขึ้นเหมือนเมื่อคราวบ้านเมืองเจริญอยู่นั้นเหลือกำลัง  ซึ่งพระยาอัษฎงทิศรักษาประมูลเงินภาษีอากรขึ้นนั้น  ภาษีอากรเมืองภูเก็ตจำนวนปีมะเส็งตรีศก ๑๒๔๓  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษได้รับทำมาครึ่งปีแล้ว  จะขอรับพระราชทานทำทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๔๓๐๐ ชั่ง  ไปตามเดิมจนสิ้นจำนวนปี  ต่อปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ  จะขอรับพระราชทานประมูลเงินภาษีทูลเกล้าฯ ถวายขึ้น ๔๐๐ ชั่ง  รวมกับเงินเดิมเป็นเงินปีละ ๔๗๐๐ ชั่ง  เงินค่าตีตราดีบุกแลภาษีอื่น ๆ นั้นอยู่ในภาษีปีละ ๔๗๐๐ ชั่ง เหมือนอย่างพระยาวิชิตสงครามจางวางทำปีละ ๖๐๐๐ ชั่ง  มาแต่ก่อน  ซึ่งพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษขอรับทำภาษีอากรเข้ามาทั้งนี้  เมื่อเห็นว่าเงินภาษียังตกต่ำอยู่ จะให้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษบวกเงินภาษีขึ้นเพียงไรต่ำกว่า ๖๐๐๐ ชั่ง ลงมาแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษจะรับทูลเกล้าฯ ถวายทั้งสิ้น  แต่ภาษีดีบุกซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพิกัด ๗ ส่วน  ชักส่วนหนึ่ง  เป็นการทรงพระมหากรุณาให้กับจีนลูกค้านายเหมือง คราวดีบุกลงราคา  เข้าแพงมาแต่จำนวนปีขาลสัมฤทธิศก 1240     พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษได้รับเก็บภาษีดีบุก ตามพิกัดท้องตราให้กับจีนลูกค้านายเหมืองมาถึง ๓ จำนวน  บัดนี้ดีบุกขึ้นราคามาจำนวนหนึ่งต่อปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษขอรับพระราชทานท้องตราเปลี่ยนพิกัดภาษีดีบุก ๖ ส่วน  ชักส่วนหนึ่งตามพิกัดเดิมเก็บมาแต่ก่อน  เมื่อพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษจะขอรับพระราชทานทำภาษีอากรเมืองภูเก็ตทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นเป็นภาษีคอเวอนแมนต์  ถ้าโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษทำภาษีอากรเมืองภูเก็ตเป็นของคอเวอนแมนต์แล้ว  เงินภาษีเก็บได้เท่าไร  จ่ายเงินเดือนทหารโปลิศรักษาเมืองแลจ่ายราชการในเมือง  เงินภาษีคอเวอนแมนต์คงอยู่เท่าไร  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษจะรับส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายทั้งสิ้น

                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

                                         บอกมา ณ วันอาทิตย์แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗   ปีมเสง ตรีศก  (๑๒๔๓)

       สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวว่า  “ปัญหาที่เกิดขึ้นคราวนี้ยากกว่าคราวก่อน  ด้วยจะเรียกพระยาวิชิตสงครามมาว่ากล่าวให้รับประมูลขึ้นไปอีกก็ขัดอยู่  เพราะการที่เจ้าเมืองรับขึ้นเงินภาษีอากรเป็นอันมากเมื่อปีวอกจัตวาศกนั้น  มิใช่ว่าเป็นแต่จะไปแบ่งโอนเงินกำไรของตนมาส่งหลวง  แท้จริงกำไรที่เจ้าเมืองได้อยู่แต่ก่อน ยังต่ำกว่าจำนวนเงินหลวงที่รับประมูลขึ้นไปเสียอีก  ความคิดของเจ้าเมืองที่กล้ารับขึ้นเงินหลวงครั้งนั้น  ด้วยตั้งใจจะไปกู้ยืมหาเงินมาลงทุนรอน เรียกจีนกุลีเข้ามาทำเหมืองให้มากให้เกิดผลประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน  หมายจะเอากำไรที่จะได้มากขึ้นมาส่งเป็นเงินหลวงเป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกเมือง  การที่จัดทำลงทุนรอนไปเป็นธรรมดาจำต้องมีเวลากว่าจะได้ทุนกลับคืนมา  ก็ถ้าให้ประมูลกันร่ำไป  หรือถ้าผู้อื่นแย่งภาษีไปได้ในเวลายังไม่ได้ทุนคืน  เจ้าเมืองที่รับทำภาษีอากรอยู่ก็จะต้องฉิบหาย  รัฐบาลแลเห็นอยู่เช่นนี้  แต่จะไม่รับเรื่องราวของพระยาอัษฎงค์ฯ พิจารณา  กฎหมายการทำภาษีอากรในเวลานั้นก็ยังยอมให้ว่าประมูลอยู่  จึงเป็นความลำบากแก่รัฐบาลที่จะบัญชาลงเป็นประการใด  สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงทูลขอให้พระยามนตรีสุริยวงศ์  แต่เมื่อยังเป็น  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  และเป็นองคมนตรี  เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปตรวจการภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ต  เพราะพระยามนตรีเกี่ยวดองกับพระยาวิชิตสงคราม  ประสงค์จะให้ไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาวิชิตสงครามให้รับประมูลพระยาอัษฎงค์ ฯ อย่างคราวก่อน  พระยามนตรี ฯ ไปจัดการได้สำเร็จ  พระยาวิชิตสงคราม  ยอมประมูลขึ้นเงินสูงกว่าพระยาอัษฎงค์ ฯ ๘๐๐ ชั่ง  รวมเป็นปีละ ๖๐๐๐ ชั่ง  รัฐบาลจึงได้จัดการแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ตให้พ้นจากเรื่องประมูลแย่งกันแต่นั้นมา…….”

       สมุหพระกะลาโหมจึงทำข้อสรุปรวม ๑๑ ข้อ  กราบบังคมทูลเพื่อทรงพิจารณาวินิจฉัย  รัชกาลที่ ๕  ทรงตอบข้อเสนอทั้ง 11 ข้อ  อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์นำไปดำเนินการจากพระราชหัตถเลขา  เมื่อวันพฤหัสบดี  แรม ๑๕ ค่ำ  เดือน ๑๐ ปีมะเมียจัตวาศก  จ.ศ. ๑๒๔๔  พ.ศ. ๒๔๒๕  สรุปได้ว่า  ให้ส่งเงินภาษีล่วงหน้าสองเดือน  ให้เจ้าเมืองทำภาษีไปตามเดิม  หากเดือนหนึ่งส่งภาษีไม่ทัน  เรื่องอื่นที่ยากกว่าที่ไหนจะแก้ได้  เมื่อมีท้องตราไปให้เก็บภาษีก็ต้องปฏิบัติตามนั้น  จะเอาท้องตราไปจำนำมอบให้คนอื่นไม่ได้  ท้องตราเก็บภาษีไม่ใช่เป็นมรดกตกทอดไปชั่วลูกหลาน  หากส่งไม่ครบตามท้องตราก็สามารถไล่ผู้เก็บภาษีออกไปเสียตั้งคนใหม่มาเก็บ  การเก็บภาษีมิได้เป็นการเอาเงินไปลงทุนแต่อย่างไร  เมื่อคนทำเหมืองได้กำไรเสียภาษี ๖ ชัก ๑ หรือ ๗ ชัก ๑ แล้วแต่ตกลง  คนลงทุนทำเหมืองเมื่อเห็นว่ากำไรจึงทำ  หากคิดว่าขาดทุนคงไม่ทำ  การเอาเงินไปให้กู้เพื่อลงทุนทำเหมืองจึงไม่เกี่ยวกับการเก็บภาษี  ถึงให้คนใหม่ไปทำก็เพียงแต่เก็บภาษีดีบุกที่คนทำเหมืองลงทุนเท่านั้น  คนเก็บภาษีจึงไม่ต้องไปลงทุนทำเหมืองหรือให้กู้แต่อย่างใด  ถ้าหากให้คนใหม่ไปทำ  เมื่อคนใหม่ได้รับท้องตราแต่เดือนใดก็ให้นับเดือนนั้นที่จะต้องเก็บภาษีส่งหลวง  ส่วนเดือนเก่าที่ยังไม่ได้เก็บภาษีก็คงให้คนเก่าเก็บจนถึงเดือนสุดท้าย

       ข้อที่ว่าพระยาอัษฎงคตประมูลครั้งที่หนึ่ง ได้ ๔๒๐๐ ชั่ง  ครั้งที่สองเป็น ๖๐๐๐ ชั่ง  ครันข้าวของแพงขึ้นแต่ราคาดีบุกลดลง  ก็ยอมให้ลดภาษีลง ๔๓๐๐ ชั่ง  เป็นพยานว่า พระยาภูเก็ตไม่รักษาราชการโดยจริง  จนต้องมีสิ่งบังคับบีบคั้น จึงต้องขึ้นเงินภาษีเป็นความเสียของพระยาภูเก็ตอย่างหนึ่ง

       ในช่วงเวลาที่ดีบุกขึ้นราคา  พระยาภูเก็ตก็ไม่ประมูลเงินภาษีขึ้นราคา  จนพระยาอัษฎงคตมาคุ้ยเขี่ยขึ้น  หาไม่ก็จะนิ่งไว้เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวเป็นสามครา เป็นความเสียของพระยาภูเก็ต

       คนที่คิดจะลงทุนทำเหมือง คงเห็นจะได้กำไรเข้าตัวเองอยู่แล้ว  คงไม่คิดอิจฉาภาษีที่ขึ้นราคาสูงขึ้น  ซึ่งไม่เกี่ยวกับการลงทุนของคนทำเหมืองหลายๆ คน  หากให้คนต่างชาติเข้ามาทำเหมือง  เขาต้องเสียค่าเช่าที่ดิน  ค่าภาษีตามพิกัด  การขัดขวางไม่ให้คนต่างประเทศทำจึงไม่มีประโยชน์  หากให้คนต่างประเทศทำคงจะมีประโยชน์มากกว่าการทำงานหยาบๆอยู่  เจ้าเมืองกรมการคงรู้ดีว่า  ถ้าหลุดมือไปถึงคนต่างประเทศแล้วจะไม่ได้กลับคืน  จะไม่มีอะไรทำกินอีกต่อไป  คงลืมไปว่าทุนรอบที่ทำเหมืองของแต่ละเมืองก็เป็นเงินหลวง  เหตุใดจึงคิดว่าเป็นเงินทุนของตนฝ่ายเดียว  การที่พระยาอัษฎงคตทำเรื่องราวประมูลภาษีสูงขึ้น  หากไม่ทำตามในการเก็บภาษีที่สูงขึ้น  คนทั่วไปก็จะว่าเอาได้  ข้อเสียจึงตกอยู่กับทางเมืองหลวง

       พระองค์ทรงเห็นว่า  ภาษีอากรเมืองใดเมื่อเก็บได้ให้ทำนุบำรุงเมืองนั้นก่อน  เหลืออยู่แล้วจึงเอาไปทำนุบำรุงเมืองอื่น  ทรงเห็นว่าให้พระยาภูเก็ต  ผู้ว่าราชการเมืองกรมการทำเป็นภาษีคอนเวอนแมนต์  เก็บได้มากน้อยเท่าใดใช้จ่ายโสหุ้ย  แลใช้การทำนุบำรุงบ้านเมืองเสร็จแล้ว  เหลือเท่าใดให้ส่งเข้ามาให้ราชการแผ่นดินในกรุงเทพฯ ตามแต่กำหนดให้ยื่นบัญชีปีละกี่ครั้ง  ดังนี้ที่ล่วงมาแล้วเอาตามอย่างเดิม  เมื่อท้องตราพระคชสีห์ถึงเมืองภูเก็ต  ให้จัดการใหม่ต่อไป  จะไม่เป็นการเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

       ดังได้กล่าวแล้วว่า  รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ พระยาอัษฎงคตมาก  ทรงมีจดหมายไปถึงต่อเนื่องกันเท่าที่  ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม   ค้นคว้ามาจำนวน ๔๐ ฉบับ  เพียง พ.ศ. ๒๔๒๔  ทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษ  มีหน้าที่สืบการค้าขายและการภาษีอากรในหัวเมืองตะวันตก  ด้วยอิทธิพลและวิธีการแบบหัวการค้าขายของเขาจึงทำให้ภาษีอากรดีบุกทุกเมืองขึ้นเงินเป็นจำนวนมาก  เขาคงเห็นว่าที่เปิดประมูลแข่งขัน กับพระยาวิชิตสงครามคงจะไม่ได้  แต่จะทำให้ภาษีเข้าหลวงเป็นจำนวนมากดังข้อคิดเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงไว้  นากจากนี้รัชกาลที่ ๕ ยังทรงมีจดหมายลับไปถึงหลายฉบับ  เพราะทรงคิดว่าพระยาอัษฎงคตเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ถึงแม้จะอยู่ภายใต้ร่มธงอังกฤษที่สิงคโปร์  ทรงรักใคร่และลงท้ายจดหมายว่า  “ Your Sincere Friend” บางข้อความว่า “…ขอให้ท่านทราบว่า  เราเป็นที่วางใจในตัวท่านมากจริงๆ …”  ดังนั้น  พระยาอัษฎงคตจึงได้รายงานความเคลื่อนไหวเป็นการลับทางการเมือง  การค้า  จากประเทศต่างๆ มายังสยาม  รวมทั้งการที่ฝรั่งบรรทุกดินปืนไปขายตามหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกที่กลันตัน  ตรังกานู พระยาอัษดงคตยังเคยส่งอาวุธดังข้อความในพระราชหัตถเลขาว่า “…กับว่าได้ส่งปืนสนัยเด้อมา ๔๙๙ บอก กับปัศตัน ๑๔๖๐๐๐ นั้น ในขณะที่เราก็ยังไม่สู้ต้องการนัก ที่จะเก็บไว้ก็เปนการลำบากอยู่ แต่ท่านได้ส่งมาแล้ว เราก็จะรับไว้ ราคานั้นเดิมเท่าไร ขอให้บอกมาที่พระองค์สายๆจะเปนผู้เบิกเงินให้” หนังสือปีพ.ศ. ๒๔๒๐  ต่อมา พระยาอัษฎงคตทิศรักษาได้เป็นพระยาอนุกูลสยามกิจ  กงสุลใหญ่ที่สิงคโปร์  พ.ศ. ๒๔๒๘

       เมื่อท้องตราพระคชสีห์ไปถึงเมืองภูเก็ต ว่าด้วยการเก็บภาษีอากรดีบุกแบบใหม่  คือให้รัฐบาลเป็นผู้เก็บภาษีแต่ยังคงมอบให้พระยาภูเก็ตเก็บแทนรัฐบาล  ส่วนภาษีค้างของเก่าก็ต้องให้พระยาภูเก็ตเก็บมาส่งหลวงให้ครบตามที่ได้มีการประมูลไว้  ภายหลังเมื่อเห็นว่าพระยาภูเก็ตจัดเก็บไม่ครบตามจำนวนเงินค้างมาก  ทางเมืองหลวงจึงกำหนดให้การเก็บภาษีอากรเป็น ๒ ประเภท  คือ  กลุ่มที่มีรายได้สูง  ทางราชการผูกขาดเองซึ่งมีภาษีอากรดีบุก  อากรฝิ่น  อากรสุกร  ส่วนที่เหลือให้ชาวจีนผูกขาด  แต่เมื่อเห็นว่า  รายได้ใดมีกำไรสูงทางราชการก็จะเอามาทำเสียเอง  การทำเองหมายถึงต้องจ้างคนอื่นที่มีความรู้เชี่ยวชาญมาจัดดำเนินการ  แล้วรัฐบาลจะเรียกร้องเอากี่เปอร์เซ็นต์  เช่น  การเก็บภาษีอากรดีบุก  การต้มยาฝิ่น  การตีตรายาฝิ่น เป็นต้น  ทั้งนี้มีกรมการไทยเป็นหัวหน้าควบคุมอีกชั้นหนึ่ง

       กรณีอั้งยี่  ๒๔๑๙

       ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ (ประวัติความเป็นมาของอั้งยี่กับศาลเจ้าต่องย่องสู ภูเก็ต,๒๕๔๐,หน้า ๕๐)  เขียนไว้ว่า “…กะลาสีประจำเรือสยามมกุฎไชยชิตได้ขึ้นจากเรือมาซื้อของในตลาด  แล้วเกิดวิวาทกับพวกปุ้นเก๋าก้ง  อีกกลุ่มหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าระงับเหตุการณ์และจับพวกอั้งยี่ไปคุมขัง ๒ คน  พอถึง ๒ ทุ่มเศษ  พวกปุ้นเก๋าก้ง ๓๐๐ กว่าคนได้คุมกันมาจะเข้าแย่งชิงตัวอั้งยี่ที่ถูกจับ  ทางด้านพระยาวิชิตสงครามเมื่อเห็นพวกปุ้นเก๋าก้งยกกำลังมาหลายร้อยคนเกิดความเกรงกลัวจึงปล่อยอั้งยี่ ๒ คนนั้นออกจากที่คุมขัง   หลังจากนั้นไม่นาน (ประมาณสามทุ่มเศษ)  พวกปุ้นเก๋าก้งในตัวเมือง ๑๐๐๐ กว่าคน (เลขตัวหน้าดำสนิทดูไม่ชัด) แต่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐ คน ได้ออกปล้นทรัพย์สิน  จุดไฟเผาบ้านเรือนของกรรมการและราษฎรไปมากมายถึง ๑๐๐ กว่าหลัง จนพวกชาวบ้านเกิดความเกรงกลัว  พากันหลบหนีภัยไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า  ฝ่ายอั้งยี่ที่อยู่นอกเมือง  เมื่อเห็นแสงไฟในตัวเมืองสว่างขึ้น  แม้จะไม่ถึงเวลานัดก็รีบออกปฏิบัติการทันที  ทางด้านพระยาวิชิตสงครามและพระยาภูเก็ต (ลำดวน)  เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  แทนที่จะรีบเกณฑ์ไพร่พลออกปราบปราม กลับทิ้งหนีเอาตัวรอด  พระยาวิชิตสงครามหนีไปอยู่ที่เขาโต๊ะแซะ  ส่วนพระยาภูเก็ต (ลำดวน) หลบไปซ่อนตัวอยู่ที่เกาปันหยี  แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  ข้าหลวงเมืองภูเก็ตเลยต้องรับผิดชอบ  ระงับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพียงคนเดียว…”  อีกพวกหนึ่งทราบข่าวว่า  พระยาวิชิตสงคราม หนีไปหลบซ่อนอยู่ที่สวนบางงั่วของพระยาวิชิตสงคราม  เมื่อไม่พบตัวจึงทำลายข้าวของในบ้านแล้วกลับมาก่อความวุ่นวายในเมือง  ฝ่ายหัวหน้าปุนเถ่ากงได้เกลี้ยกล่อมจนความวุ่นวายเบาบางลงในคืนนั้น  รุ่งเช้าเจ้าหมื่นเสมอใจราชจึงให้คนไปรับพระยาวิชิตสงคราม และครอบครัวของเจ้าหมื่นเสมอใจราชกลับบ้าน เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตกข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ ขุนนางหัวเมืองผู้ใดจะกล้าขัดคำสั่ง

       จากข้อเขียนของไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ขาดข้อความบางประการไปคือ  ในขณะนั้น  พระยาวิชิตสงครามป่วยด้วยโรคเรื้อรังและดวงตามืดบอด  เจ้าหมื่นเสมอใจราชผู้เป็นบุตรเขยจึงให้คนพาภรรยาคือ  คุณหญิงเลื่อมและบุตรธิดาพร้อมด้วยพระยาวิชิตสงครามหลบพวกก่อความวุ่นวายไปก่อน ถ้าหากตั้งป้อมยิงต่อสู้กัน ความผิดก็จะอยู่ที่ฝ่ายราชการ ที่ไม่ประนีประนอม ไม่สลายกลุ่มผู้บ้าคลั่งด้วยวิธีสันติ ผู้ใหญ่ทั้งสองจึงต้องหลบหน้าหนีพวกบ้าคลั่งไปก่อน

       แต่ในความเป็นจริงอีกประการหนึ่งคือพระยาภูเก็ต (ลำดวน) กับ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) ได้เกิดแตกคอกัน   คงจะเป็นอำนาจและผลประโยชน์ขัดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังจดหมายลายพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕  ที่ทรงมีไปถึงพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง)  เมื่อวันพุธ  แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลูนพศก จ.ศ. ๑๒๓๙ พ.ศ. ๒๔๒๐ ว่า  “…แลการที่เมืองภูเก็ตนั้น  คอเวอนแมนต์เราได้รู้แล้วว่าพระยาภูเก็ตไม่ชอบกับคอมมิศชันเนอร์  แต่หมายใจว่า พระนายไวย คงจะมีอำนาจจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยได้”         ใจความนี้  หมายถึง  พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ (ลำดวน)  ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  ส่วนคอมมิศชันเนอร์นั้น  คือ  เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น  บุนนาค)  พระนายไวย คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย  บุนนาค)  ที่คุมทหารไประงับเหตุการณ์ที่เมืองภูเก็ต

การประมูลภาษีอากรดีบุก

       พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง)  กงสุลสยาม ณ สิงคโปร์ และเป็นที่ปรึกษาด้านการค้าและการภาษีอากรของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก  คงจะได้ปรึกษาหาวิธีการขึ้นภาษีอากรดีบุกตามหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกด้วยวิธีการประมูลแข่งขันกับพระยาวิชิตสงคราม  โดยตั้งวงเงินประมูลให้สูงขึ้น  ทำให้คู่แข่งซึ่งจำเป็นต้องหาเงินมาหมุนเวียนการให้นายเหมืองกู้ยืมก็ต้องตั้งวงเงินให้สูงกว่าจึงจะได้ ไชยยุทธ  ปิ่นประดับได้สรุปไว้ว่า            พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง)  เสนอภาษีผูกขาดสูงขึ้น  ทำให้หัวเมืองต่างๆ ต้องขูดรีดภาษีต่าง ๆ จากกรรมกรจีน  ข้อดีคือทำให้ประเทศชาติได้ภาษีเพิ่มขึ้น   ข้อเสียคือทำให้กรมการเมืองต่างๆ ขูดรีดภาษีจากกรรมกรจีน  ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทฟ้องร้องและเกิดกรณีอั้งยี่ขึ้น

       ฝ่ายพระยาภูเก็ต (ลำดวน)  ตั้งแต่เปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่แล้ว  ภาษีงวดเก่าก็ยังค้างอยู่  ภาษีงวดใหม่ก็เก็บไม่เป็นไปตามเป้า  พระยาภูเก็ตยังถูกตั้งข้อหาหลายกระทง  เช่น  จีนตันสำบกเจ้าภาษีพื้นเมืองภูเก็ต  ประมูลภาษีปีละ ๘๐๐ เหรียญ  แต่พระยาภูเก็ตเขียนรายงานส่งเพียง ๖๐๐ เหรียญ  ขุนศรีสมบัติเป็นโจทก์ฟ้องพระยาภูเก็ต ข้อหามีส่วนรู้เห็นการขนฝิ่นเถื่อนเข้าเมืองภูเก็ต  จีนตันตอกฟ้องว่าพระยาภูเก็ตลงโทษตนไม่สมเหตุผล  แต่คำฟ้องทั้งหมดเมื่อสืบสวนแล้วผลเป็นประการใดไม่แจ้ง  นอกจากนี้คนจีนที่เข้ามาประมูลภาษีเมื่อขาดทุน หรือไม่พอใจรัฐบาลก็หนีไปอยู่ใต้ร่มธงอังกฤษ

       ภายหลังจากการจัดเก็บภาษี ที่แบ่งเป็นสองประเภทแล้ว  คือ ประเภทแรกเจ้าเมืองยังคงเก็บภาษีบางส่วนเหมือนเดิม แต่อีกส่วนทางเมืองหลวง ให้เจ้าเมืองเป็นตัวแทนเก็บภาษีส่งกรุงเทพฯ ให้ผู้รักษาเมืองเป็นเจ้าภาษีจัดเก็บให้เมืองหลวง แล้วชักผลประโยชน์ตามข้อตกลง แต่ระบบการจัดการเก็บไม่เป็นไปตามที่คิด จึงปรากฏว่าในแต่ละเมืองต่างส่งภาษีไม่ครบตามเป้า ตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๒๘ – ๒๔๓๓ หัวเมืองเหล่านั้นต่างค้างเงินกันเป็นจำนวนมาก คือ เมืองภูเก็ต ๕๗๗๓๖ บาท ระนอง ๔๕๒๔๔ บาท ตะกั่วทุ่ง ๖๔๗๙๕ บาท กระบี่ ๙๐๗ บาท ตะกั่วป่า ๖๙๖๓๘ บาท ตรัง ๙๔๕๖๐ บาท พังงา ๓๒๔๘๑ บาท คีรีรัฐนิคม ๔๕๗๑ บาท ถลาง ๑๐๖๔๖ บาท  รวม ๙ เมือง เป็นเงิน ๗๒๙๑๑๗ บาท

ด้วยเหตุนี้ในปีพ.ศ. ๒๔๓๔ ทางเมืองหลวงจึงส่ง พระยาทิพโกษา ( หมาโต โชติกเสถียร ) ผู้ชำนาญด้านภาษีมาเป็นผู้กำกับข้าหลวงใหญ่หัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้ง ๙ เมือง

        ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ได้สรุปการทำงานของพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน)  ไว้ว่า (เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๖)  “…จะเห็นได้ว่าพระยาภูเก็ต (ลำดวน) มีความผิดทางราชการอย่างร้ายแรง…”  แต่ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  มิได้อ้างอิงว่าศาลยุติธรรมใดได้พิจารณาตัดสินไว้  หรือทำให้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน)  ต้องถูกปลดตำแหน่งเจ้าเมืองและถอดถอนบรรดาศักดิ์  แต่เท่าที่ทราบท่านก็ยังคงดำรงบรรดาศักดิ์ และเจ้าเมืองภูเก็ตจนถึงแก่กรรม  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ในปีขาล

        ในปีพ.ศ. ๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองภูเก็ต จากพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “…และว่าด้วยเรื่องมรดกพระยาภูเก็ต เงินหลวงค้างให้คิดพูดเสีย และอยู่จนป่านนี้ และบอกเรื่องนายตาดลูกพระยาภูเก็ตจะไปฟ้องมรดก พี่ป้าน้าอาพาหนีไปปีนัง ดูเชื่อถือกันว่าเป็นสัปเยกอังกฤษ…” 

       มีกรมการจีนไทยเข้าเฝ้า “…นอกนั้นก็เปนนอนคอมมิศชัน หลวงอินมนตรีคน๑ เปนเสมียนออฟฟิศคอเวอนเมนต์มาช้านาน กับนายตาดลูกพระยาภูเก็ต…” อีกตอนหนึ่งว่า   “…นายตาดถวายตัว…” ซึ่งน่าจะหมายถึงนายตาดเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

       เสด็จไปที่ทำการของรัฐบาลซึ่งได้จัดให้เป็นที่ประทับ มีท้องพระโรง สระน้ำสำหรับลงสรง โรงทหารมหาดเล็ก เรือนนายทหารตามเสด็จ ทั้งหมดอยู่ภายในบริเวณบ้านเดิมของพระยาวิชิตสงคราม และพระยาภูเก็ตลำดวน

        “…บ้านพระยาวิชิตสงครามเปนอย่างหลังคาเจ๊กแกมไทย เช่น สงขลา บ้านพระยาภูเก็ตค่อนอยู่ข้างฝรั่งอยู่ ข้างวังขึ้นดูบนหลังสูงเห็น แต่เขาว่าชำรุดทรุดโทรมมาก วังที่ทำดูน่าอยู่กว่าแต่ก่อน แต่วางซุกซิกอยู่ข้างเปนอย่างบ้านจีน ยิ่งบ้านตัวแกเองแล้ว เกือบจะว่าได้อย่างโบราณว่า ไก่บินไม่ตก จะไปดูก็ไม่มีเวลาพอ แลศพพระยาภูเก็ตก็ยังอยู่ที่บ้าน…”    แสดงว่าพระยาภูเก็ตถึงแก่กรรมก่อนเสด็จถึงเมืองภูเก็ต คือก่อนวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๓ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๑ – ๒ สัปดาห์

       อีกตอนหนึ่งว่า “…แต่บ้านพระยาวิชิตสงครามและบ้านพระยาภูเก็ตซึ่งอยู่ติดกับที่นั้นชำรุดทรุดโทรมมากทั้งสองแห่ง…”  แสดงให้เห็นว่า บั้นปลายชีวิตของพระยาภูเก็ตลำดวนที่มีหนี้สินค้างหลวง จนไม่สามารถจะปรับปรุงบ้านของตนเองและของบิดาได้ จนต้องปล่อยให้โทรมดังพระราชดำรัส ทั้งนี้เพราะพิษสงของการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ ที่ทางราชการไม่ได้อธิบายการจัดการให้ถูกต้อง เพราะไม่มีผู้รู้เรื่องละเอียดพอ พระยาภูเก็ต จึงถูกตั้งข้อหาจากสังคมนักเขียนและหน่วยราชการว่า นำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่ายเกี่ยวกับส่วนตัว ไม่มีความรอบรู้เรื่องการจัดเก็บภาษีและไม่มีความฉลาดเฉลียวเหมือนบิดา

        อย่างไรก็ตาม พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ลำดวน ก็ยังเป็นคนหนึ่งในสมัยแรกๆ ที่ได้ร่วมพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญก้าวหน้า

          :   สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

Title    :   Praya Phuketlohakasettrarug ( Lamduan )

          :   Somboon Kantakian

                

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.