พระรัตนดิลก ( เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

พระรัตนดิลก หรือ นายเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ท่านเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองทุ่งคา หรือ เมืองภูเก็ตในปัจจุบัน  และท่านเป็นผู้ขอนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๙ และได้รับพระราชทานว่า “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”

        นายเดช เป็นบุตรคนที่ ๗ ของ พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )  พระภูเก็ตแก้วเป็นบุตรของพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม พระยาถลาง นามเดิมว่า เจิม  นายเดช ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอก วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๑ ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ มารดาชื่อ นางพรมเนื่ยว นายเดชมีพี่น้องต่างมารดา ตามลำดับเท่าที่ทราบคือ พี่ชายคนโตพระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) พี่ชายคนที่ ๒ นายบุตร ( บุศย์ ) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต พี่ชายคนที่ ๓ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) พี่ชายคนที่ ๔ หลวงราชรองเมือง ( คง รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  ) คนที่ ๕ ไม่ทราบชื่อ คนที่ ๖ นายร้อยโทเจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และคนที่ ๗ คือนายเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

        ชีวิตครอบครัวของพระรัตนดิลก  ท่านมีภรรยา ๓ คน คือ นางแพ นางนอง และนางจับ ณ ตะกั่วทุ่ง นางแพมีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ นายพุ่ม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นางสาวหมูถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก นายพวง รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ส่วนนางนองมีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ นางสาวหมา นางสาวปุก ทั้งสองคนถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์ นายแดง ส่วนนางจับไม่มีบุตรด้วยกัน

        ในสมัยเยาว์วัยได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทย  ภาษามาเลย์ ภาษาจีน  การใช้ลูกคิด การคำนวณ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารและการค้าขาย ตลอดจนการจัดเก็บภาษีต่างๆ เมื่อพระภูเก็ตแก้วถึงแก่กรรม นายทัตได้เป็นพระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เจ้าแขวงแทนบิดา ในช่วงนี้นายเดชได้เข้ารับราชการและทำงานกับพี่ชาย

        ในปีพ.ศ. ๒๔๑๕ นายเดชอายุได้ ๒๔ ปี จึงขอลาบวชที่วัดกลางหรือวัดมงคลนิมิตร มีพระภิกษุด้วง เป็นพระอุปัจฌาย์  และพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี พ่อท่านแช่ม เป็น พระกรรมวาจาจารย์ ท่านบวชอยู่ได้หนึ่งพรรษา จึงลาสิกขาออกมารับราชการกับพี่ชายตามเดิม

        ฝ่ายพระยาวิชิตสงครามทัตเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ดวงตาเริ่มมืดมัว หน้าที่การงานจึงมอบให้บุตรชายคือนายลำดวน ในบรรดาศักดิ์ที่ พระอาณาจักรบริบาล เป็นผู้รับผิดชอบ

        จนถึงพ.ศ. ๒๔๑๘ ทางเมืองหลวงจึงมีท้องตรามายังพระอาณาจักรบริบาล ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ผู้รักษาราชการเมืองภูเก็ตแทนบิดา ส่วนพระยาวิชิตสงครามยังคงรักษาการ กำกับดูแลราชการในตำแหน่ง จางวางเมืองภูเก็ต จนเกิดกรณีอั้งยี่ขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ จนถึงพ.ศ. ๒๔๒๑ พระยาวิชิตกำลังป่วยหนัก ก็ถึงแก่อนิจกรรม

        ฝ่ายนายเดชคงมีบรรดาศักดิ์ระดับต้น ยังรับราชการอยู่กับหลานชาย คือพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์( ลำดวน ) โดยรับราชการในกองข้าหลวง ซึ่งมีพระอนุรักษ์โยธา ( กลิ่น ณ นคร ) เป็นหัวหน้า จนถึงพ.ศ. ๒๔๓๒ พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ลำดวน ) ถึงแก่อนิจกรรม  พระยาศรีสรราช ( หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร ) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองภูเก็ตแทน

        นายเดชได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นนายเรือลาดตระเวน ชายฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อตรวจจับฝิ่นเถื่อนจากเรือประมงเรือสินค้าบริเวณชายฝั่งเกาะภูเก็ต

        ในปีพ.ศ. ๒๔๓๔ พระยาทิพโกษา ( หมาโต โชติกเสถียร  )  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๓๗ นายเดชจึงถูกย้ายให้มารับราชการในกองโยธาอีกครั้งหนึ่ง และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพลสงคราม

        ในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับตำแหน่งเป็นนายอำเภอทุ่งคา ( อำเภอเมืองภูเก็ต )  เมื่ออายุได้  ๔๙ ปี

        ต่อมาในปีพ.ศ.  ๒๔๔๒ ได้ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดจังหวัดภูเก็ต แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวและปัญหาสุขภาพจึงขอลาออกจากราชการ

         หลวงพลสงคราม ( เดช ) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นที่ หลวงวรเทพภักดี ( เดช ) เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ศักดินา ๖๐๐ ในตำแหน่งกรมการที่ปรึกษาของจังหวัดภูเก็ต เมื่ออายุได้ ๕๒ ปี

        ภายหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงวรเทพภักดี ( เดช ) เป็นที่ รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี กรมการพิเศษมณฑลภูเก็ต

        ในสมัยนั้นได้มีการใช้นามสกุลกัน หลวงวรเทพภักดี จึงได้ทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อขอพระราชทานนามสกุล และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ว่า  “รัตนดิลก” เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “RATANATILAKA”  เป็นลำดับที่ ๒๓๒๗ ได้ประกาศเป็นครั้งที่ ๓๑ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

        คำว่า   รัตนดิลก   น่าจะทรงวินิจฉัยว่า

       หลวงวรเทพภักดี ( เดช ) บิดาชื่อ  แก้ว คือ พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์

        ปู่ ชื่อ เจิม คือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองถลาง

       คำว่า  “แก้ว”  คือ รตน  อ่านว่า ระตะนะ

       คำว่า “เจิม”   คือ ติลก   อ่านว่า  ติละกะ  แปลว่า  เจิมหน้าผาก

       รวมคำเป็น  รตน + ติลก  = รตนติลก  =  รัตนดิลก

       หมายถึง แก้วที่เจิมหรือติดไว้ที่หน้าผาก เพราะเชื้อสายของท่านเป็นเชื้อสายทมิฬชาวอินเดีย มาจากเมืองมัทราส

        ต่อมารองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี ( เดช รัตนดิลก ) ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ใช้ “ณ ภูเก็ต” ต่อท้ายนามสกุล และได้รับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

        “นามสกุล “รัตนดิลก” ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานแด่ รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี ( เดช รัตนดิลก ) กรมการพิเศษมณฑลภูเก็ตแล้วนั้น

        บัดนี้ รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี ได้ทูลเกล้าถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ความว่า วงศ์สกุลของรองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี เป็นตระกูลที่สืบเนื่องมาจากข้าราชการในมณฑลภูเก็ต ทั้งมีนิวาสถานตั้งมั่นอยู่ในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เดิมมาช้านาน กาลบัดนี้ ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต เพิ่มนาม “ ณ ภูเก็ต” ต่อท้ายนามสกุล “รัตนดิลก” เป็น “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” และขอพระราชทานพระราชานุญาต ให้หลานชาย ๓  คน คือ อำมาตย์ตรี หลวงประสานสรรพเหตุ ( เอี้ยว รัตนดิลก ) ผู้พิพากษาจังหวัดสตูล๑ รองอำมาตย์โท ขุนเขตขันธ์ภักดี ( แนบ รัตนดิลก ) นายอำเภอจังหวัดสตูล๑ รองอำมาตย์ตรี ขุนนิเทศทาวันการ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ) ผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้มณฑลภูเก็ต๑ ใช้นามสกุล “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ด้วยนั้น

        ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม “ ณ ภูเก็ต” ต่อท้ายนามสกุล “รัตนดิลก”  เป็น “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”แล้ว ตั้งแต่วันที่ประกาศนี้เป็นต้นไป

        ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙”  โดยลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ แผนกราชกิจจา หน้า ๘๓๑ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๕๙

          คำว่า “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” เชียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “RATANATILAKA NA PHUKET” คำภาษาทมิฬว่า “ர்ஆத்ஆந்ஆத்இழ்ஆக்ஆ  ந்ஆ ப்உக்எத் “

        ในปีพ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต หลวงวรเทพภักดี ( เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ได้มาจัดการรับเสด็จฉลองพระเดชพระคุณตามกำลังของตน ทรงพระราชดำหริเห็นว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ในสกุลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต และได้รับราชการมีบำเหน็จความชอบมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดกเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้น เป็นที่ “พระรัตนดิลก” ในตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ต ถือศักดินา ๘๐๐

        พระรัตนดิลก ( เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ถึงแก่กรรมเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ รวมอายุได้  ๗๒ ปี

        พระรัตนดิลก จึงเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาอำเภอทุ่งคาหรืออำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ “พระ” เป็น พระรัตนดิลก ( เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

               :      สมบูรณ์ แก่นตะเคียน    ๙  พฤศจิกายน   ๒๕๕๓

 rev. 24/01/2015

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.