นามสกุลพระราชทาน    

ในพระราชบัญญัติขนานนามสกุล  ปีพุทธศักราช ๒๔๕๖  ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนถึงการที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือ เกล้าฯ  ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า  “….ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะมีบัญญัติวิธีจดฐะเบียรคนเกิด  คนตาย  และ  ทำงานสมรส  ให้เปนการมั่นคงชัดเจนสืบไป  แลวิธีจดฐะเบียรอันนี้ย่อมอาศรัยสอบสวนตำหนิรูปพรรณสัณฐานบุทคนแลเทือกเถา เหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด  ให้ได้ความแม่นยำก่อนจึงจะทำได้  เพื่อจะให้เป็นผลสำเร็จดังพระราชประสงค์นี้ทรงพระราชดำริห์ว่าบุทคนทุกๆคนจำ ต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล  แลวิธีขนานนามสกุลนั้น  ควรให้ใช้แพร่ลายทั่วถึงประชาชนพลเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักร  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้…”

 

พระราชบัญญัติ  ดังกล่าวนี้  ได้ประกาศ  ณ  วันที่  ๒๒  มีนาคม  ๒๔๕๕  และได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๒๙  หน้า ๒๘๓ – ๒๘๘  ลงวันที่  ๓๐  มีนาคม  ๒๔๕๕  โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  ๑  กรกฎาคม  ๒๔๕๖  และได้เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปอีก ๒ คราว  เป็นวันที่  ๑  เมษายน  ๒๔๕๗  และบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่  ๑  เมษายน  ๒๔๕๘

 

ในพระราชบัญญัติขนานนามสกุล  พระพุทธศักราช   ๒๔๕๖  ได้ระบุไว้ว่า

–  ชื่อของคนไทยทุกคน  ต้องประกอบด้วย  ชื่อตัวและชื่อสกุล

– ชื่อตัวเป็นชื่ออันได้ให้แก่เด็กมาแต่เกิด

– ชื่อสกุลเป็นชื่อประจำวงศ์สกุลซึ่งสืบมาแต่บิดาถึงบุตร

-หญิงที่ได้ทำการสมรสมีสามีแล้วให้ใช้ชื่อสกุลของสามีหรือคงใช้ชื่อตัวและ ชื่อสกุลเดิมของตนได้

– เมื่อบิดาของบุคคลใดไม่ปรากฏอยู่ชั่วกาลใด  บุคคลนั้นต้องใช้ชื่อสกุลฝ่ายมารดาชั่วกาลนั้น

– ห้ามมิให้บุคคลใดเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุลของตน  หรือของบุตร  หลาน  เหลน  ผู้สืบเชื้อสายตน  เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากเสนาบดีเจ้ากระทรวงผู้บังคับราชการท้องที่อำเภอ ทั้งในกรุงและหัวเมือง

– ภายในกำหนด  ๖  เดือน  นับตั้งแต่วันได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป  ให้บรรดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวทุกๆครัวเรือนเลือกสรรถือเอาชื่อสกุลอัน หนึ่งแล้วให้จดทะเบียนชื่อสกุลนั้น  ณ  สำนักที่ว่าการอำเภอท้องที่

– หัวหน้าครอบครัวนี้ท่านประสงค์ว่าต้องเป็นบรรพบุรุษคนหนึ่งซึ่งยังมีชีวิต อยู่เป็นผู้ใหญ่มีอายุสูงในครอบครัว

– ถ้าครอบครัวใดมีชื่อสกุลใช้อยู่แล้วท่านให้เอาชื่อสกุลนั้นจดทะเบียน

– ถ้าครอบครัวใดยังไม่มีชื่อสกุลใช้  ให้หัวหน้าครอบครัวนั้นเลือกหาชื่อใดชื่อหนึ่งตามสมควร  เว้นแต่ว่าชื่อนั้นๆ  ต้องไม่พ้องกับพระนาม  พระราชวงศานุวงศ์  ผู้ทรงอิสริยยศ  ฐานันดร  ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป  อย่าให้เป็นชื่อที่มุ่งหมายคล้ายคลึงกับราชทินนาม  อันเป็นตำแหน่งยศ  บรรดาศักดิ์  อย่าให้เป็นชื่อที่หยาบคายไม่สมควร  อย่าให้เป็นชื่อที่เขียนเกินกว่าสิบตัวอักษร  อย่าให้เป็นชื่อซ้ำเหมือนกับชื่อสกุล  ซึ่งได้ใช้อยู่แล้ว  ขณะวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้  หรือซ้ำกับชื่อซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วในแขวงอำเภอท้องที่เดียวกัน  หรือในแขวงอำเภอท้องที่ติดต่อกัน

– ให้เสนาบดีผู้เป็นเจ้ากระทรวงบังคับราชการท้องที่อำเภอทั้งในกรุงและหัว เมือง  มีหน้าที่คิดชื่อสกุลและพิมพ์ลงเป็นบานจำหน่ายให้แก่นายอำเภอท้องที่ทุก ตำบล  เพื่อเป็นเค้าให้ราษฎรผู้ต้องการได้เลือกเอาชื่อนั้นๆ

– ในหนังสือแบบทะเบียนนั้นให้ลงชื่อนายอำเภอผู้จดหมาย  และให้ทำสำเนาคู่มือมอบให้แก่หัวหน้าครอบครัวฉบับหนึ่ง

– การจดทะเบียนนี้อย่าให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียม

– ถ้าหัวหน้าครอบครัวมีตั้งแต่  ๒  คนขึ้นไป  เป็นพี่น้องร่วมบิดาที่ล่วงลับไปแล้วย่อมจะเลือกชื่อสกุลอย่างเดียวกันก็ได้

– ชื่อสกุลอันหัวหน้าครอบครัวได้เลือกแล้วนั้น  ท่านให้ใช้เป็นชื่อสกุลของบุตรและธิดาด้วย  ของหลานเหลนและผู้สืบสายโลหิตแต่ฝ่ายบุตรชายหลานชายนั้นๆต่อเป็นลำดับลงไป ด้วย

– ถ้าหญิงใดหาญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษยังมีชีวิตอยู่มิได้  ก็ให้ถือเอาชื่อสกุลของชายผู้เป็นญาติสนิทสืบสายโลหิตตน  หรือแม้ว่าญาติชายสนิทก็ไม่มี  ให้ถือเอาชื่อสกุลอย่างเดียวกับผู้ชายที่เป็นญาติห่างถัดไปนั้น

– เมื่อพ้นกำหนด  ๖  เดือน  นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายแล้ว  ห้ามมิให้เรียกขาน  ขีดเขียน  ชื่อบุคคลใดๆในหนังสือราชการ  นอกจากใช้ออกชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคล  ถ้าเป็นการพ้นวิสัยให้เจ้าพนักงานผู้มีกิจทำหนังสือเอกสารนั้นสอบสวนสำเนา ทะเบียนซึ่งนายอำเภอได้มอบให้  หรือตรวจดูค้นทะเบียนแล้วให้ออกขานชื่อสกุลให้ถูกต้องตามนั้น

 

– ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวง  ซึ่งได้บังคับราชการท้องที่อำเภอทั้งในกรุงและหัวเมือง  มีหน้าที่รักษาพระราชบัญญัตินี้  และมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อวางระเบียบการให้ดำเนินไปโดยสะดวก  เมื่อกฎข้อบังคับนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต  และได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้

นามสกุลพระราชทาน    สกุลแรก  ได้แก่

๑. สุขุม                 พระราชทานแก่  เจ้าพระยายมราช  (ปั้น   สุขุม)  เสนาบดีกระทรวงนครบาล

                                ๒. มาลากุล          พระ ราชทาน  พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์  (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี)  เสนาบดีกระทรวงธรรมการ  กับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิการณาธิบดี)  เสนาบดีกระทรวงวัง

                                ๓. พึ่งบุญ             พระ ราชทานพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น เจ้าพระยารามราฆพ )  จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม

                                ๔.   มหาไชย    พระราชทาน  พระยาเทพทวาราวดี  (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์  เป็น  พระบาบำเรอบริรักษ์)  อธิบดีกรมมหาดเล็ก

                                ๕. ไกรฤกษ์          พระราชทาน  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  อธิบดีกรมชาวที่  และพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ต่อมา  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  เจ้าพระยามหิธร)  กรรมการศาลฎีกา

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรง ตระหนักถึงความสำคัญของนามสกุล ซึ่งทรงมีพระราชดำรินี้ มาตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงครองราชฯ ดังเช่นพระราชนิพนธ์ “ฉายาหรือชื่อแซ่” ในวารสารทวีปัญญา พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการมีนามสกุลในฝั่งยุโรป และความสำคัญของการใช้นามสกุล พระองค์ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลโดยทรงพิจารณาจากบรรพบุรุษผู้เป็นต้น สกุล  ตัวอย่างเช่น  นามสกุล  “บุณย์รัตพันธุ์”  ใช้ตามนามของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ( บุญรอด ) ผู้เป็นบรรพบุรุษที่มีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร  เป็นผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและจงรักภักดี  เป็นตัวอย่างอันดีแก่บุตรหลาน

 

 

บางนามสกุลนั้นก็พระราชทานตามอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล  ตัวอย่างเช่น

สกุลพ่อค้า  จะมีคำว่า  วณิช  หรือ  วาณิช  และ  เวส  ประกอบในนามสกุล  เช่น  กมุทวณิช,  กัณหเวส,  คุปตะวาณิช,  กฤษณวณิช

สกุลชาวสวน  จะมีคำว่า  ผล  หรือ  ผลิน  ประกอบในนามสกุล  เช่น  ผลพันธิน,  ผลาชีวะ,  มณฑลผลิน

สกุลชาวนา   จะมีคำว่า  กสิกร  เกษตริน  หรือ  ศาลิ  ประกอบในนามสกุล  เช่น  โพธิกสิกร, รัตกสิกร, สนธิเกษตริน,

ศาลิคุปต์

สกุลทหารบก  จะมีคำว่า  โยธิน  ประกอบในนามสกุล  เช่น  พหลโยธิน,  พินธุโยธิน,  อุตตมะโยธิน

สกุลทหารเรือ  จะมีคำว่า  นาวิน  หรือ  กลิน  ประกอบในนามสกุล  เช่น  กนกนาวิน,  วิเศษนาวิน,  กฤษณกลิน,

บุญยรัตกลิน

สกุลทหารอากาศ  จะมีคำว่า  อากาศ  หรือ  นภา  ประกอบในนามสกุล  เช่น  รณนภากาศ

สกุลช่างสิบหมู่  จะมีคำว่า  ศิลปิน  ประกอบในนามสกุล  เช่น  เกียรติศิลปิน,  เตมียศิลปิน

สกุลแพทย์  จะมีคำว่า เวช  ไวทยะ  หรือ  แพทย์  ประกอบในนามสกุล  เช่น  โกมลเวช,  สุนทรเวช,  วีระไวทยะ,

ไวทยะชีวิน,  เวชชาชีวะ,  มิลินทแพทย์

สกุลพราหมณ์  จะมีคำว่า  พราหมณ  ประกอบในนามสกุล  เช่น  จุลละพราหมณ์,  พราหมณายน,  วินทุพราหมณกุล

สกุลโหรหลวง  จะมีคำว่า  โชติ  ประกอบในนามสกุล  เช่น  เศษโชติ,  สุนทรโชติ

                                สกุลนักดนตรี   จะมีคำว่า  วาทิน  ประกอบในนามสกุล  เช่น  กมลวาทิน,  สุนทรวาทิน

 

นามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ  อาทิ

เศียนเสวี   พระ ราชทาน  พระอักษรสมบูรณ  ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี )   เสมียนตรากระทรวงวัง  และนายพันตรีในกองทัพบก  บิดาเป็นชาวเยอรมนี  นามสกุลเดิมว่า  Falck  แปลว่า  เหยี่ยว ถ้าแปลเป็นภาษาสันสกฤตว่า  เศ์ยน  แผลงเป็นภาษาไทยว่า  “เศียน”

เศวตศิลา  พระ ราชทาน  พระวันพฤกษ์พิจารณ ( ทองคำ )  ปลัดกรมป่าไม้  กับ  พระกรุงศรีบริรักษ์ ( ทองย้อย )  ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย  เป็นบุตรนาย  เฮนรี่  อาลบาสเตอร์  ( แปลนามสกุลเป็น  หินขาว )

สุมิตร  พระราชทาน  นายอี   สเปนซ์  สมิต  ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ  ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นคนไทย

เตชะวณิช  พระราชทาน  พระอนุวัตร์ราชนิยม  ( ฮง )  สังกัดกรมมหาดเล็ก  แซ่แต้

คุณะดิลก  พระราชทาน  พระยาอรรถการประสิทธิ์  ( วิลเลียม  แอลเฟรด  ดีเลกี  William Alfred Tilleke )  อธิบดีกรมอัยการ  กระทรวงยุติธรรม

สิงหลกะ  พระราชทาน  พระดรุณรักษา ( เสงี่ยม )  ปลัดบัญชีกรมมหาดเล็ก  หลานพระอุดรพิสดาร ( สิญญ )  ซึ่งเป็นชาวสิงหล

 

                            ลำดับขั้นตอนการขอพระราชทานนามสกุล

                            ๑. ผู้ขอพระราชทานนามสกุล  ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยระบุตำแหน่งหน้าที่  และ  นามของบรรพบุรุษผู้ขอพระราชทาน

๒. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯขนานนามสกุลพระราชทาน  โดยทรงเขียนลำดับที่และนามสกุลที่พระราชทานทั้งภาษาไทยและอักษรโรมัน  ด้วยลายพระหัตถ์ในหนังสือกราบบังคมทูล  พร้อมกับทรงจดทะเบียนนามสกุลและนามผู้ขอพระราชทานในสมุดทะเบียนนามสกุลพระ ราชทาน

๓. ทรงเขียนใบพระราชทานนามสกุลด้วยลายพระหัตถ์ (จำนวน  ๓๒  นามสกุล ) หรือ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานพระอาลักษณ์  เขียนบัตรนามสกุลพระราชทาน

๔. ถ้าทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์  จะประกาศพระราชทานนามสกุลในราชกิจจานุเบกษา  แต่หากให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์เขียน  จะทรงลงพระปรมาภิไธยในบัตรพระราชทานนามสกุลก่อน  แล้วจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

๕. พระราชทานลายพระราชหัตถเลขา  หรือ  บัตรนามสกุลพระราชทานแก่ผู้ขอ

 

ตัวอย่างใบพระราชทานนามสกุลที่ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์

 

 

 

ตัวอย่างบัตรนามสกุลพระราชทานที่เจ้าพนักงานอาลักษณ์เขียน

 

 

 

นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้มีทั้งสิ้น  ๖๔๖๔  นามสกุล  แยกเป็นนามสกุลตามสมุดทะเบียน ๖๔๓๙ ( ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้รับพระราชทานไปเพียง  ๖๔๓๒  นามสกุล )  นามสกุลพิเศษ  ๑  นามสกุล  และนามสกุสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ ๔  อีก  ๒๔  นามสกุล

นามสกุลพิเศษที่มิได้ลงลำดับในสมุดทะเบียนนามสกุล  คือ  ณ  พิศณุโลก  พระราชทานหม่อมคัธริน    ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

นามสกุลสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน  คือ  ตันตริยานนท์  พระราชทานแก่  นายประดิษฐ์   ผู้ช่วยนาบเวรกรม     บาญชีกลาง  กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ปู่ชื่อ  ดันก๊กเหลียง  บิดาชื่อ  ตันเต็งหยง  เมื่อวันที่  ๑  สิงหาคม  ๒๔๖๘

 

ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับพระราชทานนามสกุล  คือ  เด็กชายบัว  อายุ  ๖  ขวบ  มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า      ศจิเสวี  เมื่อวันที่  ๑๖  กันยายน  ๒๔๖๕

 

ตัวอย่างหนังสือขอพระราชทานนามสกุล

 

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.