ตามรอยวัฒนธรรม ตำบลวิชิต ตามรอยวิชิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน
- ธนเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
- กุมภาพันธ์ 14, 2023
- 0 ความคิดเห็น
ตามรอยวัฒนธรรม ตำบลวิชิต ตามรอยวิชิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ความเป็นมาและความสำคัญ
จากการเสด็จประพาสภูเก็ต ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ นั้น ได้เสด็จออกให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้เฝ้าชมพระบารมีและทูลละอองธุลีพระบาท ณ บัญชรหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ตแล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรของพระองค์ทรงแนะให้พสกนิกรถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์และคนที่เป็นกลไกในการพัฒนาดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
“เราทั้งสองขอขอบใจพรที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวในนามของชาวภูเก็ต ทั้งขอขอบใจที่ชาวภูเก็ต
ทั้งหลายได้ต้อนรับเราอย่างดีเมื่อวานนี้เมื่อเรามาถึง เราได้มีความพอใจมากและดีใจมากที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยม
จังหวัดนี้ซึ่งภูมิประเทศสวยงาม และเราก็รอคอยมานานเหมือนกัน การที่จังหวัดภูเก็ตนี้มีประวัติศาสตร์อัน
น่าฟัง และน่ายินดีก็เป็นสิ่งอีกอย่างหนึ่งที่จูงใจให้เราอยากได้มาเยี่ยมอีกที ชาวจังหวัดภูเก็ตนี้น่าภูมิใจที่
ประวัติศาสตร์ในอดีตมีความรุ่งเรืองมาก และมีความกล้าหาญ ซึ่งพวกประชาชนผู้เป็นลูกหลานของ
บรรพบุรุษที่ได้ทําวีรกรรมในสมัยโน้น”
จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษของชาวภูเก็ตมีความสำคัญยิ่งใหญ่เพียงใด
ตำบลวิชิต
ตำบลวิชิตเป็น 1 ใน 8 ตำบล ของอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เดิมชื่อ “ตำบลระแงง” ได้รับการยกฐานะ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538 และได้จัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลวิชิต ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 สำนักงานเทศบาลตำบลวิชิต ตั้งอยู่ เลขที่ 54/1 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองภูเก็ตประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดภูเก็ตประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 35,000 ไร่
ประวัติ ตำบลวิชิต
“ ตำบลวิชิต” เกิดจากการยุบรวมตำบลอ่าวมะขาม ( เว้นแต่หมู่ที่ 7 และ 8 ไปรวมกับตำบลฉลอง ) กับ ตำบลระแงง ( เว้นแต่หมู่ที่ 1 และ 2 บางส่วน ไปรวมกับตำบลตลาดเหนือ ) และจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลใหม่เรียกว่า “ ตำบลวิชิต” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2485 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอน 4 ( 5 มกราคม 2486 )
( ความเดิม ในระหว่างปี พ.ศ. 2437 – 2441 พระยาทิพย์โกษา (โต) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตคนแรก ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองในเมืองภูเก็ตและเมืองต่าง ๆ โดยเริ่มจัดที่เมืองภูเก็ตเป็นแห่งแรก เพราะเป็นที่ตั้งมณฑลผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต ผู้ที่ทำหน้าที่ในการแบ่งท้องที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น คือพระนริศราราชกิจ ( สาย โชติกเสถียร) น้องชายพระยาทิพย์โกษา ( โต) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนยศเป็นพระยานริศราชกิจ (สาย) ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ต
การจัดแบ่งท้องที่ปกครองของเมืองภูเก็ตครั้งนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ เช่นเดียวกับปัจจุบัน คืออำเภอเมืองภูเก็ต มี 11 ตำบล คือ ตำบลบางเหนียวเหนือ บางเหนียวใต้ สามกอง สะปำ สั้นใน ตลาดใหญ่ ระแงง ตลาดเหนือ ฉลอง ราไวย์และอ่าวมะขาม อำเภอกะทู้มี 5 ตำบล คือ ตำบลกะทู้ ป่าตอง ทุ่งทอง กะรน และกำมรา(กมลา) อำเภอถลาง มี 10 ตำบล คือ ตำบลตะเคียน บ้านดอน บางเทา ลิพอน ท่ามะพร้าว ท่าเรือ ป่าคลอก บางโรง ไม้ขาว และสาคู
เดิมตัวเมืองภูเก็ตตั้งอยู่ที่ตำบลกระทู้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 มีฝรั่งชาวอเมริกันชื่อ นายอี ไบรอน มัวร์ ได้จ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อย้ายที่ว่าการมณฑลจากที่ทำการเมืองเดิมนี้ ไปสร้างใหม่ในที่บ้านพระยาภูเก็ต (ลำดวน) ที่บ้านทุ่งคาซึ่งยึดมาชดใช้เงินหลวง ตัวเมืองภูเก็ตใหม่จึงย้ายไปตั้งอยู่นบริเวณที่เป็นอำเภอเมืองภูเก็ตปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองภูเก็ตเป็นจังหวัดภูเก็ต เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองภูเก็ต มาเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอว่า อำเภอทุ่งค่าและเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอถลางเป็นอำเภอเมืองถลาง จนถึงปี พ.ศ. 2481 จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอทุ่งค่าเป็นอำเภอเมืองภูเก็ตอีกครั้ง เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองถลางเป็นอำเภอถลางตามเดิม และยุบอำเภอกะทู้ลงเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอเมืองภูเก็ต ครั้นถึงปี พ.ศ. 2502 จึงยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอกะทู้อีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทย ได้ยุบตำบลต่าง ๆ จาก 26 ตำบล ลงเหลือเพียง 17 ตำบลเท่านั้น คือ อำเภอเมืองภูเก็ต มี 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลตลาดใหญ่ ตลาดเหนือ เกาะแก้ว รัษฎา วิชิต ฉลอง ราไวย์และ กะรน อำเภอกระทู้ มี 3 ตำบล คือ ตำบลป่าตอง กะทู้ และกมลา อำเภอถลาง มี 6 ตำบล คือ ตำบลเทพกษัตรี ศรีสุนทร สาคู ไม้ขาว เชิงทะเล ป่าคลอก)
ที่มาของชื่อ ตำบลวิชิต
จากปี พ.ศ.๒๔๘๕ พื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ตมี ๘ ตำบล และมีตำบลสองตำบลที่ตั้งชื่อตำบลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ปกครองเมืองภูเก็ต คือ ตำบลรัษฎา อนุสรณ์แด่ มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ( คอซิมบี้ ณ ระนอง ) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และ ตำบลวิชิต เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) จางวางเมืองภูเก็ต และผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต
ประวัติของพระยาวิชิตสงคราม โดยสังเขป
เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สี่ถึงต้นรัชกาลที่ห้า โดยเฉพาะตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบันด้วยวิธีการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภูเก็ต นั่นก็คือ แร่ดีบุกและวุลแฟรมให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลกลางที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความผันผวนของราคาแร่ดีบุกที่ตกต่ำลงในบางช่วงและนโยบายการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ทำให้ผู้จัดเก็บภาษีปรับสภาพสถานการณ์ไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอันใหญ่หลวงแก่ครอบครัวของท่านในภายหลัง
พระยาวิชิตสงคราม บรรพบุรุษของท่านเดิมเป็นแขกชาวอินเดีย เป็นชาวเมืองมัทราสซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาดู เดิมเมืองนี้เป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๒๒ ต่อมาเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๙ บรรพบุรุษของท่านได้เดินทางไปมาค้าขายระหว่างประเทศอินเดียตอนใต้กับชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองเรื่อยลงไปถึงสตูลและมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ครั้งแรกได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดระนองด้วยการเลี้ยงวัวฝูง ต่อมาย้ายมาอยู่เมืองถลางได้รับราชการในฐานะล่าม ขุนล่ามได้ภรรยาเป็นชาวเมืองถลาง ท่านมีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจิม ต่อมา ท่านเจิมได้เป็นขุนล่ามแทนบิดา และได้แต่งงานกับคุณแสง ผู้เป็นเครือญาติกับท้าวเทพกษัตรีย์ ขุนล่ามเจิมได้ย้ายไปรับราชการที่เมืองตะกั่วทุ่ง จนได้เป็นหลวงยกกระบัตร ดังจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๓ ( พ.ศ. ๒๓๕๔ ) สารตรามา ณ วันศุกร์แรม๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม ตรีศกฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…ให้เอาหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นพระวิเชียรภักดี ว่าราชการเมืองถลาง ออกมาส้องสุมชักชวนเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ตั้งบ้านเรือนทำไร่นา ขุดร่อนแร่ดีบุก ณ ที่พังงาให้พร้อมมูลก่อน ถ้าได้เสบียงอาหาร ปืน กระสุนดินประสิว ซึ่งจะรักษาบ้านเมืองพร้อมมูลขึ้นเมื่อใด จึงจะให้ไปตั้ง ณ เกาะเมืองถลาง…” พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งนายฤทธิ์มหาดเล็กบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา ( จันท์ จันทโรจวงศ์ ) เป็นหลวงวิชิตภักดี ช่วยราชการ อีกด้วย เรื่องการสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ รัชกาลที่ ๓ ทรงรับสั่งถามพระยานครศรีธรรมราชว่า จะให้ทางเมืองนครศรีธรรมราชดำเนินการรับผิดชอบไปก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาฟื้นฟูทั้งตัวเมืองถลางและชาวเมืองถลางหลายปี ทางนครศรีธรรมราชยินดีรับและได้จัดการดูแลเมืองถลางอยู่หลายปี โดยมีพระวิเชียรภักดี ( เจิม ) เจ้าเมืองถลาง และหลวงวิเชียรภักดี ( ฤทธิ์ ) ผู้ช่วยราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้มอบให้หลวงวิเชียรภักดีไปควบคุมภาษีดีบุกที่เมืองภูเก็ตโฮ่อีกตำแหน่งนึ่งด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ต่อมาพระวิเชียรภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระถลาง (เจิม) เมื่อเมืองถลางเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว พระถลาง จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถลาง หรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ( เจิม ) และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๐
พระวิเชียรภักดี (เจิม) มีภรรยาและบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ แก้วข้าหลวงเมืองพังงาได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายแก้ว เมื่อโตเป็นหนุ่มได้บวชเรียนหนังสือที่เมืองพังงา และเข้ารับราชการที่เมืองพังงา จนได้แต่งงานกับคุณแจ่ม ธิดาหลวงเมือง เมืองพังงา นายแก้วและคุณแจ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเห็นว่าเมืองถลางซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างบ้านแปงเมืองชึ้นมาใหม๋ หลังจากที่พม่าทำลายบ้านเมืองย่อยยับเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ จึงขออนุญาตผู้ใหญ่จากเมืองพังงาและแจ้งมายังเจ้าเมืองถลางคือ พระถลาง ( เจิม )ผู้เป็นบิดาว่าต้องการมารับราชการที่เมืองถลาง พระถลางเจิมจึงอนุญาตให้บุตรและบุตรสะใภ้ลงมายังเมืองถลาง แต่ท่านเห็นว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่บ้านเก็ตโฮ่ หลังจากที่พม่าทำลายเมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๒ ยังไม่ได้รับการบูรณะรวบรวมผู้คนให้ทำการร่อนแร่ดีบุก พระถลางจึงแต่งตั้งนายแก้วลงมาประจำอยู่เมืองภูเก็ต(โฮ่) เพื่อช่วยหลวงวิเชียรภักดี ( ฤทธิ์ ) เก็บส่วยสาอากรฤชาธรรมเนียมต่างๆส่งไปยังเมืองถลางและกรุงเทพฯ
แต่เดิมครั้งสมัยท่านผู้หญิงจันทร์หรือท้าวเทพกษัตรีย์ ท่านได้แต่งตั้งนายเทียน บุตรชายคนโตลงมาเป็นผู้เก็บส่วยสาอากรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์ในตำแหน่ง “เมืองภูเก็จ” บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มีศักดินา ตั้งแต่ ๖๐๐ ๘๐๐ และ ๑๐๐๐ ต่อมา “เมืองภูเก็จ” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทุกขราช ปลัดเมืองถลาง และพระยาถลาง ( เทียน ) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังเสียเมือง พ.ศ. ๒๓๕๒ หลวงวิเชียรภักดีเป็นผู้เก็บภาษีดีบุก และได้เป็น พระภูเก็จ ( ฤทธิ์ ) เจ้าเมืองภูเก็ต จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๐ พระยาถลาง(เจิม)ถึงแก่อนิจกรรม พระภูเก็จ(ฤทธิ์) จึงได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นพระยาถลาง (ฤทธิ์)
นายแก้วรับราชการดูแลเรื่องภาษีแร่ดีบุก จนเป็นที่ไว้วางใจแก่เจ้าเมืองถลาง ต่อมาได้มีการขยายการขุดแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา คืออำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน ชาวบ้านและชาวต่างประเทศตลอดจนชาวจีนจึงได้อพยพบางส่วนไปขุดร่อนหาแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา โดยมีนายแก้วดูแลวางแผนควบคุมพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ จากหมู่บ้านเล็กๆกลายเป็นตำบลและเมืองใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนภาษีแร่ดีบุกที่จะต้องส่งเมืองถลางและส่งเข้ากรุงก็มากขึ้นตามไปด้วย อาคารบ้านเรือนได้ก่อสร้างเป็นตึก การดูแลท่าเรือให้เรือใหญ่เข้ามาขนสินค้าได้สะดวก นายแก้วจึงต้องย้ายที่ทำการส่วนหนึ่งจากเมืองภูเก็ต(โฮ่)มายังเมืองทุ่งคา และพัฒนาควบคู่ไปด้วย
ทางราชการ ณ กรุงเทพฯจึงยกให้เป็นเมืองทุ่งคาขึ้นตรงต่อเมืองถลาง และนายแก้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระภูเก็จ” เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ภายหลังจากที่พระภูเก็จ (ฤทธิ์)ได้ย้ายไปเป็นพระยาถลางแล้ว พระภูเก็จ ( แก้ว ) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อหากุลีและได้ชาวจีนไหหลำ จีนมาเก๊าจำนวน ๓๐๐ คนพาไปเป็นกรรมกรบุกเบิกการทำเหมืองแร่ดีบุกให้เอิกเกริกกว่าแต่ก่อนที่มีคนเพียงสี่ห้าคนต่อเหมือง นอกจากนี้ท่านยังได้ขยายเขตการขุดหาแร่ดีบุกออกไปยังบ้านท่าแครง บ้านหล่อยูงนอกจากที่ตำบลทุ่งคาซึ่งบริเวณแถบนี้ สายแร่ดีบุกอยู่ไม่ลึก จึงสะดวกต่อการขุดแร่ให้ได้จำนวนมาก ท่านได้ให้คนจีนเหล่านี้จัดกั้นทำนบฝายกั้นน้ำแต่งคลองส่งน้ำเข้าเหมืองและถ่ายเทน้ำขุ่นจากการทำเหมืองลงทะเล แล้วยังขยายตลาด สร้างบ้านที่อยู่อาศัยออกไปอีกเป็นจำนวนมาก พระภูเก็จ(แก้ว) ยังได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นวัดกลางหรือวัดมงคลนิมิตร ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ทราบกันต่อๆมาว่า วัดนี้เป็นวัดของตระกูลรัตนดิลกเป็นผู้สร้าง เมื่อคนในตระกูลรัตนดิลกถึงแก่กรรมให้เผาศพที่วัดนี้ เช่น คุณนายวัน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (บุตรสาวพระเทพธนพัฒนา กระต่าย ณ นคร ) ภรรยา นายศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ( บุตรหลวงนรินทร์บริรักษ์ ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
พระภูเก็จ ( แก้ว ) มีภรรยา มีบุตรและธิดาหลายคน บุตรที่เกิดจากภรรยาหลวงคนหนึ่งชื่อ ทัต ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ นายทัตได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานภายหลังจากบวชแล้วสึกออกมารับราชการกับบิดา ส่วนบุตรอีกคนหนึ่งคือ เดช ต่อมาเป็น พระรัตนดิลก เป็นนายอำเภอเมืองทุ่งคา(ภูเก็ต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เมื่ออายุพอสมควร นายทัตจึงได้แต่งงานกับคุณเปี่ยม ธิดาหลวงยกกระบัตร ( ทับ ) เมืองถลาง คุณเปี่ยมมีฐานะเป็นเหลนของท้าวเทพกษัตรีย์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ที่เติบใหญ่มีชื่อเสียงคือ คุณหญิงรื่น เป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ณ นคร ) แห่งเมืองนครศรีธรรมราช นายลำดวน ได้เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เจ้าเมืองภูเก็ต คุณหญิงเลื่อม เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ
นายทัตได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนได้เป็น หลวงมหาดไทย (ทัต) กรมการเมืองถลาง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิทักษ์ทวีป ช่วยราชการบิดาที่ภูเก็ต หลังจากที่พระภูเก็จ ( แก้ว ) บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ จึงได้รับพระกรุณาฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็จ ( ทัต ) แทนบิดา เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และได้ดำเนินการพัฒนาเมืองภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่องเจริญก้าวหน้าสามารถเก็บส่วยสาอากรได้มาก กลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่เท่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองถลางซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถลาง กับเมืองภูเก็ตซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภูเก็จ ให้ไปขึ้นกับเมืองพังงาทั้งสองเมือง และโปรดฯให้เลื่อน พระภูเก็จ เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) มีฐานะเกียรติยศเท่าเมืองถลาง เมื่อพระยาภูเก็ต ( ทัต )อายุได้ ๓๙ ปี ส่วนผู้ช่วยราชการหรือรองเจ้าเมือง จากหลวงพิทักษ์ทวีป เป็น พระอาณาจักรบริบาล
เมื่อเมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองถลาง เพราะทำเลที่ตั้งดีกว่า คือมีท่าเรือที่เรือใหญ่สามารถเข้ามาจอดได้สะดวก มีพ่อค้าต่างเมืองโดยเฉพาะจากสิงคโปร์ ปีนัง และฝรั่ง ฯลฯเข้ามาติดต่อกันมากขึ้น รายได้ภาษีอากรก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ภายหลังจากที่พระยาบริรักษ์ภูธร ( แสง ) เจ้าเมืองพังงาถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองภูเก็ตขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ดังสารตราในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตอนหนึ่ง ว่า “…พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) ทะนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง คิดอ่านชักชวนลูกค้าพาณิชย์ไทยจีนแขกมาตั้งบ้านเรือนก่อตึกร้าน ตั้งตลาดปสาน ให้ทำมาหากินมั่งคั่งบริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองขึ้นมาก ลูกค้าพาณิชย์ เรือสลูบ กำปั่น สำเภา เรือเสาใบไปมาค้าขายก็ชุกชุม เรียกเศษดีบุกปึก ดีบุกย่อย ภาษีพรรณผ้า จังกอบ และอากรดีบุก เป็นพระราชทรัพย์ของหลวง ถึงมรสุมงวดปีก็ส่งเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย ไม่ได้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ ครั้งนี้มีความกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณ จัดได้เพชรเม็ดใหญ่เท่าผลบัวอ่อนอันดีมีราคากับของอย่างนอกต่างๆ ให้พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ตคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายหาบำเหน็จความชอบใส่ตัวเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองภูเก็ตมาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร…”
การขยายกิจการการทำเหมืองแร่และการขุดร่อนหาแร่ดีบุก จำเป็นต้องใช้คนมาก เช่นการเปิดหน้าดินในการทำเหมืองหาบ หรือเหมืองแล่น หรือเหมืองรูที่ขุดเป็นบ่อลึกแล้วเอาดินในชั้นแร่มาล้างจึงจะได้แร่ แต่กำลังคนในเมืองถลางและภูเก็ตมีไม่พอกับการขยายการทำเหมือง ดังนั้นนายเหมืองหรือผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับแร่จึงต้องหาคนจีนจากเมืองจีนและคนจีนที่ได้อพยพมาจากแหลมมลายูมาก่อนแล้วเข้ามาทำงานเป็นจำนวนเป็นหมื่นคน ทำให้เมืองภูเก็ตมีสีสันผู้คนพลุกพล่าน มีมหรสพ คือ งิ้ว การเชิดหุ่นจีน ตลาดขายสินค้าพวกยาจีน อาหาร รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีแบบจีนตามเข้ามาด้วย คนจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน ) กว่างตง เกาะไหหลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาและคนที่มีการศึกษา บางส่วนเป็นสมาชิกของพรรคใต้ดินหรือสมาคมลับในจีน บางคนเมื่อมาถึงภูเก็ตภายหลังจึงละจากการเป็นกรรมกรเหมืองไปค้าขายโดยเช่าอาคารตึกแถวของพระยาภูเก็ต บางส่วนไปทำสวนผัก เป็นนายเหมืองรายย่อยและนายเหมืองที่มีเงินมาก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการขุดหาแร่ดีบุกแล้ว ยังมีการสร้างโรงงานสำหรับล้างแร่ คือแยกแร่ดีบุกออกจากขี้ดินทราย ขี้แร่ และการหลอมแร่ดีบุกเป็นก้อนคล้ายหัวร่มทางภาคเหนือ การหลอมแร่ดีบุกต้องใช้ไม้ฟืนและใช้คน โรงงานหลอมแร่อยู่แถวใกล้ท่าเรือ เพื่อสะดวกในการขนลงเรือสินค้า การหลอมแร่ดีบุกจะมีตะกรันคือเศษดีบุกที่ติดกับเบ้าหลอมที่ช่างหลอมจะต้องแคะออก โรงงานหลอมดีบุกที่เหลือเป็นเศษตะกรันจำนวนมากมาย ชาวภูเก็ตได้ขุดขายกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๕ แถวบริเวณถนนตะกั่วป่าริมคลองบางใหญ่หรืออ่าวเกไปจนถึงฝั่งคลองด้านตะวันออก และบริเวณหน้าศาลเจ้าปุดจ้อ เป็นต้น
ข้างพวกกรรมกรเหมืองทางเจ้าของเหมืองจัดสร้างที่พักกั้นจากมุงจากเป็นห้องโถงยาวให้นอนเรียกว่า กงสี มีข้าวต้มข้าวสวยให้กินยกเว้นกับข้าวหากินเอาเอง แต่ละเหมืองจะมีเกือบร้อยหรือเป็นร้อยคน คนเหล่านี้ได้เงินแล้วส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีน บางคนมีภรรยาคนที่สองที่ภูเก็ต เมื่อคนหมู่มากหลายพันคนมาต่างแซ่ต่างถิ่นย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน จนเกิดการยกพวกเข้าทำร้ายกัน การไม่พอใจค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ที่ชิงดีชิงเด่นในกลุ่มเพื่อตนจะได้เป็น “ตั่วโก”หรือตั้วเฮียหรือพี่ใหญ่ พี่รอง พี่สาม พี่สี่ ฯลฯ ซึ่งในขณะนั้นเมืองภูเก็ตเป็นเมืองค้าขาย มิได้เตรียมกองทหารไว้สู้รบกับพม่าเหมือนแต่ก่อน จึงมีแต่กองโปลิศหรือตำรวจดูแลความสงบสุขของชาวบ้านเท่านั้น
เมื่อคนจีนไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามและอาศัยทำมาหากินตั้งแต่กรุงเทพฯ มหาชัย แม่กลองเรื่อยลงไปตลอดแหลมมลายูของอังกฤษถึงสิงคโปร์ หัวหน้าจีนที่สิงคโปร์เริ่มก่อตั้งสมาคมลับที่เรียกว่า “ซันโฮหุย หรือ ซันเทียนหุย” หรือ เทียนตี้หุย หรือสมาคมไตรภาคี ที่หมายถึงความกลมกลืนของสามอย่างคือ ฟ้า ดิน มนุษย์ เมื่อทางการอังกฤษสอบสวนแล้วเห็นว่า สมาคมนี้ไม่มีพิษภัยต่อการปกครองของตน เพียงแต่ใช้ชื่อจากจีนเพื่อช่วยเหลือคนจีนที่เพิ่งเดินทางมาหางานทำเท่านั้น สมาคมนี้มีสมาชิกกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆตลอดแหลมมลายู ทำให้เกิดสมาคมอื่นๆอีกหลายสมาคม หรือหลายกงสี เช่น หยี่หิ้น หยี่ฮก ปุนเถ่ากง ตัวกงสี ชิวหลี่กือ ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกว่า พวก อั้งยี่ หรือ “หนังสือแดง”
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้เกิดการก่อความวุ่นวายขึ้นที่เมืองปีนัง เมื่อสมาคมธงแดง นับถือตัวแป๊ะกงหรือปุนเถ่ากง พวกนี้เป็นชาวฮกเกี้ยน กับสมาคมธงขาว หรือสมาคมหยี่หิ้น ซึ่งเป็นพวกกว่างตงหรือกวางตุ้ง จัดตั้งเป็นรูปกองทัพจับอาวุธเข้ารบรากันตีโล่ก้อกลอง เอาธงสามแฉกขนาดใหญ่นำหน้า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ลุกลามไปหลายแห่งรวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๔ คนจีนในภูเก็ตได้จัดตั้งสาขากงสีขึ้น คือ กงสีหยี่หิ้น กงสีปุนเถ่ากง กงสีโฮ่เส้ง แต่ละสมาคมหรือกงสีจะมีระเบียบการเข้าเป็นสมาชิกที่เข้มงวด กงสีหยี่หิ้นหรือหยี่หิ้นเกียนเต๊ก เป็นพวกธงแดงสำนักตั้งอยู่ที่กะทู้มีสมาชิกประมาณ ๓๕๐๐ คน ส่วนกงสีปุนเถ่ากงตั้งอยู่แถวบางเหนียวและในตลาดเมืองภูเก็ต มีสมาชิกราว ๔๐๐๐ คน แต่ละกงสีมีตั่วโกหรือพี่ใหญ่ เป็นหัวหน้า เพื่อดูแลควบคุมลูกน้อง การรับคนเข้าไปเป็นกรรมการในเหมืองแร่แต่ละแห่งก็คงจะยกเอาสมาชิกทั้งชุดเข้าไปเพื่อง่ายต่อการควบคุม ต่อมากงสีทั้งสองเกิดทะเลาะกันเรื่องแย่งกระแสน้ำเข้าไปทำเหมืองแร่ จึงเกิดการสู้รบกันกลางเมือง ฝ่ายพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เจ้าเมืองพร้อมด้วยกรมการเมืองต่างเข้าไปห้ามปราม ในขณะเดียวกันท่านได้ติดต่อไปยังหัวเมืองใกล้เคียงเพื่อขอกำลังตำรวจมาเสริม หากพวกอั้งยี่ยังก่อความวุ่นวายอีก พร้อมทั้งแจ้งเรื่องด่วนไปยังกรุงเทพฯ ทางหัวเมืองต่างส่งกำลังมาสนับสนุน ส่วนทางกรุงเทพฯได้ส่ง พระยาเทพประชุน ( ต่อมาคือเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี -ท้วม บุนนาค ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวง ลงมายังภูเก็ต พระยาภูเก็ตพร้อมด้วยกรมการเมืองภูเก็ต และพระยาเทพประชุน ให้เชิญหัวหน้าจีนทั้งสองกลุ่มเข้ามาไกล่เกลี่ย ทางราชการต้องการให้พวกเขาทำมาหากินโดยสุจริต พวกเขายอมรับ ทางราชการจึงนำตัวหัวหน้ารวมเก้าคนเข้ากรุงเทพฯ แล้วโปรดฯให้หัวหน้าทั้งเก้าคนให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อทางราชการ ไม่ก่อเรื่องเดือดร้อนขึ้นอีก พวกเขาจึงเดินทางกลับมาภูเก็ตทำมาหากินต่อไป
ข้างทางกรุงเทพฯได้วางแผนให้พระยาภูเก็ต( ทัต ) กับพระยาเสนานุชิต ( นุช ) เจ้าเมืองตะกั่วป่าช่วยกันออกเงินซื้อเรือกลไฟสองลำเอาไว้ลาดตระเวนและช่วยเหลือเรือรบหลวงไว้ป้องกันเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นอีกในอนาคต และใช้วิธีการปราบพวกอั้งยี่แบบที่อังกฤษใช้อยู่ในแหลมมลายูของอังกฤษ คือ แต่งตั้งตัวหัวหน้าอั้งยี่ให้มีบรรดาศักดิ์และอำนาจตรวจตราบังคับลูกน้อง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ทางราชการจึงได้แต่งตั้งปลัดฝ่ายจีน ๒ คน คือ หลวงอำนาจสิงขร และหลวงอร่ามสาครเขต และแต่งตั้งนายอำเภอจีน ๔ คน คือ พระขจรจีนสกล หลวงพิทักษ์จีนประชา หลวงบำรุงจีนประเทศ และหลวงนิเทศจีนประชารักษ์ นอกจากนี้ยังได้ยกเอาเมืองถลางซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า มาขึ้นกับเมืองภูเก็ต เพื่อง่ายต่อการสั่งการบังคับบัญชาเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประจวบกับขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม ทางราชการจึงให้ พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ต ไปเป็นพระยาถลาง ( เกต ) ขึ้นตรงต่อพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒
ในปีเดียวกันนี้ พระยาภูเก็ต ( ทัต ) ได้รับบำเหน็จความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ มีเครื่องยศเพียงเท่า เสนาบดี คือ กระบี่บั้งทองเล่มหนึ่ง ประคำทองสายหนึ่ง ดวงตราพระจุลจอมเกล้าชั้น ๒ ดวงหนึ่ง พานทองคำใบใหญ่ใบหนึ่ง พานจอกหมากทองคำ ๒ จอก ตลับยาทองคำ ๒ ตลับ ตลับทองคำใส่สีผึ้งตลับหนึ่ง ซองพลูทองคำซองหนึ่ง ซองบุหรี่ทองคำซองหนึ่ง มีดเจียนหมากด้ามหุ้มทองคำเล่มหนึ่ง คนโททองคำใบหนึ่ง กระโถนทองคำใบหนึ่ง หมวกประพาสใบหนึ่ง เสื้อประพาสตัวหนึ่ง แพรขลิบโพกผืนหนึ่ง สัปทนหนึ่ง แคร่หลังหนึ่ง รวมทั้งหมด ๑๙ สิ่ง ซึ่งเป็นพระยาพานทอง เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี
จากการที่ชาวจีนแต่ละกงสีมักทะเลาะวิวาทยกพวกกันเข้าทำร้ายต่อกันเนืองๆ ทำให้บ้านเมืองไม่สู้จะสงบนักถึงแม้จะมีหัวหน้าต้นแซ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลควบคุมก็ตาม การควบคุมคนจีนวัยกำลังทำงานเหล่านี้บางครั้งตัวหัวหน้าไม่ทราบว่าลูกน้องยกกำลังกันเข้าฆ่าฟันตายหลายสิบคน ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าเมืองคือ พระยาภูเก็ตที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ประมาณหลังจาก พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นต้นมาสุขภาพร่างกายของพระยาวิชิตสงครามไม่สู้จะดีนักเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ ดวงตาเริ่มพร่ามัว ทำให้การว่าราชการย่อหย่อนลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระอาณาจักรบริบาล ( ลำดวน ) บุตรชายซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยราชการอากรดีบุกเมืองภูเก็ต เป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๓๐๐๐ ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้นสามค่ำเดือน ๘ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ ( พ.ศ. ๒๔๑๘ ) ในขณะที่พระยาวิชิตสงครามอายุได้ ๕๑ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมืองภูเก็ตมีคนจีนเข้ามาทำมาหากินหลายหมื่นคน แต่ส่วนใหญ่จะหมุนเวียนกันกลับไปเมืองจีนในช่วงตรุษจีน กงสีปุนเถ่ากงซึ่งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตมักหาว่าพระยาวิชิตสงครามเข้าข้างพวกกงสีหยี่หิ้นที่กะทู้และมักจะช่วยพวกเขาเสมอเมื่อมีการสู้รบกันระหว่างสองกงสี พวกนี้หนีการจับกุมมาจากระนองแล้วรวมตัวกันจะเข้ายึดตัวเมืองภูเก็ต แต่หัวหน้าต้นแซ่ไม่รู้เรื่อง
ในเดือนสี่ ขึ้นสิบสามค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เวลาบ่าย กะลาสีเรือเมาสุราเกิดทะเลาะกับคนจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต แต่หัวหน้ากะลาสีเรียกลงเรือไปเสียก่อน จนเวลาค่ำพวกกะลาสีสองคนขึ้นมาเที่ยวในตลาด พวกคนจีนเห็นดังนั้นจึงชวนพรรคพวกเข้ารุมทุบตีกะลาสีปางตาย ฝ่ายตำรวจเข้าระงับเหตุพร้อมกับรวบตัวคนจีนที่ทำร้ายแล้วพาไปโรงพัก พวกที่เหลือไม่พอใจ ต่างลุกฮือขึ้นไปชวนพวกมากว่า ๓๐๐ คนถืออาวุธเข้ารื้อโรงพัก เผาวัดและเข้าปล้นบ้านเรือนคนไทย คนไทยต่างหนีเอาตัวรอด ข้างคนจีนเมื่อรวมพวกได้กว่า ๒๐๐คนหมายจะเข้าปล้นสำนักงานรัฐบาลและบ้านพระยาวิชิตสงครามที่บางงั่ว
ขณะนั้นพระยาวิชิตสงครามที่กำลังป่วย และบุตรเขยของท่าน คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังและข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายตะวันตก จึงรวมไพร่พลคนไทยปลดนักโทษจากเรือนจำ ตำรวจอีกได้ประมาณ ๑๐๐ คน พร้อมกับทหารเรือในเรือรบสองลำที่ทอดสมออยู่ในอ่าวอีก ๑๐๐ คน จัดการเอาปืนใหญ่จุกช่องทั้งสี่ทิศ พร้อมกับโทรเลขถึงกรุงเทพฯ มีหนังสือไปยังหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกให้ยกกำลังมาช่วย ในขณะเดียวกันได้เรียกหัวหน้าต้นแซ่มาประชุมตกลง
ข้างทางกรุงเทพฯได้ส่งเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) ข้าหลวงใหญ่ปราบปรามอั้งยี่โดยเฉพาะคุมเรือรบและเรือสลูปลงมายังภูเก็ต ด้วยเกรงว่าเจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) จะวางแผนต่อสู้กับพวกอั้งยี่ไม่ได้ เมื่อได้รวมพลทั้งหลายเข้าได้พอสมควรแล้วจึงประกาศเอาโทษแก่ผู้ประพฤติร้าย ข้างหัวหน้าต้นแซ่ต่างเข้ามาขอโทษและกลับไปทำมาหากินตามเดิม แต่ยังมีคนจีนหลายกลุ่มที่ดื้อรั้นไม่พอใจ จึงรวมพวกกันออกไปปล้นบ้านเรือนราษฎรรอบนอก ทำให้เกิดจลาจลขึ้นทั่วเกาะภูเก็ต มีแห่งเดียวที่รักษาตำบลของตนเองไว้ได้คือ บ้านฉลองซึ่งมีหลวงพ่อแช่มเจ้าวัดและชาวบ้านฉลอง
เมื่อเหตุการณ์สงบลง ต่างได้รับบำเหน็จความชอบคือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) เป็น พระยาประภากรวงศ์ ในตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานพานทองเสมอทั้งสองคน ส่วนคนอื่นๆได้รับบำเหน็จความชอบตามลำดับทุกคน
ที่ระลึก ๘๔ ปี คุณแม่จวง (ณ ถลาง) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), ๒๕๓๖
ประวัติหมู่บ้าน
หมู่ที่ 1ประกอบด้วยชุมชนชุมชนนาบอนใต้ ,ชุมชนเมืองทองสุขนิรันดร์ ,ชุมชนคลองเกาะผี ,ชุมชนธนิตธุรกิจรวมสิน, ชุมชนมะขามคู่ ,ชุมชนหมู่บ้านสะพานหิน และ ชุมชนภูเก็ตวิลล่า 3
หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก เดิมแนวเขตติดต่อกับโรงเรียนอาชีวะ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ดูได้จากแนวคลองเดิม ปัจจุบันเป็นโรงเรียน สะพานหิน สถานีตำรวจน้ำ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศาลเจ้า ,สทร.3 วิทยาลัยสารพัดช่าง ,โรงเผาขยะ, บ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในแนวเขตเกาะผี มีป่าช้าจีน เราเรียกว่า เขาหล่ม เนื้อที่ประมาณ 69 ไร่ ปัจจุบันได้แบ่งเนื้อที่ ทำประโยชน์อื่น ๆ ไปบ้างแล้ว เช่น สวนสุขภาพ สถานีอนามัย โรงเก็บรถเทศบาลตำบลวิชิต มีวัดเก่าแก่ ชื่อ วัดต้นเนียง (หรือวัดต้นแซะ) ที่เผาศพยังมีหลักฐานอยู่ และได้ย้ายวัดต้นเนียงมาตั้งวัดใหม่ โดยหลวงพ่อหีด และตั้งชื่อใหม่ว่า วัดเทพนิมิตร (หรือวัดแหลมชั่น) และมีโรงเรียนในวัด เดี๋ยวนี้แยกมาตั้งใหม่แต่ก็ยังใช้ชื่อเดิม (โรงเรียนวัดเทพนิมิตร) มีคลองประวัติศาสตร์ ชื่อว่า คลองสะพานฉ่ายตึ้ง ซึ่งน้ำจะไหลจากเขานาคเกิด มารวมกันเป็นสายใหญ่ไปจรดคลองมุดง ซึ่งเป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน กระทั่งปัจจุบันนี้ ก่อนเล่ากันมาว่าคลองนี้ใหญ่และลึกมาก มีเรือสำเภาของจีนบรรทุกสินค้ามาลง และมีศาลเจ้าเป็นที่พำนัก และนัดพบของคนจีนสมัยนั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลักฐานอยู่ ( คือ คลองน้ำ) เลยไปเรียกว่า นาบอน ซึ่งคนจีนได้ปลูกบอนไว้มากเพื่อรับประทานและให้หมู จึงเรียกติดปากกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน ตระกูลที่ใหญ่มีหลายตระกูล เช่น แซ่ต๋าน
เดิมที บริเวณสะพานหินเป็นท่าเรือสำคัญที่เรือขนส่งสินค้า และเรือโดยสารใช้เป็นจุดเทียบท่า ถือเป็นท่าเรือใหญ่ของการเดินทางในเขตทะเลอันดามัน เชื่อกันว่าท่าเรือสะพานหินยังเป็นท่าเทียบเรือที่ตัวแทนชาวภูเก็ตซึ่งเดินทางกลับจากประเทศจีนนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) มาเพื่อประกอบพิธีกินผัก จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสะพานหิน ยังเป็นบริเวณที่เรือขุดแร่ลำแรกของโลกทำการขุดแร่ดีบุกจากอ่าวทุ่งคาซึ่งเป็นทะเลบริเวณสะพานหินขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกด้วย โดยผู้นำเรือขุดแร่ดังกล่าวเข้ามาขุดแร่ คือ กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมลส์ ชาวออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2452[1] ซึ่งภายหลังก็ส่งผลให้มีการสร้างเรือขุดแร่ขึ้นใช้งานอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 อธิบดีกรมมีความคิดที่จะให้มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการขุดแร่ด้วยเรือขุดแร่ลำแรกของโลก จึงได้เปิดให้มีการประกวดออกแบบจนสิ้นปี พ.ศ. 2511 มีผู้ประกวดออกแบบทั้งสิ้น 6 ราย ทางคณะกรรมการพิจารณาเลือกแบบของนายชวลิต หัสพงษ์ มาดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด (อังกฤษ: Tongkah Harbour Tin Dredging Co. Ltd)[2] ที่ตั้งของอนุสาวรีย์ดังกล่าวอยู่บริเวณริมหาดปลายแหลมของสะพานหิน ณ ขณะนั้น
ประวัติหมู่บ้านสะพานหิน(จากการประชาคมหมู่บ้าน)
เดิมพื้นที่บริเวณคลองเกาะผี เป็นที่อยู่อาศัยของคนที่เป็นโรคเรื้อน ที่ทางการนำมาอยู่ด้วยกันเพราะเป็นโรค ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียารักษา บ้านมีลักษณะเป็นเรือนไทยทรงสูงฝาไม้ไผ่สาน มุงด้วยหลังคาจาก มีบ่อน้ำ๑ บ่อ ปลูกมะพร้าวไว้ ๗ ต้น ด้านหลังหมู่บ้านเป็นที่เผาศพ
ต่อมามีคนย้ายถิ่นมาจับจองอาศัยบริเวณนี้เนื่องจากเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม นายซุ่นก้อง ซึ่งมาจับจองได้นำเอกสารไปออกโฉนดแต่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่ยอมออกให้ นายซุ่ก้องจึงนำเอกสารไปขอออกโฉนดที่กรุงเทพฯ
ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นายเหน่งมาซื้อที่ดินนี้ต่อจากนายซุ่นก้อง และสร้างเป็นหมู่บ้านขายชื่อหมู่บ้านหยี่เต้งในราคาหลังละ๑๕๐,๐๐๐ บาท และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นหมู่บ้านสะพานหินเพราะอยู่ใกล้สะพานหิน
หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านแหลมชั่น
หมู่ที่ 2 ซึ่งอยู่ตรงกลางถนนเจ้าฟ้าตะวันตกและตะวันออก หลังสวนหลวง ร.9 เดิมเป็นที่เรือขุดแร่เหมืองเก่า ของบริษัทไทยประเสริฐ สวนมะพร้าว สวนยางพารา นาข้าว จนถนนเทพอนุสรณ์กั้นกลาง มีศาลเจ้าถี่ก่งตั๋ว เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ 100 กว่าปี ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ประวัติเดิม พ่อของอดีตกำนัน (กำนันสุชล เทพบุตร) ได้นำมาจากเมืองจีน เป็นชื่อของเทวดาองค์หนึ่ง และรูปเทพเจ้ากวนอู เดี๋ยวนี้รูปเทพเจ้ากวนอูได้ไปอยู่ที่ศาลเจ้านาบอน (ตำบลฉลอง) ส่วนถี่ก่งตั๋ว .ศาลเจ้าถี่ก่งตั๋ว สร้างเมื่อพ.ศ.2424เป็นศาลเจ้าที่สิงสถิตของเทพเจ้าหยกอ๋องส่องเต่ หรือ ทีกง ที่มีแห่งเดียวในภูเก็ตเป็นศาลเจ้าเก่าแก่แห่งหนึ่ง ก็ได้จัดงานทุก ๆ ปี ของตรุษจีน วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 ยังเป็นที่เคารพของชาวบ้านไม่เสื่อมคลาย อาชีพสมัยก่อนของคนพื้นที่ ผู้ชายก็ทำงานเหมืองแร่ และเกษตร ผู้หญิงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพร่อนแร่ ส่วนชาวบ้านสมัยก่อนเขาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมา เดี๋ยวนี้เป็นบ้านจัดสรรเกือบหมดแล้ว ฝ่ายตะวันตก เป็นสวนยางพารา มะพร้าว และเหมืองแร่ มีศาลเจ้าเรียกว่า จ้อซู่ก้ง (หรือศาลเจ้านาคา) เก่าแก่ร้อยกว่าปีเช่นกัน ตระกูลที่ใหญ่ที่สุด คือ แซ่หลอ
ที่มาของชื่อ แหลมชั่น คือในช่วงที่การทำเหมืองแร่เฟื่องฟูบริเวณดังกล่าวมีการทำเหมืองแร่และมีคลองลึกเข้ามามีลักษณะเป็นชั้น ๆ จึงทำให้เรียกบริเวณดังกล่าวว่าแหลมชั้น เป็นช่วงรอยต่อระหว่างคลองมุดงและหลังหมู่บ้านวิลล่า 3 ถึงชุมชนมะขามคู่ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันลักษณะทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนไปเนื่องจากมีการทำเหมืองแร่และต่อมามีการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและมาเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้น
หมู่ที่ 3 ชุมชนบ้านตีนเขา
หมู่ที่ 3 เรียกว่า บ้านตีนเขา เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ สถานที่ตั้งของหมู่ที่ 3 เป็นภูเขา ล้อมรอบ มีภูเขาที่สำคัญ คือ เขานาคเกิด ซึ่งมีความเชื่อในสมัยโบราณว่า ณ ยอดเขาดังกล่าวเป็นที่อาศัยของ งูยักษ์ ที่คอยพิทักษ์รักษาต้นน้ำ บนภูเขา ถนนสายสำคัญของหมู่บ้าน คือ ถนนขวาง ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนเจ้าฟ้าตะวันตกกับถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ลักษณะเป็นถนนเส้นตรงเกิดขึ้นในอดีตเป็นเส้นทางเกวียนเล็ก ๆ ที่ใช้คมนาคม เมื่ออดีตที่ผ่านมา เจ้าคุณรัษฎาหรือคอซิมบี้ เดินทางผ่านมา และได้เกณฑ์ไพร่พล ชาวบ้านมาช่วยกันทำเป็นถนนใช้สัญจรได้สะดวกมากขึ้น
ปัจจุบันสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไป หมู่ที่ 3 มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ หมู่บ้านธินวุฒิ 2 ,ธินวุฒิ 3, ติวราธานี ,จอมทอง-มณีคราม ,ปรางทอง และภูเก็ตวิลล่าแคลิฟอร์เนียร์ ประชาชนมีอาชีพหลากหลาย อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม และคริสต์ตามลำดับ มีร้านค้าของที่ระลึกที่สำคัญของจังหวัด เช่น ผ้าบาติก ,เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ,ร้านจิวเวอร์รี่ , ไข่มุก
ประวัติสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง
โรงเรียนอบจ.บ้านนาบอน
เปิดสอน ครั้งแรกชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2469 ชื่อโรงเรียนประชาบาล ตำบลระเงง1 (บ้านนาบอน) ที่ตั้งของ โรงเรียนเป็นที่ดินของ นายสลี เจ๊ะตี ได้อุทิศให้เมื่อ พ.ศ. 2457 จำนวน 11 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เดิมเป็นโรงเรียนจีน และทางราชการกระทรวงมหาดไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยยุบตำบลอ่าวมะขามไปรวมกับตำบลระแงง เป็นตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประชาบาล ตำบลวิชิต 1(หลักฐานจากใบสุทธิ ด.ญ. สุรีย์ แซ่ง่าน พ.ศ. 2495) ต่อมา เป็นโรงเรียนบ้านนาบอน ( พ.ศ. ) และ เข้าเป็นโรงเรียนในสังกัด อบจ. ภูเก็ต 18 พ.ค. 2550เป็นโรงเรียน อบจ. บ้านนาบอนเปิดสอนระดับ : ชั้นอนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6
หมู่ที่ 4 บ้านระแงง
หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้าตะวันตก อยู่ระหว่างหมู่ที่ 5 กับหมู่ที่ 2 อีกด้านหนึ่งติดกับเทศบาลนครภูเก็ต ส่วนอีกด้านติดกับภูเขา เรียกว่า “เขาค้อ” (เขานาคเกิดในปัจจุบัน) ส่วนกลางของ หมู่บ้านเรียกว่า นาคา เพราะมีหญ้าคาเยอะมาก มีการทำเหมืองแร่เกือบเต็มพื้นที่ และมีไฟฟ้าใช้ใน การทำเหมืองแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ชื่อเดิม เรียกว่า เหมืองแร่จิ้นหงวน (เหมืองนาคา) ใหญ่ระดับประเทศต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงประภาสจังหวัดภูเก็ต (เมืองทุ่งคา) ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เหมืองเจ้าฟ้า (เหมืองแร่อนุภาษและบุตร) และบริเวณหน้าเหมืองเจ้าฟ้ามีหนังกลางแปลง (หนังขายยา) มาฉายทุก ๆ วันอาทิตย์และช่วงไหว้ครูของผู้ประทับทรงจะมีมหรสพแสดงเป็นแรมเดือน และที่เรียกว่า “ บ้านระเงง ” เล่าต่อกันมาว่า เดิมมีสายน้ำ 5 สายไหลมารวมกันเป็นคลองใหญ่ บริเวณโรงเรียนวิชิตสงคราม เรียกว่า คลองต้นโหนด ปัจจุบันเหลือเล็กแล้ว น้ำทั้งหมดจะไหลลงสวนหลวง ร.9 บ้านระเงง มีสถานศึกษา 1 แห่ง เดิมอยู่ข้างสนามสุระกุล มีวัด 1 แห่ง เรียกว่าวัดสำนัก (วัดนาคาราม) ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำแร่ ทำสวนยาง เลี้ยงสัตว์ มีชาวฮินดูเข้ามาอาศัยอยู่ 2 กลุ่ม ประกอบอาชีพ เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะเพื่อขายนม มีตระกูลใหญ่เข้ามาอยู่ตระกูลแรก คือ ตระกูล แซ่อ๋อง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔- ๓๐ เมษายน ๒๔๕๒ ในวโรกาสนั้น พระองค์ทรงพระราชทานนามถนนในจังหวัดภูเก็ต จำนวน ๓ สาย คือถนนภูเก็ตและถนนวิชิตสงครามในวันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ และถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๒
เหมืองเจ้าฟ้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จ ทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้า
ฟ้า ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๒ และในการ เสด็จ ฯ ครั้งที่ ๓ วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๑ สมเด็จพระ
บรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามเสด็จ ตอนบ่ายเสด็จ ฯ เยี่ยมโรงถลุงแร่ดีบุกของบริษัทไทยซาร์โก้
พระราชกรณีดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดขวัญกําลังใจแก่ ผู้ประกอบการและราษฏรที่เป็นกลุ่มแรงงานในการ
ทําเหมืองแร่ดีบุก เพื่อเป็นสินค้าหลักของจังหวัดที่สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดและประเทศไทยโดยส่วนรวม
เหมืองเจ้าฟ้าตั้งอยู่ที่ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต แต่เดิมเป็นเหมืองปล่องบ้าง เหมืองหาบบ้างเริ่มเปิดการทำเหมืองประมาณปี พ.ศ. 2460 เนื่องจากมีประทานบัตรในบริเวณใกล้เคียงซึ่งบางแปลงเปิดการทำเหมือง ด้วยวิธีหมืองสูบบ้าง เหมืองฉีดบ้าง และบางแปลงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแผนผังโครงการเดียวกันจึงต้องขออนุญาตจากทรัพยากรธรณีจังหวัดเปลี่ยนวิธีการทำเหมือง เป็นเหมืองสูบ เหมืองฉีด แบบเดิมเกือบทั้งหมด
เนื่องจากหลวงอนุภาษเป็นผู้ที่ชอบหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทราบว่าขณะนั้นทางมาเลเซียเริ่มทำเหมืองสูบด้วยวิธีใหม่แล้วในปี พ.ศ. 2470 จึงหวังจะที่จะให้การทำเหมืองในเมืองไทยเจริญทัดเทียมเพื่อนบ้าน ได้ตัดสินใจเดินทางไปดูกิจการเหมืองสูบ ณประเทศมาเลเซีย แล้วนำมาปรับใช้โดยเริ่มเปิดการทำเหมืองสูบในปี พ.ศ. 2470
นับเป็นคนไทยคนแรกที่เริ่มวิธีการทำเป็นเหมืองสูบสมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย แต่ยังคงใช้่เครื่องยนต์ดีเซลผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ อันเป็นผลที่ยังไม่น่าพอใจได้พยายามหาทางใหม่อีกครั้งด้วยการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ใช้กับเรือมาทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ ก็สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ นับว่าได้รับความสำเร็จได้ ถึงสามประการคือสามารถเปิดการทำเหมืองสูบวิธีเหมืองสูบและใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาผลิตไฟฟ้าพร้อม ทั้งลดค่าใช้จ่ายลงได้
ที่มาของคำว่า “เหมืองเจ้าฟ้า” เมื่อสามารถเปิดทำการเหมืองได้ผลเป็นที่พอใจขณะนั้นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจทรงเสด็จภูเก็ต และเสด็จมาทอดพระเนตรกิจการเหมืองที่ตำบลวิชิต เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2473 โรงไฟฟ้าก็ทำพิธีเปิดจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในการทำเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมทั้งทรงลงลายพระหัตถ์พระราชทานชื่อเหมืองสูบแห่งนี้ว่า “เหมืองเจ้าฟ้า” ให้ไว้เป็นที่ระลึก ต่อมาในเดือน มีนาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้าฟ้า และวันที่6 ตุลาคม2531 สมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามพระบรมราชกุมารีได้ทรงทอดพระเ้นตรกิจการด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งแก่ตระกูล “หงษ์หยก”เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไม่อนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่อีกต่อไป แต่มีนโยบายให้มีการท่องเที่ยวมาแทนและประการหนึ่ง ราคาแร่ตกต่ำมากไม่สามารถดำเนินการให้คุ้มทุนได้บริษัทจึงต้องปิดการทำเหมืองแร่ในปี พ.ศ.2535
สถานที่สำคัญ
ถนนวิชิตสงครามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับตำบลสามกอง ผ่านตัวเมืองภูเก็ตถึงหัวถนนทางที่จะไปอำเภอกะทู้ เจ้าหน้าที่ได้จัดปะรำพิธีไว้ที่หัวถนน ได้อาราธนาพระอริกระวี เจ้าคณะมณฑลภูเก็ตเป็นประธาน หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานการสร้างถนนสายนี้ แล้วกราบบังคมทูลเชิญเสด็จเปิดถนนสายไปอำเภอกะทู้ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ แล้วพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนวิชิตสงคราม” ตามนามพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)ผู้ได้พัฒนาบุกเบิกเมืองภูเก็ตและกะทู้ให้เจริญรุ่งเรือง ทรงชักผ้าคลุมป้ายนามถนน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ปี่พาทย์ประโคม แล้วทรงพระราชดำเนินไปตัดแพรแถบที่ขึงขวางถนน เสด็จขึ้นทรงรถยนต์ขับไปตามถนนวิชิตสงครามผ่านวัดเก็ตโฮ่ ตรงสามแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านทุ่งทอง ผ่านทางเข้าน้ำตกจนถึงตลาดกะทู้ แล้วมาบรรจบที่สามแยกวัดเก็ตโฮ่ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เส้น
โรงเรียนวิชิตสงคราม
โรงเรียนวิชิตสงครามตั้งอยู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ในเขตเทศบาลตำบลวิชิต ใกล้สี่แยกทางที่จะไปอำเภอกะทู้ เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาลบ้านระเงง ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ สอนตั้งแต่ชั้น ประถมปี่ที่ ๑ ถึง ประถมปีที่๔ โดยเช่าที่ดินของเอกชน มีนายชั้น วรวิฑูร เป็นครูใหญ่ และได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวิชิตสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาวิชิตสงคราม ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ มีนักเรียนกว่าพันคน**หมายเหตุ ดูเพิ่มเติมจากประวัติ พระวิชิตสงคราม
ศาลเจ้าจ้อสู่ก๋งนาคา ใช้ชื่อสำนักว่า “ฮุนจ่องอ๊าม” แปลว่า “อารามเมฆคล้อย” ศาลเจ้าเริ่มต้นจากชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ดีบุก ในช่วงรัชสมัยราชการที่ 4 จนถึงต้นรัชการที่ 5 เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างก็นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพเข้ามาด้วย ต่อมาได้สร้างศาลเจ้าขึ้นในพื้นที่ตำบลที่ได้อยู่อาศัย จากอาคารเล็กๆ มุงจาก พัฒนาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน พร้อมจิตรกรรมฝาผนังตามคำบอกเล่าเชื่อว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างเมื่อปี 2449 และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา จนเมื่อปี 2555 ศาลเจ้าได้บูรณะครั้งใหญ่ โดยผู้มีจิตศรัทธาในบ้านนาคา ตำบลวิชิต ผู้ที่มาอาศัยในภูเก็ต การบูรณะครั้งนี้ช่วยปรับระดับความสูงของศาลเจ้า ตัวอาคารทาสีเหลืองสดใสชวนสะดุดตา และปรับโครงสร้าง หลังคาให้มีอาณาเขตกว้างขึ้น แต่ยังรักษาศิลปะ ภาพต่างๆ ตามรูปแบบเดิม ผู้เขียนภาพผนังเดิมเป็นลูกหลานคนจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต และปัจจุบันยังมีผู้สืบทอดงานศิลปะให้คงรูปแบบตามเดิม นอกจากนั้นยังได้ทำการปรับภูมิทัศน์ใหม่โดยรอบ และทำการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 2556ภายในตัวอาคารทาสีแดงสด ประดับด้วยภาพจิตกรรมฝาผนังบอกเรื่องราวของเทพเจ้าจีน บริเวณห้องโถงกลางมีโต๊ะบูชากระถางธูปเทียน สำหรับไหว้องค์จ้อสู่ก๋ง ห้องโถงด้านหน้ามีโต๊ะสำหรับไหว้ทีกงแซ ประดับด้วยเสาศาลเจ้าสี่ต้น ปั้นตัวมังกรพันเสาอย่างสวยงาม หน้าบันไดทางขึ้นมีสิงโตคู่ขนาดใหญ่สีทองโดดเด่น
http://live.phuketindex.com/th/naka-shrine-3060.html
หมู่ที่ 5 บ้านชิดเชี่ยว
บ้านชิดเชี่ยว หมายถึงดาวเจ็ดดวงหรือนางฟ้าเจ็ดองค์ เป็นเหมืองเก่าของชาวจีน มีศาลเจ้าชิดเชี่ยวตั้งอยู่ติดกับเขตเทศบาล มีสนามสุระกุล สมัยก่อนเป็นป่าช้า ต่อกับโรงเรียนวิชิต เดี๋ยวนี้ได้ย้ายไปอยู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต่อมานายอ้วน สุระกุล มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และได้เปลี่ยนป่าช้าติดถนนใหญ่ให้เป็นสนามสุระกุล เป็นสนามกีฬาประจำจังหวัด มีตระกูลเอกวานิช เป็นที่รู้จักของชาวบ้านและเป็นตระกูลที่มีคุณธรรม และมีบ้านที่หาดูได้ยากแห่งหนึ่ง เป็นบ้านโบราณตั้งอยู่บนยอดเขา และมีบริเวณ คือ ประตูหินที่ใหญ่ที่สุดที่จะหาได้ในสมัยนั้น มีสวนยางพารารั้วรอบบ้าน มีโรงน้ำแข็ง และเหมืองแร่เก่า มีศาลเจ้าชิดเชี่ยว เป็นศาลเจ้าโบราณอายุร่วมร้อยปี เป็นที่เคารพของชาวบ้าน ใครป่วยไข้ก็มาขอตั๋วออกยา เวลาเทศกาลกินเจสมัยก่อน เวลาขบวนแห่องค์กิ้วอ๋องมาจากกระทู้ ถึงหน้าศาลเจ้า หากไม่โบกธงใหญ่โบกสบัด ขบวนก็จะหมุน อยู่ที่นั้น ส่วนใหญ่จะเดินสนุกมาก ศาลเจ้าชิดเชี่ยวแห่งนี้มีอายุประมาณ 200 ปี เดิมทีที่ตั้งศาลเจ้าเป็นทุ่งหญ้า ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆจาก หลักไม้ที่ปักอยู่ จึงมีการถามคนทรง ท่านจึงว่าเป็นที่สถิตของ 7 นางฟ้า หรือ ชิดแชเหนียวเหนียว ชาวบ้านจึงได้ร่วมมือกันสร้างศาลเจ้าตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๐ เนื้อที่ดินในปัจจุบันประมาณ ๒๐๐ ตารางวา เดิมสร้างเป็นหลังคามุงจาก และพัฒนาเป็นสังกะสี และต่อมามีนายเหมืองมาขอพรให้ทำธุรกิจร่ำรวย เป็นผลสำเร็จจึงกลับมาสร้างให้เป็นตึกตามที่อธิฐานไว้ ต่อมาก็ได้ขยายจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยที่ตระกูลเอกวาณิชได้ซื้อที่ด้านข้างของศาลเจ้าถวายยังชิดแชเหนียวเหนียวส่วนเขตที่ท่อน้ำต่อเขตอำเภอกะทู้
มีโรงพยาบาลชื่อโรงพยาบาลสิริโรจน์ มีถนน 200 ปี (บายพาส) ตัดผ่ากลาง เชื่อมถนนเจ้าฟ้าหมู่ 4 ตรงหน้าไทนาน โรงเรียนดาราสมุทร อดีตมีหนังตะลุงชื่อดัง คือ หนังสิริ ไกรเลิศ เป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย พ่อของผู้ใหญ่พันลึก ไกรเลิศ
หมู่ที่ 6 บ้านบ่อแร่
บ้านบ่อแร่ในปัจจุบัน มีประมาณ 500 ครัวเรือน หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนชาวมุสลิมมาตั้งแต่อดีต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ยึดมั่นในจริยธรรมอิสลามตลอดมา ประชาชนมีความรักสามัคคี มีประวัติเรื่องเล่าสืบทอดกันมา สองแบบดังนี้
1. จากผู้เฒ่าเล่าขานสืบต่อกันมาหมู่บ้านแห่งนี้ บ้านบ่อแร่เคยมีประวัติความเป็นมายาวนานในอดีต ผู้คนจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจากเกาะยาวที่เดินทางเข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้ ทางเรือโดยผ่านคลองแร่ ซึ่ง คลองแร่แห่งนี้ในอดีตมีอยู่จุดหนึ่ง มีน้ำวนและลึก เคยมีการทำแร่ไนคลองนี้ ปัจจุบันเทศบาลตำบลวิชิตได้ทำการขุดคลองสายใหม่เชื่อมกับคลองสายนี้ไปถึงคลองเกาะผี บริเวณสะพานหินแต่สภาพคลองตื้นเขินไม่ลึกเหมือนเมื่อครั้งอดีต บริเวณชุมชนใกล้คลองนี้ยังคงเรียกว่า คลองแร่ หมู่บ้านบ่อแร่ ถ้ามองตามพิกัดภูมิศาสตร์อยู่ทางตอนใต้ของเกาะภูเก็ต
2. จากผู้เฒ่าเล่าขานจากสายหนึ่ง เล่าว่าบ่อน้ำแทบทุกบ่อในหมู่บ้านขุดได้ประมาณ 2-3 เมตร จะเจอหินกรวดแข็งสีน้ำตาล ซึ่งชาวบ้านเรียกหินชนิดนี้ว่า ลูกแหร้ (หรือ หินแหล่) บ่อน้ำที่ขุดเจอลูกแหร้ ชาวบ้านก็เรียกว่า บ่อแหร้ (ปัจจุบันบ่อน้ำในบริเวณดังกล่าวมีน้ำใสตลอดปีและสามารถมองเห็นหินลูกแหร้และชั้นหินได้)แต่จากการเขียนป้ายของทางราชการ ใช้คำว่า บ่อแร่ จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ มีประชากรมากขึ้นจึงมีผู้คนหลายศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐานครบทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู ขงจื้อ เต๋า มีทั้งลาว พม่า จีน อินเดีย และฝรั่งชาวตะวันตก แต่หมู่บ้านแห่งนี้ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งเรื่องศาสนาทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เข้าใจในกฎเกณฑ์ของกันและกัน ต่างคนต่างยึดในศาสนาของตน ปัญหาความขัดแย้งไม่เกิดขึ้น ตลอดเวลาที่ชาวบ้านบ่อแร่ได้ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน
ถนนซอยทุกซอยในหมู่บ้านมาจากการอุทิศของชาวบ้านเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนี้
– ซอย สลามัต อุทิศโดย ครูเสนอ กูสลามัต
– ซอย สมันอุทิศ อุทิศโดย โต๊ะสมัน อับดุลล่า
– ซอย สามารถร่วมใจ อุทิศโดย เครือญาติสกุล สามารถ
– ซอย สมบูรณ์ อุทิศโดย เครือญาติสกุล สมบูรณ์
– ซอยประชาร่วมใจ อุทิศโดย ชาวบ้านบ้านบ่อแร่
– ซอย หน้าสุสาน อุทิศโดย นายสาด สมบูรณ์
– ซอยเฟื่องฟู อุทิศโดย นายแสน เฟื่องฟู
– ซอยนานาชาติ อุทิศโดย คุณหยุน ออฟูวงศ์ ตั้งชื่อโดย นายโสบ ยุคุณธร เนื่องจากซอยนี้เนื่องจากมีคนอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย ทุกชาติ ศาสนา ทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู เต๋า ขงจื้อ พม่า ไทย ลาว จีน อินเดีย ฝรั่ง
มัสยิดกียามุดดีน
มัสยิดหลังที่ 1 ชื่อมัสยิด บ้านบ่อแร่ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ตั้งอยู่ในที่ดินของเอกชน ชื่อ นายหลงสัน สมบูรณ์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ม. 3 ตำบลอ่าวมะขาม อำเภอทุ่งคาจังหวัดภูเก็ต เป็นอาคารยกพื้น ใต้ถุนโล่ง ปูพื้นกระดาน ฝาไม้ไผ่ขัดแตะ มุงจาก มีนาย ละไบอี โชคเกื้อ เป็นอิหม่าม มีอายุการใช้งานในการประกอบศาสนาได้ประมาณ 24 ปี (พ.ศ. 2474) จนกระทั่งไม่สามารถใช้ในการประกอบศาสนาได้เนื่องจากทรุดโทรมมาก
มัสยิดหลังที่ 2 เดิมชื่อ มัสยิดบ้านบ่อแร่ ในปลายปี พ.ศ.2474 จึงได้ย้ายมาสร้างมัสยิดในที่ดินของนายละไบอี โชคเกื้อ ห่างจากที่ดินเดิมประมาณ 500 เมตรซึ่งได้มอบที่ดินทั้งแปลงประมาณ 1 ไร่เศษให้เป็นที่ดินวากาฟ(สาธารณะประโยชน์) ได้ปลูกสร้างอาคารมัสยิด โดยการสละแรงและบริจาคทรัพย์ของสัปปุรุษ ในหมู่บ้านบ่อแร่ เป็นอาคาร ยกพื้นสูงปูกระดาน กั้นกระดาน หลังคามุงสังกะสี เสาตั้งบนพื้นดินรองปูน กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ตั้งอยู่ที่ ม. 3 ตำบลอ่าวมะขาม อำเภอทุ่งคาจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายฮัจยีสะ เป็นอิหม่ามและได้ขึ้นทะเบียนมัสยิด เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2493 ให้เปลี่ยนชื่อเป็น มัสยิดกียามุดดีน
ต่อมาทางราชการกระทรวงมหาดไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยยุบตำบลอ่าวมะขามไปรวมกับตำบลระแงง เป็นตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาสัปปุรุษเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ประกอบศาสนกิจไม่เพียงพอ จึงได้มีการเคลื่อนย้ายอาคารมัสยิดหลังเก่า โดยชาวบ้านช่วยกันหามไปไว้ใกล้ ๆ กับอาคารหลังใหม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 2514( หนังสืออนุสรณ์ เนื่องในโอกาส เปิดอาคารศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดกียามุดดีน บ้านบ่อแร่ เมื่อ วันที่ 2 ม.ค. 2547)
ข้อมูล : มัสยิดกียามุดดีน สร้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2514www.masjidinfo.com/mosque/info
หมู่ที่ 7 ชุมชนบ้านอ่าวมะขาม
บ้านอ่าวมะขาม ตั้งติดต่อกับหมู่ 6 มีโรงเรียนบ้านอ่าวน้ำบ่อ ประวัติมีมาว่า มีบ่อน้ำจืด ซึ่งติดกับน้ำเค็ม มีข้อสันนิษฐานว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีต้นมะขามใหญ่ปลูกเรียงราย (ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นได้)อ่าวมะขามเป็นท่าเรือสำคัญของเกาะภูเก็ตอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร สำหรับขนส่งยางพาราและแร่ น้ำมันปาล์ม เป็นท่าเรือสำคัญของเกาะภูเก็ตอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร สำหรับขนส่งยางพาราและแร่ น้ำมันปาล์ม นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.308 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ 105-2-13 ไร่ ความยาวหน้าท่า 360 เมตร ลึก 17 เมตร ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างเสร็จในปี 2531 และได้ส่งมอบท่าเรือภูเก็ตให้กับกรมธนารักษ์ ทางกรมธนารักษ์ได้มีการดำเนินการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ โดยให้บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด เข้ามาบริหารจัดการซึ่งในปีนี้ทางบริษัทฯ กำลังจะหมดสัญญากับทางกรมธนารักษ์ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการในระหว่างรอการต่อสัญญาฉบับใหม่ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือให้มีมาตรฐานสากลในการรองรับการขนส่งทางน้ำทั้งในด้านเรือท่องเที่ยวและเรือสินค้าอ่าวมะขามเป็นท่าเรือสำคัญของเกาะภูเก็ตอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งคลังน้ำมันและโรงงานถลุงแร่ดีบุกของบริษัทไทยซาร์โก้ มีเรือบรรทุกน้ำมันใหญ่จากต่างประเทศมาจอดถ่ายน้ำมันอยู่เป็นประจำ บริเวณนี้มีทิวทัศน์อันสวยงาม เป็นอ่าวมีหาดทรายสีขาวและต้นมะพร้าวจำนวนมาก ถัดมาทางด้านใต้จะเป็นแหลมพันวา ซึ่งเป็นหาดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสภูเก็ตเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ตำบลวิชิตปัจจุบันเพื่อดูกิจการเหมืองแร่ และเสด็จครั้งที่ ๓ วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๑ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามเสด็จ ตอนบ่ายเสด็จ ฯ เยี่ยมโรงถลุงแร่ดีบุกของบริษัทไทยซาร์โก้ พระราชกรณีดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดขวัญกําลังใจแก่ ผู้ประกอบการและราษฏรที่เป็นกลุ่มแรงงานในการทําเหมืองแร่ดีบุก เพื่อเป็นสินค้าหลักของจังหวัดที่สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดและประเทศไทยโดยส่วนรวม
มัสยิด ถังเก็บน้ำมัน มีโรงแรมที่เกาะตะเภาใหญ่ มีท่าเรือทะเลน้ำลึก และท่าเทียบเรือเล็ก ซึ่งนำแขกไปเกาะตะเภา และประมงเรือเล็ก เป็นเกาะที่มีนกเงือกมาก และสัตว์ปีกอื่น ๆ เป็นที่นักศึกษาควรจะไปทัศนศึกษาอย่างยิ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมง กรีดยาง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีกระโจมไฟ
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊) ผู้ว่าราชการเมืองตรัง สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต
ได้สร้างท่าเรือที่อ่าวภูเก็ต และขุดอู่จอดเรือในคลองภูเก็ต เพื่อให้เรือใบและเรือกลไฟขนาดใหญ่เข้าจอดได้ ท่าเรือนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ท่านเรศ”
หมู่ที่ 8 ชุมชนแหลมพันวาและชุมชนอ่าวยนต์
หมู่ที่ 8 ติดทะเลอันดามัน มีกองทหารเรือ โรงงานถลุงแร่ไทยซาโก้ โรงแรมเคปพันวา มัสยิด ศูนย์ชีววิทยา สัตว์น้ำเยอะสุดแหลมพันวาเลยโรงงานถลุงแร่ไปไม่ไกลนัก เป็นที่ตั้งของศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต ซึ่งน่าเที่ยวน่าชมมาก มีสัตว์น้ำนานาชนิด แม้กระทั่งปลาพะยูนเป็น ๆ ซึ่งในขณะนี้ทางศูนย์ชีววิทยาก่อสร้างเป็นอควาเรี่ยมขนาดใหญ่ เพื่อแสดงพันธ์ปลาต่าง ๆ และเป็นอควาเรี่ยมที่น่าชมที่สุดในประเทศไทย
สันนิษฐานว่าที่เรียกแหลมพันวา คงจะเป็นแหลมที่ยื่นออกไปในทะเล เป็นพันวา เลยตั้งเป็นชื่อแหลม อ่าวยน เป็นอ่าวที่มีทรายหล่ม จึงเรียกว่า อ่าวหยน เป็นที่เลี้ยงปลา เลี้ยงมุก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาชีพประมง รับจ้าง ทำสวน
หมู่ที่ 9 ประกอบด้วย ชุมชนท่าแครงบน และ ชุมชนศักดิเดช
หมู่ที่ 9 ได้แยกออกไปจากหมู่ที่ 1 ถนนศักดิเดช มีป่าช้า เรียกว่า สุสานกวางตุ้ง มีเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ ซึ่งเป็นที่ของพวกจีนก้งฮู้หลางสร้างไว้เป็นที่ฝังศพ เป็นสุสานเอกชน ประชาชนส่วนใหญ่รับจ้างทั่วไป เพราะอยู่ใกล้ตัวเมือง คนตำบลวิชิตสมัยก่อนคุ้นเคยกันทั้งตำบลและเป็นกันเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เวลานอนไม่ต้องปิดประตูลงกลอนก็ยังได้
ประวัติสถานที่สำคัญ
บ้านท่าแครง
จากหนังสือออก หลวงพิพิธภักดีสมบัติเจ้ากรมพระคลังมีไปถึง พระยาราชกปิตัน ตอนหนึ่งว่า “กบิตันมิศกัส ให้กับบิตันวีราเสน เอาสจุบขึ้นมารับเอาดีบุก ณ ท่าแกร่ง พอขุนท่าพรมขึ้นไปทัน ข้าฯจึงให้ดีบุกแก่ กบิตันวีราเสน แลดีบุกยังค้างอยู่ ณ ท่าแกร่ง 30 ภารา. …
www.phuketcity.info/default.asp?content=contentdetail&id=14104
ท่าแกร่ง ที่ระบุในจดหมายน่าจะเป็นบริเวณท่าแครงในปัจจุบันเนื่องจากบริเวณดังกล่าวในอดีตเป็นเมืองท่า จอดเรือ ค้าขายที่สำคัญ
สันนิษฐานว่าฝรั่งเรียกเมืองท่าแครงนี้ว่า เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) จากตามจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ บรีโกต์เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2305
เกิดเหตุการณ์ ชาวถลางปล้นเรืออังกฤษ เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศซึ่งราชการบ้านเมืองในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เนื่องจากการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และมีการสงครามระหว่างพม่าเข้ามาติดพันอีกด้วย ความระส่ำระสายในแผ่นดินจึงเกิดไปทั่ว มีใจความตอนหนึ่งว่า
“…ตั้งแต่ ครั้งสมัยก่อนๆมาพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาบัดนี้เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาขเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้า ราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แต่ก่อนๆมาผู้ที่มีความผิดฐานขบถฆ่าคนตายและเอาไฟเพาบ้านเรือนต้องรับพระราช อาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิงได้เปลี่ยนการลงโทษความผิดชนิดนี้เพียง แต่ริบทรัพย์และทรัพย์ที่ริบไว้ได้ต้องตกเป็นสมบัติของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้ง สิ้น ฝ่ายข้าราชการเห็นความโลภของเจ้านายผู้หญิงเป็นตัวอย่าง ก้หาหนทางที่จะหาประโยชน์บ้าง ถ้าผู้ใดเป็นถ้อยความแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็คิดหาประโยชน์จากคู่ความให้ได้มากที่สุดที่จะเอาได้ การทำเช่นนี้ก็ปิดความหาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบไม่ แต่ถ้าห่างพระเนตรพระกรรณออกไปแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็ลักขโมยอย่างไม่กลัวทีเดียว เมื่อปีกลายนี้ข้าราชการที่เมืองภูเก็ตได้ปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่งซึ่งได้หนี จากเมืองเบงกอลมาพักที่ภูเก็ตเพื่อหนีท่านเค้าน์ เดซแตง เมื่อปีนี้พวกข้าราชการเมืองภูเก็ตได้แนะนำให้เรืออังกฤษลำหนึ่ง เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่งเมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ใกล้เมืองโตยอง (Teyon) ซึ่งเป็นเมืองที่เข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้ ครั้นเรืออังกฤษได้ไปทอดที่เมืองแตร์แฟม พวกไทยและมลายูกับข้าราชการได้รู้กัน จึงได้ฟันแทงพวกอังกฤษและขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าในเรือไปจนหมดสิ้น ฝ่ายข้าราชการเมืองภูเก็ตได้ใส่ร้ายผู้เข้ารีตในเมืองโตยองเป็นคนปล้นและทำ ร้ายเรืออังกฤษ ลงท้ายสุดพวกเข้ารีตเหล่านี้พลอยฉิบหายไปเปล่าๆ ยังมีบาทหลวงคณะฟรังซิซแกลเป็นชาติโปรตุเกสคนหนึ่งได้ตายด้วยความตรอมใจและ ถูกทรมาน เพราะเจ้าพนักงานเมืองภูเก็ตได้จับบาทหลวงคนนี้ขังไว้ในระหว่างพิจารณาความ เกือบเดือนหนึ่ง“(ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๘ เล่ม ๙ หน้า ๓๙๕ – ๓๙๖)
เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ในจดหมายฉบับนี้ สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ฝรั่งเศส เรียก”บ้านท่าแครง”ในปัจจุบันนี้ เพราะเคยมีคลองสายใหญ่และลึกพอที่จะให้เรือเทียบท่าได้ เมืองภูเก็ตในฉบับนี้คือเมืองถลางทั้งหมด ส่วนเมืองส่วนเมืองโตยอง (Toyon) นั้น สันนิษฐานว่าคือ “บ้านตลาดนั่งยอง” ตำบลฉลอง ในปัจจุบันนี้ ซึ่งสมัยก่อนเคยมีคลองบางใหญ่ ที่เป็นสายน้ำขนาดใหญ่เกิดจากแนวภูเขานาคเกิดทางทิศตะวันตกของตำบลฉลอง ไหลลงสู่ทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต มีความกว้างและความลึกให้เรือกำปั่นแล่นเข้าสู่ชุมชนเมืองโตยอง หรือตลาดนั่งยองได้อย่างดี
จากข้อความ ”…เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่งเมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ใกล้เมืองโตยอง (Teyon) ซึ่งเป็นเมืองที่เข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้” ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นบริเวณ บ้านท่าแครงในปัจจุบัน ตามลักษณะภูมิศาสตร์ คือเดิมบริเวณดังกล่าวมีคลองซึ่งขุดเชื่อมอ่าวภูเก็ตที่มีการขุดแร่ดีบุกของชาวต่างชาติปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในตำบลวิชิตซึ่งติดกับตำบลฉลองที่มีชื่อเรียกว่าเมืองโตยองและมีคลองใหญ่ไหลผ่านซึ่งปัจจุบันยังมีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเรียกบริเวณนี้ว่าตลาดนั่งยองซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาฝรั่งเศสคำว่า โตยอง และลำคลองขนาดใหญ่ใกล้วัดฉลองในปัจจุบัน จึงตรงกับลักษณะที่กล่าวไว้ในจดหมาย ประกอบกับข้อมูลที่ว่า “ซึ่งเป็นเมืองที่เข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้” ปรากฏปัจจุบันมี โบสถ์คริสต์ บริเวณใกล้กับสามแยกท่าแครงและ หอประชุมทางคริสต์ศาสนาในพื้นที่ดังกล่าวรวมทั้งโรงเรียนที่ได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกคือโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา และโรงเรียน ดาราสมุทร ภูเก็ต ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของการเผยแพร่คริสตศาสนาในบริเวณดังกล่าว
ถนนศักดิเดช (ศักดิเดชน์)ซึ่งมีผู้ใช้ทั้ง 2 แบบ
ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามพระราชอิสริยยศเดิมเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ขณะประพาสมณฑลภูเก็ตวันที่ 24 มกราคม -11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต ทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดตรัง ระนอง ภูเก็ต และพังงา และได้เสด็จผ่านถนนศักดิเดชน์จากท่าเรืออ่าวมะขามเพื่อไปยังเหมืองเจ้าฟ้าซึ่งเดิมชื่อ ถนนสายสามแยกท่าแครง-อ่าวมะขาม (ข้อมูล : รายงานกิจการจังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2505) เมื่อมีการตั้งชื่อถนนใหม่จึงได้ตั้งตามพระอิสริยยศของพระองค์
บทความนี้ ถูกสร้างโดย สภาองค์กรชุมชนตำบลวิชิตและสภาวัฒนธรรมตำบลวิชิต
เรียบเรียงโดย นวลจันทร์ สามารถ
วารุณี งานทัศนานุกูล
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเกาะภูเก็ต จากอดีตถึงปัจจุบัน
เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องท่านผู้อ่านสามารถให้ข้อเสนอแนะและข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์สืบไป
ขอแสดงความนับถือ