ครบ ๑๐๘ ปีที่มีลูกเสือคนแรกของไทย

คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) บุตรคนที่ 4 ของพระยาวิชิตสงคราม

 

 

ในโอกาสที่ครบ ๑๐๘ ปีที่มีลูกเสือคนแรกของไทยและของทวีปเอเชีย และโอกาส ๑๒๔ ปีแห่งชาตกาล ขอสดุดีเกียรติคุณของท่าน ด้วยประวัติของนายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) มาแบ่งปันพี่น้องลูกเสือดังนี้
.
เสวกตรี นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค)
จ.ม.,บ.ช.,ว.ป.ร.๕,ร.จ.ท.(๖)
บุตรนายฉ่า บุนนาค มารดาชื่อ ทองสุก เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน
.
เมื่อยังเยาว์ คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) ผู้เป็นย่า ได้นำตัวเข้าถวายเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ) ได้นำนายชัพน์ บุนนาค ซึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือที่จะประกาศใช้ ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
.
“ต่อไปจึงมีพระราชดำรัสถาม น.ร.ม.ชัพน์ว่า “เองท่องคำสาบาลของลูกเสือได้หรือเปล่า” เรื่องนี้ครูได้สอนนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้ก่อนแล้วเมื่อรู้ตัวว่าให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นมา ฉะนั้น น.ร.ม.ชัพน์ จึงยืดตัวตรงยกมือแตะหมวกในท่าวันทยะหัตถ์ กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้ท่องมาแล้ว” และลงมือกล่าวคำสาบาล คือ
.
๑) ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒) ข้าจะตั้งใจประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย
๓) ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนลูกเสือ
.
พอ น.ร.ม.ชัพน์ กล่าวคำสาบาลจบ ก็มีพระกระแสรับสั่งต่อไปว่า
.
“ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เปนผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเปนลูกเสือคนแรกของประเทศสยาม”
.
(จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑, หน้า ๒๒๐ – ๒๒๑.)
.
เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเกียรติประวัติของนายชัพน์ ที่รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด บรรดาเพื่อนทั้งหลายก็พลอยตื่นเต้นด้วย เพราะขณะนั้นทั้งโรงเรียนหรือจะกล่าวทั้งประเทศไทย ก็ยังไม่มีใครได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเช่นนี้ คงมีแต่นายชัพน์เพียงคนเดียวเท่านั้น
.
หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว นายชัพน์ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง มียศเป็นมหาดเล็กวิเศษ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายรองพลพ่าย มหาดเล็กเวรสิทธิ์ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำกรมราชเลขานุการในพระองค์ ตำแหน่งหุ้มแพรวิเศษ นายเวรอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายลิขิตสารสนอง
.
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างดุสิตธานีขึ้น นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) ได้รับเลือกตั้งจากทวยนาครให้เป็นนคราภิบาลของดุสิตธานี ซึ่งเป็นคนที่ ๕ และเป็นคนสุดท้าย
.
นายลิขิตสารสนองได้เป็น ๑ ใน ๓ ผู้เขียนบัตรพระราชทานนามสกุล ฉลองพระเดชพระคุณในการทรงตั้งนามสกุลพระราชทาน ซึ่งมีจำนวนกว่า ๖๐๐๐ นามสกุล
.
พ.ศ. ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๗ ได้เป็นเลขาธิการ กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก ต่อมาทางการได้ยุบเลิกตำแหน่งนี้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
.
ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์ช้างเผือก เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๕ เหรียญราชรุจิทองรัชกาลที่ ๖ และเข็มวชิราวุธข้าหลวงเดิม
.
พ.ศ. ๒๕๒๔ นักเรียนเก่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ร่วมกันจัดงานฉลองพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีของรัชกาลที่ ๖ นายลิขิตสารสนอง ได้รับมอบหมายให้จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ เรื่อง หัวใจนักรบ นายลิขิตสารสนองได้พยายามทำงานนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับเงินบริจาคการกุศลมาสมทบทุนสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ เป็นจำนวนหลายหมื่นบาท และในโอกาสงานฉลองพระบรมราชสมภพนี้เอง นายลิขิตสารสนองได้มาร่วมงานในส่วนของลูกเสือ ซึ่งจัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัย โดยแต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวงมาร่วมในงาน
.
นายลิขิตสารสนองถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมอายุ ๘๖ ปี
.
นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) ได้สมรสกับนางลิขิตสารสนอง (เชียด บุนนาค) ธิดาหลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค) มีบุตรธิดา ๑๒ คน บุตรได้แก่ ไชยยนต์ สนธิยา ชวเลข เฉกชัพน์ รับวงศ์ อิทธิพงศ์ (พงศ์สอง) วิชชา ทวีศักดิ์ จักรกฤษณ์ และชูศักดิ์
.
ขอสดุดี เสวกตรี นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค)
ผู้เป็นลูกเสือคนของแรกของไทย และทวีปเอเชีย
ในวันครบรอบ ๑๐๘ ปีที่ได้เป็นลูกเสือคนแรก
๑๐ กรกฎาคม ๒๔๕๔ – ๒๕๖๒
.
(เรียบเรียงจากเว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค และเว็บไซต์วชิราวุธวิทยาลัย)

ดูน้อยลง
This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.