พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค)
- ธนเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
- กุมภาพันธ์ 14, 2023
- 0 ความคิดเห็น
รหัสชุดข้อมูล
TLD-002-119
ชื่อ – สกุล
พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค)
เกิด
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2389
เสียชีวิต
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2458
ประวัติ
พระยามนตรีสุริยวงศ์ นามเดิม ชื่น บุนนาค เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับเจ้าคุณหญิงเป้า เกิดในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2389
เมื่ออายุ 14 ปี บิดานำถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ 4 ได้ตามบิดาไปส่งองค์สมเด็จพระนโรดมที่เมืองกำปอด แล้วไปเมืองอุดงค์มีไชยเมื่ออภิเษกองค์สมเด็จพระนโรดมเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ต่อมาเมื่อได้ตามบิดาซึ่งเป็นข้าหลวงไปพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาสงขลา (สังข์)
พระยามนตรีสุริยวงศ์ฝึกหัดราชการอยู่กับบิดาจนถึง พ.ศ. 2409 พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรม ครั้นพ.ศ. 2410 อุปสมบทเป็นภิกษุ มีสมเด็จฯ กรมพระยาปวเริศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพิชยญาติการามพรรษา 1 ครั้นลาสิกขาแล้ว ได้ตามเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) แต่ยังเป็นพระยาเทพประชุน ไปปราบพวกจีนอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต
ถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายฉัน หุ้มแพรมหาดเล็ก เป็นหุ้มแพรได้ปีหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก ในระหว่างนี้ได้ตามเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองปัตตาเวีย และอินเดีย เมื่อโปรดให้สร้างตึกแถวตลอดถนนบำรุงเมือง เป็นการตกแต่งพระนครครั้งแรก โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นแม่กองด้วยผู้หนึ่ง
ต่อมาพ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช ออกไปเป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตก ประจวบกับกุลีเหมืองแร่ก่อการจลาจลที่เมืองภูเก็ต เจ้าหมื่นเสมอใจราชร่วมกับชาวเมืองได้ป้องกันรักษาเมืองภูเก็ตไว้จนกองทัพจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงไปถึงและปราบปรามพวกอั้งยี่จนเหตุการณ์สงบลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายกลับมากรุงเทพฯ และพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์ เมื่อพ.ศ. 2420 แล้วไปรับราชการในกระทรวงกลาโหม ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2423 จนถึง พ.ศ. 2427
ถึงพ.ศ. 2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ประจำอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ระยะเวลาที่พระยามนตรีสุริยวงศ์รับราชการอยู่ที่เมืองเชียงใหม่นั้น มีราชการสำคัญเกิดขึ้นคือ อังกฤษตีเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ. 2428 บรรดาเมืองประเทศราชไทยใหญ่ของพม่าที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยเกิดความวุ่นวาย พระยามนตรีสุริยวงศ์ต้องไปในกองทัพกับพระเจ้าเชียงใหม่ เพื่อรักษาชายแดนป้องกันเหตุร้ายไม่ให้ลุกลามเข้ามา จนเหตุการณ์ทางไทยใหญ่เรียบร้อย ในปีนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ยกกองทัพไปปราบปรามฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง กองทัพต้องเดินผ่านมณฑลพายัพ พระยามนตรีสุริยวงศ์ได้จัดเสบียงอาหารส่งกองทัพ
พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการเป็นอัครราชทูตสยามประจำประเทศอังกฤษ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม มีสำนักอยู่ ณ กรุงลอนดอน ในพ.ศ. 2432 จึงย้ายกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหม ในตำแหน่งผู้รั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระยามนตรีสุริยวงศ์ได้ออกไปปราบปรามโจรผู้ร้ายในแขวงเมืองราชบุรี เมื่อพ.ศ. 2436 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลวราภรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ 2 และได้เป็นรัฐมนตรีด้วย และรองเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในระยะเวลาต่อมา ถึงพ.ศ. 2445 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ
ถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระยามนตรสุริยวงศ์เป็น มหาอำมาตย์โท
พระยามนตรีสุริยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2458 อายุได้ 70 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
กาพย์ฉบังเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
ผู้เรียบเรียง
วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
จดหมายเหตุ แลนิราศลอนดอน ของหม่อมราโชไทย เรื่องราชทูตไทยประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ 4
เมื่อปีมะเสง จุลศักราช 1219 พ.ศ. 2400 ฉบับชำระใหม่ในหอพระสมุดวชิรญาณ. กรุงเทพฯ : โบราณคดีสโมสร, 2461. (พิมพ์แจกในงานศพพระยามนตรีสุริยวงษ์ฯ ชื่น บุนนาค ปีมะเมีย พ.ศ. 2461)
คำสำคัญ
ชื่น บุนนาค , นายฉัน หุ้มแพรมหาดเล็ก , เจ้าหมื่นเสมอใจราช , หัวหมื่นมหาดเล็ก , พระยามนตรีสุริยวงศ์ , สมุหพระกลาโหม ,