กว่าจะมาเป็น เมืองภูเก็ต ( 7 หัวเมือง ในอดีต)

เมืองถลาง เมืองที่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรม และประเพณีอันเก่าแก่ที่น่าค้นหา ในปัจจุบันขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น ได้ก้าวไปพร้อมๆกับความศิวิไลแห่งยุคไอที เรามาดูกันนะคะ ว่ากว่าเมืองถลางจะกลายมาเป็นเมืองภูเก็ตอย่างทุกวันนี้ เมืองถลางอันยิ่งใหญ่ของพวกเราได้ผ่านการปกครอง ในระบบเจ้าขุนมูลนาย อย่างไรมาบ้าง

เราไปเริ่มกันที่ เมืองถลางบางโรงค่ะ

เมืองถลางบางโรง เป็นเมืองที่มีอดีตการค้าอันยิ่งใหญ่ เพราะมีท่าเรือทั้งหมดถึง 3 แห่ง คือท่าเรือหลังกำแพง ท่าเรือตลาดหรือท่าต้นโด และท่าเรือหลังตึก และท่าเรือใหญ่ที่มีน้ำพอที่จะให้เรือใบขนาดใหญ่จอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าได้ก็คือ ท่าเรือตลาด และท่าเรือหลังตึก ส่วนท่าเรือหลังกำแพง ใช้สำหรับให้เรือใบขนาดเล็กให้เทียบท่าได้

เมืองถลางบางโรงเป็นเมืองที่เคยมีหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในยุคนั้นๆ เช่น ซากกำแพงปูนผสมหินปะการัง ,แนวกำแพง, เนินกำแพง, ที่เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองในสมัยนั้น มีการพบร่องรอยการถลุงแร่ดีบุก พร้อมด้วยเศษภาชนะต่างๆ พบเศษแร่แทนทาไลน์ หรือขี้ตะกรันเป็นจำนวนมาก เคยมีชาวบ้านขุดพบเหรียญต่างประเทศในบริเวณกำแพง เช่น เหรียญอีสต์ อินเดียคอมปานี ซึ่งเป็นเหรียญในสมัย ค.ศ.1804 (ตรงกับ พ.ศ. 2347 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ) และเหรียญ ENDER-LANDCE INDIE ค.ศ. 185 (ตรงกับ พ.ศ. 2401 สมัยรัชกาลที่ 4) นั่นแสดงให้เห็นถึงการค้าที่รุ่งเรืองในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เมืองถลางบางโรง มีบันทึกไว้อย่างเด่นชัด ว่ามีการปกครองโดยเจ้าเมืองในสายเลือดเดียวกัน ถึง 3 คน คือ

1.พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ ประสิทธิสงคราม (ทับ จันทโรจนวงค์) เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2391 – 2404

2.พระยาถลางคิน ( บุตรพระยาถลางทับ) เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2405-2412

3.พระยาถลางเกตุ (น้องชายพระยาถลางคิน ) เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2412-2433

แผ่นป้ายของเมืองถลางบางโรง เป็นภาพคนกำลังแบกถุงบรรจุแร่ดีบุก ขนลงเรือใบเสากระโดงหนึ่งหลัก ซึ่งจอดเทียบท่าเรือบริเวณเมืองถลางบางโรง ชายฝั่งมีกองถ่านพร้อมที่จะขนลงเรือ,ช้างเชือกหนึ่งกำลังกินอ้อยอยู่ระหว่างสวนมะพร้าวและเรือนหลังคาจากของชาวถลางบางโรง,ชาวนากำลังให้ควายคู่ลากไถทำนา

ช้างในแผ่นป้ายนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช้างของเจ้าคุณถลางคิน ชื่อพลายนิล และพลายเหม ที่ช่วยลากฟืนจากภูเขามาเผาเป็นถ่าน

เมืองถลางบ้านพอน หรือบ้านลี้พอน,บ้านลิพอน

ที่นี่เคยเป็นหัวเมืองเก่าของเมืองถลาง มีเจ้าเมืองถลางชื่อ จอมสุริน หรือ พระยาสุรินทราชา ซึ่งขณะนั้นบ้านลี้พอน ก็ยังเป็นแหล่งการค้าเหมือนที่อื่นๆ จอมสุรินผู้นี้ไม่มีประวัติที่แน่ชัด บ้างก็ว่าจอมสุรินผู้นี้คือ นายบิลลี่

นายบิลลี่ผู้นี้คือใคร ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2220 มองซิเออร์ ชาร์บอนโน ได้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลของไทย และได้ทำความดีความชอบ โดยได้ไปสร้างป้อมบริเวณพรมแดนไทย ติดกับพะโคได้สำเร็จ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง (แต่ไม่มีการระบุว่า เป็นเมืองถลางเขตใด) ระหว่างที่ ชาร์บอนโนเป็นเจ้าเมืองถลางนั้น ทำให้การค้าแร่ดีบุกบนเกาะถลาง ตกอยู่ในกำมือของฝรั่งเศสเพียงฝ่ายเดียว ชาวอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อแร่ดีบุกได้ที่เมืองไชยา ,ชุมพร, และพัทลุงเท่านั้น

ชาร์บอนโน เป็นเจ้าเมืองถลางอยู่ 4 ปี ก็ได้ลาออก และกลับไปอยู่อยุธยา จึงมีผู้มาดำรงตำแหน่งแทน คือ นาย บิลลี่ ชัวร์ ( ชัวร์ เดอ บิลลี่) ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่พักของขุนนางฝรั่งเศสคนหนึ่ง

ต่อมาเกิดความแตกร้าวขึ้นระหว่างขุนนางฝรั่งเศสกับขุนนางไทย ชาวฝรั่งเศสถูกขับออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก มองซิเออร์บิลลี่ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางเริ่มตั้งตัวเป็นกบฏ แต่ในที่สุดก็ถูกประหารชีวิต

หลังจากนั้นก็ได้มีเจ้าเมืองคนต่อมา ก็คือ “ พระยาถลางคางเซ้ง” (คังเส็ง) มารับช่วงเป็นเจ้าเมืองคนต่อมา ได้ปกครองพื้นที่ตั้งแต่บ้านลิพอนจนถึงบ้านนาใน แต่การปกครองในสมัยนั้นค่อนข้างที่จะวุ่นวาย และท่านพระยางถลางคางเซ้งก็ได้ปกครองเมืองถึง 30 ปี

แต่ที่มีหลักฐานเด่นชัดก็คือ จอมเฒ่า เคยเป็นเจ้าเมืองแห่งนี้ จอมเฒ่าเจ้าเมืองถลาง มีหน้าที่ดูแลช้างพันธุ์ดี เพื่อส่งไปให้เจ้าเมืองใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆจนเป็นที่ชื่นชอบ แม้กระทั่งเจ้าเมืองถลางบางโรง ก็ยังได้ช้างคู่ใจจากจอมเฒ่าผู้นี้

ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในเมืองหลวง จากการยึดอำนาจของคิงส์องค์ใหม่ (ใช้คำไทย ไม่ได้ค่า แหะๆ ) ใครที่เป็นข้าราชบริพารของคิงส์องค์ก่อน ไม่ว่าอยู่หัวเมืองใด จะต้องถูกประชีวิต จอมเฒ่าก็เช่นกัน ติดอยู่ในผู้ที่ต้องถูกประหาร บริวารของจอมเฒ่าถูกจับมาประหารที่บริเวณบ้านของจอมเฒ่า

ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เป็นทุ่งนา และมีรูปปั้นจอมเฒ่าตั้งไว้เพื่อเป็นที่คารพของชาวบ้าน ข้างๆรูปปั้นของจอมเฒ่า มีบ่อน้ำโบราณ ที่มีอายุมากกว่า 200 ปี บริเวณด้านนอกของบ่อน้ำชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะไว้เป็นอย่างดี แต่ถ้ามองลงไปในบ่อ จะเห็นก้อนหินโบราณก้อนใหญ่ๆ ได้อย่างชัดเจน เป็นก้อนหินที่คนสมัยก่อนนำมาสร้างบ่อน้ำ และน้ำที่บ่อแห่งนี้ก็ไม่เคยแห้งเลย

สถานที่ประหารเหล่าบริวารของจอมเฒ่าเมื่อในอดีตค่ะ ปัจจุบันเป็นทุ่งนาค่ะ

บริเวณทุ่งนาเหล่านี้ จะมีหินโบราณ ก้อนโตๆแบบนี้ เต็มไปหมดค่ะ

นี่คือบ่อน้ำโบราณของจอมเฒ่าเมื่อสมัยก่อนค่ะ มองลงไปในบ่อยังเห็นก้อนหินโบราณ ได้อย่างชัดเจนค่ะ สมัยก่อนตอนที่ที่บริพารของจอมเฒ่าถูกประหาร ในบ่อแห่งนี้มีแต่เลือดเต็มไปหมด ปัจจุบัน ชาวบ้านได้ช่วยกันดูแล รักษาค่ะ

และอีกหนึ่งความเชื่อของชาวบ้านที่เล่ากันมาต่อๆว่า ในสมัยที่พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองถลาง ชาวบ้านได้หลบภัยมาอยู่ที่นี่ ทหารพม่าตามหาชาวบ้านไม่พบ ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “ บ้านหลีกพ้น”

เมืองถลางบ้านดอน+บ้านเคียน
ถึงแม้ว่าจอมเฒ่าจะถูกลงโทษประหาร แต่ในที่สุดก็รอด เพราะว่าจอมร้างผู้เป็นน้องชาย (พ่อของท่านท้าวเทพฯ) ซึ่งเป็นคนสนิทของคิงส์องค์ใหม่ จอมร้างทูลขอชีวิตพี่ชายไว้ และได้รับการเว้นโทษ แต่ถึงกระนั้น จอมเฒ่าก็ต้องยอมยกลูกสาวคนหนึ่งให้กับแม่ทัพใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในสมัยนั้น หลังจากจอมเฒ่าได้รับการเว้นโทษ จึงได้อพยพครอบครัวและบริพารที่คงเหลือ ข้ามป่า ข้ามภูเขา มาสร้างเมืองถลางบ้านดอน

และที่นี่เอง จอมเฒ่าได้สร้างเมืองขึ้นมาอย่างแข็งแรง มีกำแพงล้อมรอบ นอกกำแพงบริเวณหลังจวนของจอมเฒ่ามีคอกม้า คอกช้าง และมีคุก พื้นที่ส่วนมากของเมืองถลางบ้านดอนเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา และมีการทำนามากกว่าหัวเมืองอื่นๆ

นับว่าจอมเฒ่าเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่ง ที่ทำให้เมืองถลางบ้านดอน เข้าสู่ยุคแห่งการค้าขายและแลกเปลี่ยน จอมเฒ่าได้ทำการค้าแร่ดีบุกกับหลายๆประเทศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ จอมเฒ่าปกครองเมืองถลางบ้านดอนจนถึงแก่อนิจกรรม เมืองถลางบ้านดอนจึงย้ายไปอยู่ที่ เมืองถลางบ้านเคียน

ในสมัยก่อนชาวบ้านเคยขุดพบของโบราณที่บริเวณบ้านของจอมเฒ่า เช่น พบรอยกำแพงเมือง, ปืนใหญ่, ปืนยาว, ลูกปืน, หัวแหวนนะโม และแร่ขี้ตะกรัน เป็นจำนวนมาก

เมื่อไม่นานมานี้ (ช่วงเดือนกรกฎาคม 2550) มีนักประวัติศาสตร์รุ่นเยาว์จากโรงเรียน สตรีภูเก็ต ได้ทำการขุดหารอยกำแพงเมืองต่อจากของเดิมที่ได้ขุดไว้ ทำให้พบซากรอยกำแพงเป็นก้อนอิฐโบราณขนาดใหญ่ พบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา และชิ้นส่วนถ้วยชามที่มาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศยุโรป ประเทศจีน ประเทศเวียตนาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

กำแพงเมือง ที่มีการขุดพบค่ะ

มองเห็นแนวกำแพงได้อย่างชัดเจนค่ะ
 

ก้อนอิฐโบราณ จะเป็นก้อนขนาดใหญ่แบบนี้ค่ะ และตรงนี้คือส่วนที่เป็นเสาของกำแพงเมืองค่ะ
 

ภาพบนแผ่นป้ายของเมืองถลางบ้านดอน มีภาพพระภิกษุกำลังบิณฑบาตร ภาพชาวเมืองถลางบ้านดอนช่วยกันถลุงแร่ดีบุก เพื่อส่งเป็นสินค้าส่งออก หรือไว้แลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ แร่ดีบุกได้มาจากการทำเหมืองและการร่อนแร่ด้วยเลียง ด้านหลังการร่อนแร่เป็นภาพชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาสวมหมวกเตยทรงหกเหลี่ยมอันเป็นลักษณะพิเศษ ไม่มีที่ใดเหมือน

ลำน้ำพังงา
บางคนอาจจะแปลกใจว่าทำไม ลำน้ำพังงา มาเกี่ยวข้องกับเมืองถลางได้ นั่นก็เพราะว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 ครั้งเมื่อสมัยที่พม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า, ตะกั่วทุ่ง, เมืองถลาง ได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว่ที่ค่ายพม่า รวมทั้งเผาเมืองถลางจนวอดวาย แต่ได้มีราษฎรบางส่วนหนีพ้นจากพม่า ได้อพยพไปหลบภัยอยู่ที่ “กราภูงา” ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำพังงา เป็นสถานที่มีภูเขาล้อมรอบ และปลอดภัย

หลังจากที่ทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาช่วยรบจนชนะพม่า ชาวถลางจะย้ายกลับก็ไม่ได้ เพราะเมืองถลางถูกเผาทำลายจนหมด จะตั้งเมืองใหม่ขึ้นมาก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังที่จะรักษาบ้านเมือง แล้วถ้าพม่ายกกองทัพมาอีก ทางหัวเมืองก็จะไปช่วยไม่ทันเพราะเมืองถลางเป็นเกาะ จึงได้มีการรวบรวมเอาผู้คนที่ยังหลงเหลืออยู่ที่เมืองถลาง ข้ามมาอยู่รวมกันที่ลำน้ำพังงา แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง และจัดการปกครองให้เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฎว่ามีหมู่บ้านชื่อ “ถลาง” ซึ่งเป็นที่รวมผู้คนที่อพยพมาจากเมืองถลาง ที่ตั้งของเมืองถลางในสมัยก่อนก็คือ บริเวณเหมืองเก่า และบริเวณจวนผู้ว่าอำเภอตะกั่วป่าในปัจจุบัน

ถลางเมืองใหม่
หัวเมืองแห่งนี้ชื่อ ถลางเมืองใหม่ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนนั้นพม่าทำสงครามแพ้อังกฤษจนต้องเสียเมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีให้แก่อังกฤษ อังกฤษจึงปิดหนทางพม่าไม่ให้รุกรานไทยได้อีก ไทยก็หมดสาเหตุที่จะต้องกลัวพม่า ทำให้ชาวเมืองถลางกลุ่มหนึ่งที่ได้หลบภัยไปอยู่ที่ลำน้ำพังงา อยากจะกลับมายังเกาะถลางถิ่นเดิม ประกอบกับมีการเริ่มทำมาค้าขายกับฝั่งต่างประเทศเป็นล่ำ เป็นสัน ขึ้นมาใหม่ และแร่ดีบุก เป็นสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศต้องการเป็นอย่างมาก ผู้คนจึงพากันกลับมาตั้งหลักฐานหาเลี้ยงชีพด้วยการขุดแร่บนเกาะภูเก็ตอีกครั้ง จึงได้ตั้งเมืองถลางขึ้นมาใหม่ และเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับกรุงเทพฯ แต่เป็นการตั้งเมืองในช่วงระยะสั้นๆ จึงเรียกว่า “ถลางเมืองใหม่”

จุดนี้ค่ะ บริเวณ “ถลางเมืองใหม่” มีศาลหลักเมืองตั้งอยู่ค่ะ
 

ถลางท่าเรือ

ถลางท่าเรือ สถานที่แห่งนี้เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่อดีต เคยเป็นท่าเรือใหญ่ที่ชาวต่างประเทศต้องแวะมาติดต่อกับเมืองถลาง บริเวณท่าเรือเคยเป็นที่อยู่ของ “พระยาพิมลขันธ์” ผู้เป็นสามีของท้าวเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2327 สมัยก่อนที่นี่มีบ้านเรือนอยู่ราว 80 หลังคาเรือนเท่านั้น

ท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นแหล่งการค้าที่สมบูรณ์ที่สุด แขกบ้านแขกเมืองที่จะเข้ามาติดต่อการค้ากับหัวเมืองต่างๆ ก็ต้องนำเรือมาขึ้นลงที่ท่านี้ แล้วจึงนั่งช้าง หรือขี่ม้าออกไปยังหัวเมืองนั้นๆ

ภายในบริเวณท่าเรือก็จะมีการค้ารายย่อย เช่น เสื้อผ้า แพรพรรณ เครื่องประดับต่างๆ และชาวเมืองถลางท่าเรือก็มักจะนำสินค้าพื้นเมือง เช่น ดีบุก หรือของป่า มาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเหล่านั้น เมืองถลางท่าเรือเคยมีเจ้าเมืองที่มาจากพ่อค้า ชื่อเจ๊ะมะ หรือมะเจิม

เจ๊ะมะ หรือเจิม เป็นบุคคลในตระกูลเชื้อสายเจ้า ผันชีวิตตนเองมาเป็นพ่อค้าที่มีชื่อเสียงอยู่ที่เมืองถลางท่าเรือ มีสมาชิกที่ร่วมกันทำการค้าที่บ้านท่าเรือเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยานครได้ยกถลางท่าเรือขึ้นเป็นเมือง และให้เจ๊ะมะ เป็นพระยาถลาง ปกครองเมืองถลางท่าเรือ ต่อมามีประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการยกเมืองถลางขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนพระถลางเจิม ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถลางเจิม

พระยาถลางเจิมมีบุตรชายชื่อแก้ว ได้ตำแหน่งเป็นพระภูเก็จอยู่ที่บ้านเก็ตโฮ่ พระภูเก็ตแก้ว มีบุตรชายชื่อทัด ได้เป็นพระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็ต

ในปี พ.ศ. 2491 ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกุลีจีนต่างก๊ก เรื่องผลประโยชน์ของการค้าแร่ ทำให้ผู้คนเดือนร้อน และล้มตายเป็นจำนวนมาก ท่านพระยาวิชิตสงครามจึงได้ออกจากเมืองภูเก็ต มาสร้างบ้านที่แข็งแรงดั่งป้อมปราการในที่ดินของปู่ (พระยาถลางเจิม)

ต่อมาพระยาวิชิตสงครา แก่ชราลง ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นพระยาจางวาง จึงได้ยกบ้านหลังนี้ให้กับพระยาภูเก็จลำดวน บุตรคนโตของท่าน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็จ แต่พระยาภูเก็จลำดวนได้ติดค้างค่าภาษีอากร จึงมอบบ้านหลังนี้ให้เป็นของหลวง ปัจจุบันบ้านหลังนั้น ได้กลายเป็นโบราณสถานของจังหวัดภูเก็ต

นี่คือบริเวณท่าเรือเก่าค่ะ ปัจจุบันพื้นที่นี้ อยู่ติดกับ บ้านพระยาวิชิตสงคราม ค่ะ

บริเวณศาลเจ้า ก็คือ ท่าเรือเก่าค่ะ

เมืองถลาง
ถลาง ไม่ได้เป็นคำในภาษาไทยมาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นคำในภาษามาลายู อ่านว่า ทาลัง(talang) แปลว่าหมู่บ้านเล็กๆ คนจากหลายประเทศได้เข้ามาอยู่ในเมืองถลาง เพื่อทำการค้า เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา อินเดีย จีน สินค้าหลักในการทำการค้าก็คือแร่ดีบุก สินค้ารองลงมาก็คือ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา รวมทั้งทรัพยากรทางทะเล เช่น อำพัน ไข่มุก เป็นต้น

เมืองถลางเคยมีบันทึกไว้ในหนังสือจีน ของเจาซูกัว (Tehau Jou-kour) ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 1768 และได้ระบุชื่อว่า เมืองสิลัน (Si-lan) ต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาการค้าขายระหว่างไทย กับฮอลันดา ในปี พ.ศ. 2207 ก็ปรากฏว่ามีชื่อเมือง โอทจังซาลัง อยู่ในสัญญาด้วย เมืองสิลันหรือโอทจังซาลัง นี้ก็คือ เมืองสลาง หรือเมืองถลาง นี่ล่ะค่ะ

หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง ระหว่างไทย กับฝรั่งเศส ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2231-2232 ทำให้การพัฒนาประเทศ และการค้าขายกับต่างประเทศหยุดชะงักไป และยังทำให้ชื่อเสียงของเมืองถลางเลือนหายไปเป็นเวลานาน ทำให้เกิดผลเสียต่อเกาะถลางอีกมากมาย เช่น ไม่มีเรือรบไว้ป้องกันชายฝั่ง ทำให้พวกโจรสลัดมลายู ออกปล้นเรือสินค้า โดยไม่เกรงกลัวผู้ใด เจ้าเมืองในอดีตสมัยนั้น ก็ไม่มีความเป็นธรรมสักเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มคนจีนที่ซื่อสัตย์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการคุมแร่ดีบุกของท่านท้าวเทพฯจากเมืองถลาง นำไปให้พระยาราชกปิตัน ฟรานซิส ไลท์ ที่เกาะปีนัง เมื่อปี พ.ศ. 2329

เมื่อถึงสมัยจัดระบบ มณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ 5 เมืองถลางก็เลยถูกยุบลงเป็นเพียงอำเภอ เรียกว่า “อำเภอถลาง” ขึ้นอยู่กับเมืองภูเก็ตตั้งแต่ พ.ศ. 2442 จนมาถึงกระทั่ง เมื่อ พ.ศ. 2458 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอเมืองถลาง” เพราะเหตุเคยเป็นที่ตั้งของเมืองเก่ามาก่อน แต่แล้วเปลี่ยนมาเรียกว่า “อำเภอถลาง” อย่างเดิม (เปลี่ยนจนเหนื่อยเนอะ อิอิ) เมื่อ พ.ศ. 2481 มาจนทุกวันนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผ.ศ. สมหมาย ปิ่นพุธศิลป์ ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ

* พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดภูเก็ต

* คุณขุนนางอยุธยา

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=phukettinlay&group=17

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.