พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )
- ธนเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
- กุมภาพันธ์ 14, 2023
- 0 ความคิดเห็น
พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )
พระวิเชียรภักดี ( เจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) คือ พระถลาง เจ้าเมืองถลาง ผู้สร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ หลังจากถูกพม่าเผาสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๕๔ ท่านมีภรรยาและบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ แก้ว ข้าหลวงเมืองพังงาได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายแก้ว เมื่อโตเป็นหนุ่มได้บวชเรียนหนังสือที่เมืองพังงา และเข้ารับราชการที่เมืองพังงา จนได้แต่งงานกับคุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่งธิดาหลวงเมือง เมืองพังงา นายแก้วและคุณแจ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเห็นว่าเมืองถลางซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างบ้านแปงเมืองชึ้นมาใหม่ หลังจากที่พม่าทำลายบ้านเมืองย่อยยับเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ จึงขออนุญาตผู้ใหญ่จากเมืองพังงาและแจ้งมายังเจ้าเมืองถลางคือ พระถลาง ( เจิม )ผู้เป็นบิดาว่าต้องการมารับราชการที่เมืองถลาง พระถลางเจิมจึงอนุญาตให้บุตรและบุตรสะใภ้ลงมายังเมืองถลาง แต่ท่านเห็นว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ หลังจากที่พม่าทำลายเมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๒ ยังไม่ได้รับการบูรณะรวบรวมผู้คนให้ทำการร่อนแร่ดีบุก พระถลางจึงแต่งตั้งนายแก้วลงมาประจำอยู่เมืองภูเก็ตท่าเรือ เพื่อช่วยหลวงวิชิตภักดี ( เริก ) เก็บส่วยสาอากรฤชาธรรมเนียมต่างๆส่งไปยังเมืองถลางและกรุงเทพฯ
แต่เดิมครั้งสมัยคุณหญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรี ท่านได้แต่งตั้งนายเทียน บุตรชายคนโตลงมาเป็นผู้เก็บส่วยสาอากรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์ในตำแหน่ง “เมืองภูเก็จ” บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มีศักดินา ตั้งแต่ ๖๐๐ ๘๐๐ และ ๑๐๐๐ ต่อมา “เมืองภูเก็จ” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทุกขราช ปลัดเมืองถลาง และพระยาถลาง ( เทียน ) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังเสียเมือง พ.ศ. ๒๓๕๒ หลวงวิชิตภักดีเป็นผู้เก็บภาษีดีบุก และได้เป็น พระภูเก็ต ( เริก ) เจ้าเมืองภูเก็ต จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๐ พระยาถลาง(เจิม)ถึงแก่อนิจกรรม พระภูเก็ต(เริก)จึงได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นพระยาถลาง(เริก)
นายแก้วรับราชการดูแลเรื่องภาษีแร่ดีบุก จนเป็นที่ไว้วางใจแก่เจ้าเมืองถลาง ต่อมาได้มีการขยายการขุดแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา คืออำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน ชาวบ้านและชาวต่างประเทศตลอดจนชาวจีนจึงได้อพยพบางส่วนไปขุดร่อนหาแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา โดยมีนายแก้วดูแลวางแผนควบคุมพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ จากหมู่บ้านเล็กๆกลายเป็นตำบลและเมืองใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนภาษีแร่ดีบุกที่จะต้องส่งเมืองถลางและส่งเข้ากรุงก็มากขึ้นตามไปด้วย อาคารบ้านเรือนได้ก่อสร้างเป็นตึก การดูแลท่าเรือให้เรือใหญ่เข้ามาขนสินค้าได้สะดวก นายแก้วจึงต้องย้ายที่ทำการส่วนหนึ่งจากเมืองภูเก็ตมายังเมืองทุ่งคา และพัฒนาควบคู่ไปด้วย
ทางราชการ ณ กรุงเทพฯจึงยกให้เป็นเมืองทุ่งคาขึ้นตรงต่อเมืองถลาง และนายแก้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์” เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ภายหลังจากที่พระภูเก็ต(เริก)ได้ย้ายไปเป็นพระยาถลางแล้ว พระภูเก็ต ( แก้ว ) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อหากุลีและได้ชาวจีนไหหลำ จีนมาเก๊าจำนวน ๓๐๐ คนพาไปเป็นกรรมกรบุกเบิกการทำเหมืองแร่ดีบุกให้เอิกเกริกกว่าแต่ก่อนที่มีคนเพียงสี่ห้าคนต่อเหมือง นอกจากนี้ท่านยังได้ขยายเขตการขุดหาแร่ดีบุกออกไปยังบ้านท่าแครง บ้านหล่อยูง บ้านสามกอง นอกจากที่ตำบลทุ่งคาซึ่งบริเวณแถบนี้ สายแร่ดีบุกอยู่ไม่ลึก จึงสะดวกต่อการขุดแร่ให้ได้จำนวนมาก ท่านได้ให้คนจีนเหล่านี้จัดกั้นทำนบฝายกั้นน้ำแต่งคลองส่งน้ำเข้าเหมืองและถ่ายเทน้ำขุ่นจากการทำเหมืองลงทะเล แล้วยังขยายตลาด สร้างบ้านที่อยู่อาศัยออกไปอีกเป็นจำนวนมาก พระภูเก็ต(แก้ว) ยังได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นวัดกลางหรือวัดมงคลนิมิตร ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ทราบกันต่อๆมาว่า วัดนี้เป็นวัดของตระกูลรัตนดิลกเป็นผู้สร้าง เมื่อคนในตระกูลรัตนดิลกถึงแก่กรรมให้เผาศพที่วัดนี้ เช่น คุณนายวัน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (บุตรสาวพระเทพธนพัฒนา กระต่าย ณ นคร ) ภรรยา นายศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ( บุตรหลวงนรินทร์บริรักษ์ ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙
พระภูเก็ต ( แก้ว ) มีภรรยา มีบุตรและธิดาหลายคน บุตรที่เกิดจากคุณแจ่ม ธิดาหลวงเมืองพังงาชื่อ ทัต ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ นายทัตได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานภายหลังจากบวชแล้วสึกออกมารับราชการกับบิดา ส่วนบุตรคนที่สองชื่อ นายบุตร คนที่สามคือ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์) คนที่สี่คือ หลวงราชรองเมือง ( คง ) คนที่ห้าไม่ทราบชื่อ คนที่หกไม่ทราบชื่อ คนที่เจ็ดคือ นายร้อยโทเจิม คนที่แปดคือ พระรัตนดิลก ( เดช ) ตั้งแต่คนที่สองถึงคนที่หกไม่ทราบชื่อมารดา คนที่แปดมารดาชื่อพรมเนี่ยวคือ นายเดช ต่อมาเป็น พระรัตนดิลก เป็นนายอำเภอเมืองทุ่งคา(ภูเก็ต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ฝ่ายนายทัตมื่ออายุพอสมควร ได้แต่งงานกับคุณเปี่ยม ธิดาพระยาถลาง ( ทับ ) เมืองถลาง คุณเปี่ยมมีฐานะเป็นเหลนของท้าวเทพกระษัตรี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ที่เติบใหญ่มีชื่อเสียงคือ คุณหญิงรื่น เป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ณ นคร ) แห่งเมืองนครศรีธรรมราช นายลำดวน ได้เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เจ้าเมืองภูเก็ต คุณหญิงเลื่อม เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ ส่วนคุณหญิงฟอง ภรรยาพระยาไกรเพชรรัตนสงคราม ( แฉ่ บุนนาค )มารดาเป็นอนุภรรยาไม่ทราบนาม ภรรยาอีกคนหนึ่งคือ คุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่ง ธิดาพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี ( ถิน ณ ตะกั่วทุ่ง ) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่งไม่ทราบนามบุตรธิดา
นายทัตได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนได้เป็น หลวงมหาดไทย (ทัต) กรมการเมืองถลาง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิทักษ์ทวีป ช่วยราชการบิดาที่ภูเก็ต หลังจากที่พระภูเก็ต ( แก้ว ) บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ จึงได้รับพระกรุณาฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) แทนบิดา เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และได้ดำเนินการพัฒนาเมืองภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่องเจริญก้าวหน้าสามารถเก็บส่วยสาอากรได้มาก กลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่เท่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองถลางซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถลาง กับเมืองภูเก็ตซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภูเก็ต ให้ไปขึ้นกับเมืองพังงาทั้งสองเมือง และโปรดฯให้เลื่อน พระภูเก็ตเป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) มีฐานะเกียรติยศเท่าเมืองถลาง เมื่อพระยาภูเก็ต ( ทัต )อายุได้ ๓๙ ปี ในปีพ.ศ. ๒๔๐๖ ส่วนผู้ช่วยราชการหรือรองเจ้าเมือง จากหลวงพิทักษ์ทวีป เป็น พระอาณาจักรบริบาล
พระภูเก็ต ( แก้ว ) จึงเป็นบุคคลสำคัญของเมืองทุ่งคาที่ได้ริเริ่มบุกเบิก จัดการสร้างเมืองภูเก็ตให้เป็นระบบ โดยเฉพาะตลาดเมืองภูเก็ต ทั้งอาคารบ้านเรือน และหน่วยราชการ ซึ่งต่อมาได้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีชื่อเสียง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒
Title : Phra Phuketlohagasettrarug ( Kaew Rattanadilog Na Phuket )