จังหวัดภูเก็ต ร่วมสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม เชิดชูเกียรติผู้ตั้งเมืองภูเก็จ

จังหวัดภูเก็ต ร่วมสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม เชิดชูเกียรติผู้ตั้งเมืองภูเก็จ

—————–

จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ เทศบาลนครภูเก็ต วัดวิชิตสังฆาราม และประชาชนชาวภูเก็ตทุกภาคส่วน  ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ประดิษฐาน ณ วัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) เพื่อเชิดชู และระลึกถึงคุณงามความดีผู้ตั้งเมืองภูเก็จ เมื่อ ๑๗๐ ปีที่แล้ว

ประวัติย่อพระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)

พระยาวิชิตสงคราม รามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ์ พิทักษสยาม รัฐสีมา มาตยานุชิต พิพิธภักดี        พิริยพาหะ จางวาง (วิเศษ) (ทัต  รัตนดิลก  ณ  ภูเก็ต) หรือพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต)เป็นบรรพบุรุษของตระกูลรัตนดิลก  ณ  ภูเก็ต และเป็นเจ้าเมืองภูเก็จสามรัชกาล คือ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่  ๓  ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ ๔  และต้นรัชกาลที่ ๕ (ปีพ.ศ.  ๒๓๙๒-๒๔๑๒) เป็นบุตรของพระภูเก็จ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จในสมัยรัชกาลที่ ๓          กับอำแดงแจ่ม ธิดาพระยาตะกั่วทุ่ง (ถิ่น) เป็นหลานปู่พระยาถลางหรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม)เจ้าเมืองถลาง (พ.ศ. ๒๓๕๔ – พ.ศ.๒๓๘๐)

เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๓๙๒ ปลายสมัยรัชกาล ๓ หลวงพิทักษ์ทวีป (ทัต) ได้รับการ    เลื่อนยศขึ้นเป็นพระภูเก็จ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็จ แทนบิดา

พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นเจ้าเมืองที่มีความสามารถสูง ได้ตั้งเมืองภูเก็จใหม่ขึ้นในบริเวณรอบอ่าวทุ่งคา(ตัวเมืองภูเก็ตปัจจุบัน)  ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยแหล่งแร่ดีบุก  มีการประกอบกิจการเหมืองแร่และการค้าในเมืองภูเก็จที่เจริญเติบโตไปพร้อมกับการสร้างเมืองภูเก็จ  โดยท่านได้ชักชวนให้กรรมกรชาวจีน พ่อค้าชาวจีนทั้งที่มาจากเมืองจีนและจากกรุงเทพฯมาทำเหมืองแร่ดีบุก  ทำให้ตัวเมืองภูเก็จสมัยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีการค้าขายกับต่างประเทศและมีเงินภาษีส่งเข้าส่วนกลางเป็นจำนวนมาก จนเจ้าเมืองภูเก็จได้รับ   ศักดินา ๑๐,๐๐๐  ไร่  โดยเฉพาะที่ดินบริเวณเชิงเขาโต๊ะแซะ  ซึ่งปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ต  ศาลจังหวัดภูเก็ต  สถานที่ราชการต่างๆรวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน)

พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ศิริรวมอายุ ๕๔ ปี

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

การจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)  เป็นความร่วมมือของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต วัดวิชิตสังฆาราม และประชาชนชาวภูเก็ตทุกภาคส่วน เพื่อเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดีและเผยแพร่เกียรติคุณของผู้ตั้งเมืองภูเก็ตเมื่อ ๑๗๐ ปีที่แล้ว

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ที่กระตุ้นเตือนให้ลูกหลานชาวภูเก็ตและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งจะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูเก็ตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ประติมากรผู้ปั้นรูปจำลองพระยาวิชิตสงครามฯ คือ อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ซึ่งเป็นประติมากรไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์สันติที่ผ่านสายตาคนไทย คือ งานประติมากรรมพระรูปเหมือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแย้มพระสรวล ซึ่งได้เริ่มต้นงานปั้นในสถานที่ที่พระองค์ท่าน   ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เคมบริดจ์, รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาจารย์สันติ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมาสร้างผลงานประติมากรรมเหมือนจริงพระยาวิชิตสงครามฯ ให้กับชาวภูเก็ต

ที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ จะประดิษฐานอยู่บริเวณมุมหน้าวัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ระหว่างถนนนริศรกับถนนเทศา ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งเมืองภูเก็ต

รายละเอียดอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

วัสดุ                                  ซิลิคอนบร็อนซ์ (สำริด)

ขนาดรูปหล่อ                        สูง ๒.๕๕ เมตร กว้าง ๑.๙๙ เมตร ลึก ๑.๙๙ เมตร

ขนาดฐานอนุสาวรีย์                สูง ๑.๘๐ เมตร กว้าง ๒.๓๐ เมตร ลึก ๒.๓๐ เมตร

โรงหล่อ                              สมบุญไฟน์อาร์ท อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

พื้นที่ลานบริเวณอนุสาวรีย์         ๑๖๔ ตรม.

งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯทั้งหมดประมาณ 8.7 ล้านบาท (แปดล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน)    โดยแบ่งเป็น งานประติมากรรม ๗.๕ ล้านบาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) และงานสร้างฐานลานบริเวณอนุสาวรีย์ประมาณ ๑.๒ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนบาท)

โดยมีกำหนดการในการดำเนินงาน ดังนี้

การวางศิลาฤกษ์ฐานอนุสาวรีย์ฯ โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในวันศุกร์ ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๙ น.

การประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ  โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน   ฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในวันศุกร์ ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓        เวลา ๐๙.๐๙ น.

       นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า เทศบาลนครภูเก็ต รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เจ้าเมืองนักพัฒนา ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถอันก้าวไกล เป็นผู้บุกเบิกทำแร่ดีบุกบ้านทุ่งคา จนทำให้การค้าขายในตัวเมืองเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนคับคั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเมืองภูเก็ต (แห่งใหม่) ที่บ้านทุ่งคาขึ้น

อีกทั้งพระยาวิชิตสงคราม  (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ท่านได้ชักชวนและสนับสนุนให้ชาวจีน จากเมืองปีนังและสิงคโปร์เดินทางเข้ามาลงทุนสัมปทานในการขุดหาแร่ในเมืองภูเก็ต นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง ได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนทำการเกษตรปลูกข้าว ทำนา ทำไร่ ทำสวน และได้ทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้เมืองภูเก็ตเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาจวบจนปัจจุบัน

การจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือของ          ทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต ที่ได้ร่วมกันยกย่องเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดี และเผยแพร่เกียรติคุณของผู้สร้างบ้านแปงเมืองภูเก็ต อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) จะเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ที่จะกระตุ้นเตือนให้ลูกหลานชาวภูเก็ตและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ และพักผ่อนหย่อนใจของจังหวัดภูเก็ตอีกแห่งหนึ่ง

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศบาลนครภูเก็ต ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ยกย่องเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดี และเผยแพร่เกียรติคุณ พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดนิทรรศการ 170 ปี เมืองทุ่งคา พระยาวิชิตสงคราม ในงานย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ ๒๐ ที่ผ่านมา และพร้อมให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนในการดำเนินงานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และพิธีสมโภชอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เพื่อแสดงถึงความเคารพและยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สร้างนครภูเก็ต และเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ทุกภาคส่วนในการรับผิดชอบ ฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทางด้านประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาให้เป็นที่รู้จักในแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตต่อไป

This error message is only visible to WordPress admins

Error: No feed found.

Please go to the Instagram Feed settings page to create a feed.