กำเนิด(และจุดเสื่อม)ของกลุ่มอำนาจเดิมในภูเก็ต ยุครัฐชายขอบ (ตอน 1)
- ธนเดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
- กุมภาพันธ์ 14, 2023
- 0 ความคิดเห็น
ภูเก็ตในปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกก็ว่าได้ แต่หากย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อน เกาะภูเก็ตเคยอยู่ในสภาพดินแดน “ชายขอบ” ก็ว่าได้ กล่าวคือ ดินแดนในสภาพมีอิสรภาพจากการควบคุมของพระราชอำนามากกว่าดินแดนที่ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจ จากการศึกษาของนักวิชาการที่ผ่านมาพบว่า สถานะของรัฐชายขอบนี้สลายลงเมื่อรัฐบาลกรุงเทพฯ ปฏิรูปการปกครอง
การศึกษาเกี่ยวกับรัฐชายขอบของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งปรากฏในบทความ “จากรัฐชายขอบ ถึงมณฑลเทศาภิบาล : ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในเกาะภูเก็ต” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2528 อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านทางสถานะของเกาะภูเก็ตเอาไว้ว่า เมื่ออำนาจจากส่วนกลางอย่างกองทัพ กองทัพเรือ ระบบราชการ การคมนาคม ฯลฯ ปรากฏบนเกาะภูเก็ตแบบชัดเจน ทำให้เกาะภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อการเมืองภายในอย่างลึกซึ้ง
ลักษณะของภูเก็ต
ในแง่ระยะทาง เกาะภูเก็ตอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของราชอาณาจักรไทย ความห่างไกลยังหมายถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์ด้วย ทั้งจากทิวเขาที่อยู่ตอนกลางของคาบสมุทรทำให้การติดต่อระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกเป็นไปได้ยาก ความยากลำบากในการคมนาคมทำให้ฝั่งตะวันตกไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย ขณะที่การขนปืนและเสบียงจากฝั่งตะวันออกแทบทำไม่ได้เลย นอกจากอาศัยการขนส่งทางทะเลจึงทำให้อำนาจของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีเหนือเกาะภูเก็ตขึ้นอยู่กับว่าจะมีอำนาจควบคุมมะริดและตะนาวศรีได้เพียงใด โดยการเดินเรือจากมะริดถึงเกาะภูเก็ตในพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นไปได้โดยสะดวก ใช้เวลา 12 วันเท่านั้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังระบุว่า ก่อนอยุธยาจะเสียมะริดและตะนาวศรีไปแก่พม่าในราชวงศ์อลองพญา อำนาจของอยุธยาที่มีเหนือเมืองท่าทั้งสองก็ไม่ได้มั่นคงนัก เป็นเหตุให้พระนารายณ์ยกเมืองนี้ให้ฝรั่งเศส
ในช่วงที่เส้นทางเดินเรือจากมะริดถึงเกาะภูเก็ตขาดศูนย์อำนาจที่แข็งแกร่งมาอำนวยระเบียบในแถบช่องแคบมะละกา ทะเลฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรยังเต็มไปด้วยโจรสลัด ส่วนนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความสะดวกในการเดินเรือจากมะริดถึงภูเก็ตลดลงไปด้วย
สำหรับหัวเมืองฝั่งตะวันออกที่การคมนาคมสะดวกกว่า ฝ่ายอยุธยาก็เคยพบปัญหาสงขลาก่อกบฏค้างคา ไม่สามารถปราบลงได้เป็นเวลาถึง 30 ปี ดังนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงระบุว่า ประวัติศาสตร์ของเกาะภูเก็ตนั้น “ขึ้นอยู่กับศูนย์อำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงในนามเท่านั้น”
เมื่อฝั่งตะวันตกมีผู้อาศัยเบาบางย่อมส่งผลในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นแหล่งที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถผลิตอาหารเพียงพอบริโภค ส่วนแหล่งผลิตข้าวสำคัญก็อยู่ทางฝั่งตะวันออก เมื่อสำรวจหลักฐานเก่า(พบในต่างสมัย)จะพบว่า เกาะภูเก็ตต้องอาศัยอาหารและเครื่องอุปโภคจากศูนย์อำนาจอื่นที่สามารถติดต่อทางทะเลได้สะดวก และการมอบสิทธิผูกขาดผลผลิตดีบุกบนเกาะภูเก็ตให้ฝรั่งเศส ไทยยังเรียกร้องฝรั่งเศสให้รับผิดชอบส่งเรือจากฝั่งโจฬมณฑล อย่างน้อยปีละลำมาภูเก็ตเพื่อนำสินค้าเครื่องอุปโภคมาจำหน่าย (เจ้าหน้าที่บริษัทฝรั่งเศสเห็นว่าข้อสัญญานี้อาจทำให้บริษัทเสียเปรียบ)
ถึงแม้สินค้าสำคัญของภูเก็ตอย่างดีบุก จะเริ่มมีความสำคัญในตลาดโลก แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า ยังไม่ทำให้เกาะภูเก็ตเปลี่ยนสถานะจากรัฐชายขอบมาเป็นรัฐส่วนในของราชอาณาจักรอยุธยา ยิ่งใช้แรงงานผลิตดีบุกมากเท่าใด ก็ยิ่งผลิตอาหารไม่พอบริโภคมากเท่านั้น และทำให้ยิ่งต้องพึ่งพาผู้ซื้อซึ่งเดินทางเรือจากศูนย์อำนาจอื่นมากขึ้นเท่านั้น สถานะเหล่านี้เท่ากับผลักเกาะภูเก็ตให้ห่างออกจากศูนย์อำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นไปอีก
แต่นอกเหนือจากศูนย์อำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ภูเก็ตย่อมมีสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจอื่น ไม่ว่าจะในแง่ทางการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากมะละกา มีส่วนทำให้เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรเสื่อมลง (แม้เส้นทางเหล่านั้นยังภูกใช้เพื่อการค้าเล็กน้อยและเพื่อกิจการอื่นๆ สืบมาจนถึงศตวรรษที่ 25) การค้าส่วนใหญ่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนล้วนอาศัยเมืองมะละกาเป็นแหล่งกลางและอาศัยเส้นทางทะเล จึงพอกล่าวได้ว่า
“หากรัฐชายขอบภูเก็ตเคยมีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจใดทางฝั่งตะวันออก ความสัมพันธ์นั้นก็สลายลงเมื่อมะละการุ่งเรืองขึ้น ยิ่งกว่านั้นอาจเป็นไปได้ด้วยว่ามะละกาในฐานะศูนย์อำนาจดึงดูดเกาะภูเก็ตให้เข้าไปผูกพันด้วย อิทธิพลทางการเมืองและศาสนาของมะละกาขยายขึ้นมาถึงไทรบุรี”
เมื่อมะละกาสลายตัว โปรตุเกส วิลันดา และอังกฤษ เริ่มมาสถาปนาตนเองเป็นศูนย์อำนาจทางตอนใต้ของเกาะภูเก็ตสืบต่อมา นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่า มีหลักฐานบ่งชี้ความสัมพันธ์ของเกาะภูเก็ตกับศูนย์อำนาจทั้งสามนี้ บ้างก็เป็นในแง่การเมือง หรือในแหล่งที่ถูกยกเป็นแหล่งผูกขาดดีบุก ตั้งแต่มะละกาสลายตัว มาจนถึงช่วงสถาปนาปีนังและสิงคโปร์ของอังกฤษ ศูนย์อำนาจต่างๆ ข้างต้นไม่มีศูนย์กลางในช่องแคบมะละกา พื้นที่ดังกล่าวเกิดความผันผวนทางการเมืองอย่างมาก และมีผลกระทบต่อภูเก็ต โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ยกตัวอย่างหลายกรณี อาทิ ศูนย์อำนาจของ “พะม่า” ซึ่งให้ความสนใจดินแดนฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเป็นครั้งคราว
แง่มุมทางการเมือง
ในแง่ทางการเมืองนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึงการเมืองในรัฐชายขอบของภูเก็ตไว้ ดังนี้
“งานศึกษาของคุณสุนัย ราชภัณฑารักษ์ (2517) ให้ข้อมูลและการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นของเกาะภูเก็ตอย่างดี และแม้ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นพ้องกับการตีความของคุณสุนัยในทุกเรื่องก็เชื่อว่าการศึกษาของคุณสุนัยจะปูพื้นฐานให้แก่การศึกษากลุ่มอำนาจท้องถิ่นแก่บุคคลในท้องที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในโอกาสต่อไป และในที่นี้ก็อาศัยงานของคุณสุนัยเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ
ในพ.ศ. 2384 เมื่อนายเริก บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชาเขียนคำให้การประวัติศาสตร์ของเมืองถลางร่วมกับเชื้อสายของพระยาถลางนั้น สถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเกาะถลางในความคิดของคนเหล่านี้ก็คือตระกูลของจอมร้าง และอาญาสิทธิ์ของเจ้าพระยาสุรินทราชา ซึ่งทำให้ถลางมีขอบเขตอำนาจในพระราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน (ดูพงศาวดารเมืองถลางในประชุมพงศาวดารภาคที่ 2)
จอมร้างและจอมเฒ่า พี่น้องต่างมารดากันนี้สืบเชื้อสายหรืออ้างว่าสืบเชื้อสายมาจาก ‘มะฮุม’ นั่นก็คือสุลต่านองค์ใดองค์หนึ่งของไทรบุรี และดังที่กล่าวแล้วว่า ไทรบุรีเป็นศูนย์อำนาจประจำถิ่นที่มีความสำคัญเป็นบางครั้งบางคราว การอ้างหรือความที่ว่าต้นตระกูลของกลุ่มเครือญาติสำคัญของเกาะถลางสืบเชื้อสายมาจากไทรบุรีจึงมีความสำคัญทางการเมืองภายในอยู่ด้วย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทรบุรีนี้ได้รับการเสริมให้มั่นคงขึ้นอีกเมื่อจอมร้างได้สมรสกับธิดาม่ายของสุลต่านไทรบุรีอีกองค์หนึ่ง (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 2 : 497)
บุคคลทั้งสองนี้คงเกิดในตระกูลที่อ้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติถึงสุลต่านไทรบุรีองค์ใดองค์หนึ่ง ในสมัยหนึ่งได้เป็น ‘ขุนนาง’ ของถลางด้วย ทางการเข้าเป็นกรมการของเมืองในสมัยก่อนมักจะมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าเมือง และตำแหน่งเจ้าเมืองก็มักจะสืบทอดกันในตระกูล เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเข้าใจได้ว่าตระกูลของบุคคลทั้งสองนั้นเป็นตระกูลที่สังกัดอยู่ในกลุ่มอำนาจที่ตั้งอยู่ในถลางเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว
การที่มีชาวไทรบุรีจำนวนหลายพันคนเข้ามาเก็บรังนกแถบน่านน้ำของเกาะภูเก็ตตามฤดูกาลทุกปี ตลอดจนถึงประชาชนของถลางจำนวนหนึ่งก็คงมีสายสัมพันธ์อยู่กับไทรบุรีด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดความผันผวนทางการเมือง พวกคริสเตียนจำนวนหนึ่งก็หลบภัยไปอยู่ไทรบุรี ทำให้การสืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูงของไทรบุรีเป็นข้อได้เปรียบแก่กลุ่มเครือญาติที่ครองอำนาจอยู่ภายในถลาง หม่าเสี้ย ซึ่งเป็นธิดาของสุลต่านไทรบุรีเมื่ออพยพมาอยู่ถลาง จึงแต่งงานกับคนในเชื้อสายชั้นสูงชาวเมืองไทรบุรีด้วยกัน และช่วยเพิ่มสิทธิธรรมแก่กลุ่มเครือญาตินี้ขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เกียรติยศของไทรบุรีคงกำลังเสื่อมลง ด้วยไทรบุรีถูกพวกบูกิตบุกปล้นสะดมเผาบ้านเผาเมืองในพ.ศ. 2313 มีท่าทีว่าจะถูกคุกคามจากกองทัพของวิลันดาที่ยกมาปราบพวกบูกิต การขยายอำนาจของไทยและพะม่า (สะกดตามต้นฉบับ-กองบก.ออนไลน์) และการหันไปพึ่งพาอังกฤษของไทรบุรี ล้วนแต่ทําให้ไทรบุรีหมดความเป็นศูนย์อํานาจประจําถิ่นในการเมืองภายในของถลางลง เมื่อในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์นี้ ความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับเจ้าเมืองไทรบุรีไม่ใช่สิ่งสําคัญที่ต้องย้ำกันอีกแล้ว ในหมู่กลุ่ม เครือญาติที่ครองอํานาจ ดังที่ไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งในพงศาวดารเมืองถลาง และไม่เคยมีการอ้างถึงในเอกสารของฝรั่งที่ได้เคยเยี่ยมเยือนเกาะถลางในสมัยนี้
จอมเฒ่าและจอมร้างนั้น ได้เคยเป็นกรมการของเมืองถลางมาก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากพงศาวดารเมืองถลางจะเรียกว่า “ขุนนาง” แล้ว คําเรียกที่ว่า “จอม” นี้ก็ปรากฏว่าเป็นธรรมเนียมของเมืองนคร ๆ ที่จะเรียกตําแหน่งหลวงซึ่งเจ้าเมืองตั้งขึ้นว่า “จอม” ธรรมเนียมนี้นิยมใช้ทั้งในพัทลุงและ สงขลา (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 15 : 374) เมืองถลางขึ้นเมืองนคร ฯ จึงเป็นไปได้ว่ารับเอาธรรมเนียมนี้มาใช้ในถลางเช่นกัน
ตามการตีความพงศาวดารเมืองถลางของคุณสุนัยนั้น จอมเฒ่าได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลางในราวรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ (สุนัย, 2517 : 150) และจากนั้นมาอีกเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ของเจ้าเมืองถลางจะเกี่ยวดองเป็นเครือญาติของตระกูลจอมเฒ่าและจอมร้างนี้ทั้งสิ้น น้องชายต่างมารดาคือจอมร้างจะได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาก่อนสิ้นกรุงศรีอยุธยาและเมื่อจอมร้างถึงแก่กรรม เจ้าเมืองนคร ๆ ก็ยกให้บุตรชายจอมร้างชื่ออาด ซึ่งเป็นน้องท่านผู้หญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรีเป็นเจ้าเมืองแต่ก็ถูกฆาตกรรมในที่สุด
บังเอิญเป็นช่วงเวลาที่เสียกรุงศรีอยุธยา ศูนย์อํานาจจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ศูนย์อํานาจจากนครศรีธรรมราชไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอํานาจของตนเหนือเกาะภูเก็ตชั่วคราว เป็นผลให้ไทรบุรีได้เข้าครอบงําเกาะถลางอยู่พักหนึ่ง แม้ในภายหลัง เมื่อชาวถลางสามารถขับไล่พวกแขกไทรบุรีออกไปได้แล้ว ก็ไม่มีหลักฐานระบุได้แน่ชัดว่าในต้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีไปจนถึงประมาณ 2319-20 นั้น เจ้าเมืองถลางมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเครือญาติของจอมเฒ่า-จอมร้างอย่างไร
เป็นอันว่าในยามที่เกิดความผันผวนทางการเมืองในเกาะภูเก็ต กลุ่มเครือญาติของจอมเฒ่า-จอมร้างได้หลุดจากอํานาจไปชั่วเวลาประมาณ 10 ปี ครั้นถึงเวลาที่เจ้านคร ๆ (หนู) ได้กลับมาครองเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้แต่งตั้ง “ข้าหลวงเดิม” คือพระยาพิมลขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง พระยาพิมลผู้นี้คือ สามีคนที่สองของท้าวเทพกระษัตรีซึ่งเป็นธิดาของจอมร้าง พระยาพิมลจะได้เป็นเจ้าเมืองถลางจากปีนี้ไปจนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2327-8 (ดูสุนัย, 2517 : 151 – 154)
พระยาพิมลนั้นแม้มิได้มีกําเนิดในถลาง แต่เมื่อเป็นเขยของกลุ่มเครือญาติสําคัญนี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอํานาจในเกาะภูเก็ตมากกว่าเป็นตัวแทนของเจ้านคร ฯ หรือกรุงเทพ ฯ ดังที่มีหลักฐานว่าพระยาพิมลอาจมีเรื่องบาดหมางกับทั้งพระยาอินทวงษา และ หรือพระยาธรรมไตรโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของอํานาจจากราชธานี
เพราะฉะนั้นในระหว่างพระยาพิมล และกลุ่มเครือญาติที่เกี่ยวดองกับพระยาพิมลแล้ว กลุ่มเครือญาติมีรากที่ฝังแน่นมาในเกาะภูเก็ตเป็นเวลานาน เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนและมีกําลังคนทั้งเกิดจากอํานาจสั่งสมทางเศรษฐกิจของตระกูลและอํานาจบารมีที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จึงเป็นฝ่ายที่มีอํานาจหรือมีความสําคัญทางการเมืองภายในของเกาะภูเก็ตมากกว่าตัวพระยาพิมลเอง นายเจมส์ สก๊อตซึ่งมีความคุ้นเคยกับชนชั้นปกครองในถลางอย่างที่ตั้งข้อสังเกตว่า พระยาพิมลได้อิทธิพลหรืออํานาจมาจากตระกูลของภรรยา (Simmonds, 1966 : 217)
ในสมัยของพระยาพิมลอีกเช่นกันที่มีหลักฐานว่ากลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า – จอมร้างได้ตําแหน่งการเมืองในเมืองภูเก็ตด้วย โดยการสนับสนุนให้นายเทียนทุกขราชเมืองถลาง ซึ่งเป็นบุตรท่านผู้หญิงจันเกิดแต่สามีเดิม ได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตด้วย ก่อนหน้าสมัยนี้กลุ่มเครือญาตินี้จะได้มีอำนาจในเมืองภูเก็ตหรือไม่ก็ไม่มีหลักฐานจะทราบได้ แต่หลังจากสมัยนี้เป็นต้นไปเจ้าเมืองภูเก็ตก็มักจะสัมพันธ์กับกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้างอยู่บ่อยๆ
หลังจากมรณกรรมของพระยาพิมลและหลังศึกถลางครั้งแรก กรุงเทพฯ ก็แต่งตั้งคน ‘นอก’ เข้ามาเป็นใหญ่ในถลางอีก นั่นก็คือเจ้าพระยาสุรินทราชา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแปดหัวเมือง
หากประวัติของเจ้าพระยาสุรินทราชาดังที่เชื่อกันเป็นจริง ท่านก็เป็นคนภาคกลางคือเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) จะเห็นได้ในประวัติของท่านตอนต่อไปว่าการได้มาเป็นเจ้าอุปราชของเจ้านคร ฯ (หนู) ในชั่วระยะเวลาอันสั้นกลับทำให้ท่านผูกพันอยู่กับปักษ์ใต้ไปตลอดชีวิต กล่าวคือกลับมารับราชการในครั้ง พ.ศ. 2328 แถบหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกนี้แล้วก็จะไม่กลับเข้ากรุงเทพฯ อีกเลย แม้ว่าจะได้รับข้อเสนอให้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมก็ตาม ทั้งยังทิ้งเชื้อสายให้มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นของหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกสืบมาอีกหลายชั่วคน จึงเข้าใจว่าเช่นเดียวกับพระยาพิมล แม้ไม่ใช่คนในท้องถิ่น แต่การสามารถสั่งสมอำนาจได้มั่นคงเช่นนี้ ก็คงเนื่องจากได้สมรสกับกลุ่มเครือญาติที่มีอิทธิพลประจำถิ่นในภาคใต้
เจ้าเมืองถลางว่างลงเป็นเวลา 3-4 ปี ในระหว่างนี้กลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้างได้พยายามจะผลักดันให้คนของตนได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมา ท่านท้าวเทพกระษัตรีเองถึงกับเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อถวายบุตรสาวคนหนึ่งคือเจ้าจอมมารดาทองในพระองค์เจ้าอุบล เป็นพระสนมในวังหลวง และนำบุตรชายชื่อเนียมถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าพระยาสุรินทราชาและกลุ่มเครือญาติสำคัญนี้คงไม่ราบรื่นนักในระยะแรก พระยาทุกขราชเทียนซึ่งเป็นบุตรท้าวเทพกระษัตรีมีจดหมายแจ้งแก่ไล้ท์ว่า
(กัปตันฟรานซิส ไล้ท์ เป็นพ่อค้าเอกชนที่มีผลประโยชน์ทางการค้ากว้างขวางในฝั่งตะวันตก และเป็นผู้ว่าราชการเกาะปีนังของบริษัทอินเดียตะวันตก)
‘ทุกวันนี้ ข้ากับเจ้าพระยาถลางก็วิวาทกันหาปกติกันไม่’ แม้ท่านท้าวเทพกระษัตรีเองก็ถึงกับออกปากว่าถูกกรมการเมืองถลางเบียดเสียด ความแตกร้าวนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นเนื่องจากการแย่งผลประโยชน์จากดีบุกระหว่างเจ้าพระยาสุรินทราชาและกลุ่มเครือญาตินี้ (ดูสุนัย 2524 : 10-11)
ความแตกร้าวนี้คงยุติลงในเวลาต่อมาด้วยการประนีประนอม เพราะใน พ.ศ. 2331 พระยาทุกขราชเทียน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาถลาง อันอาจจะเนื่องจากการวิ่งเต้นอย่างเต็มที่ของท้าวเทพกระษัตรีก็ได้ ความสัมพันธ์กับราชสำนักของกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้าง ในกรณีที่ถวายธิดาเป็นสนมคงทำให้เจ้าพระยาสุรินทราชาเห็นว่าการปรองดองจะเป็นประโยชน์กว่า ในพ.ศ. 2433 พระยาถลางเทียนยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้สำเร็จราชการหัวเมืองทั้งแปดด้วย ไม่แต่เพียงเป็นพระยาถลางอย่างเดียว
ตำแหน่งนี้ได้รับพระราชมาได้นั้นก็เข้าใจว่าเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของเจ้าพระยาสุรินทราชาด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลจะสนิทสนมแนบแน่นขึ้นในเวลาต่อมา บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรินทราชาที่ชื่อเริกจะสมรสกับธิดาของพระยาถลางที่ชื่อทุ่ม (สุนัย, 2517 : 161)
ครั้นเมื่อพระยาถลาง เทียน ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรของพระยาถลาง อาด น้องชายของท้าวเทพกระษัตรีก็ได้เป็นพระยาถลาง (คงจะชื่อบุญคงหรือทองพูน) และได้เป็นเจ้าเมืองถลางจนถึงเมื่อพะม่าทำลายเมืองถลางลงสำเร็จใน พ.ศ. 2352-3 มีรายงานว่าพะม่าได้มีจดหมายไปยังปีนังบอกข่าวชัยชนะของตนพร้อมทั้งอ้างว่าได้จับตัวเจ้าเมืองถลางไปยังพะม่าและเปลี่ยนชื่อเมืองถลางเป็นซาลาวารา (Anderson 1965 : 128)
ความพินาศยับเยินที่เกิดแก่ถลางครั้งนี้เป็นผลให้กลุ่มเครือญาติที่เป็นกลุ่มอำนาจของถลางไม่มีชื่อปรากฏในฐานะเจ้าเมืองถลางอีกระยะหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ของถลางแตกฉานซ่านเซ็นหรือถูกพะม่ากวาดต้อนไป ครั้นขับไล่พะม่าไปแล้ว ประ ชาชนก็ไปตั้งทํากินอยู่ที่พังงา ในเกาะถลางเอง มีประชากรเหลืออยู่น้อยไม่ถึง 1,000 คน ผู้ที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลมีบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงชื่อหลวงบํารุง (Anderson, 1965 : 128) ไม่ปรากฏว่าหลวงบํารุงผู้นี้เกี่ยวข้องอย่างใดกับกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า – จอมร้างหรือไม่
อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2354 ก็มีตราถึงกรมการเมืองสงขลาให้ตั้งหลวงยกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่งเป็นพระถลางในราชทินนามว่าพระวิเชียรภักดี แต่ยังไม่ต้องไปตั้งที่เกาะถลางให้เกลี้ยกล่อมผู้คน “ตั้งบ้านเรือนขุดร่อน แร่ดีบุก ณ ที่ (พังงา) จนกว่าจะมีเสบียง อาหารและกระสุนดินประสิวพอสมควรแล้วจึง ให้ไปตั้งที่ถลาง” (จ.ร. ๒ ๖/๕ จ.ศ. ๑๑๗๓)
ไม่ทราบแน่ว่าพระวิเชียรภักดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับหลวงบํารุงหรือไม่และไม่ทราบแน่ว่ามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มเครือญาติสําคัญของถลางหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าพระวิเชียรภักดีไม่มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มอํานาจในท้องถิ่นถลาง แต่เข้าใจว่ากลุ่มอํานาจเดิมนั้นยังมีอิทธิพลในรูปของผู้คนอยู่พรั่งพร้อมกว่าผู้อื่น พระวิเชียรภักดีจึงขอให้นายฤทธิ์ได้เป็นหลวงวิชิตภักดีผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองถลาง ตามเอกสารข้างไทยกล่าวว่านายฤทธิ์นี้เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา (จ.ร. ๒ ๖/๕ จ.ศ. ๑๑๗๓)
หลวงวิชิตภักดีผู้นี้ดูจะเป็นคนมีผู้คนบ่าวไพร่พร้อมเพรียง เพราะปรากฏว่าเป็นผู้ที่ได้รับเลือกของเจ้าพระยาสุรินทราชามาควบคุมทําราชการหลังจากมรณกรรมของบิดา ด้วย เหตุฉะนั้นสารตราของอัครมหาเสนาบดี จึงมีข้อความสั่งงานเฉพาะแก่หลวงวิชิตภักดีเป็นข้อสําคัญเสียยิ่งกว่าตัวเจ้าเมืองเสียอีก มีความตอนหนึ่งว่า
“ถ้าถึงเทศกาลจะขุดร่อนแร่ดีบุก ก็ให้หลวงวิชิตภักดีช่วยราชการตักเตือนให้ราษฎรชายหญิงไปขุดร่อนแร่ดีบุกจงทุกมรสุม และเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า พังงาเป็นเมืองหน้าด่านทางข้าศึกอยู่ ให้หลวงวิชิตภักดีตักเตือนว่ากล่าวจัดแจงเรือรบ เรือไล่ ปืนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิวไว้ให้พร้อม มีราชการศึกสงครามมาให้ช่วยกันรบพุ่งต้านทานไว้เอา ชัยชนะจงได้” (จ.ร. ๒ – ๖/๕ จ.ศ. ๑๑๗๓)
หลวงวิชิตภักดีฤทธิ์นี้อาจเป็นคนเดียวกับพระยาถลางฤกษ์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเขียนคําให้การพงศาวดารเมืองถลาง และได้เป็นพระยาถลางเมื่อเวลาใดเวลาหนึ่งก่อน พ.ศ. 2380 และหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้วบุคคลผู้นี้ มีมารดาเป็นชาวถลาง (แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยว ดองกับกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้างหรือไม่) ตัวเองได้แต่งงานกับทุ่มบุตรีพระยาถลาง เทียน ตั้งแต่ก่อนถลางล่มใน พ.ศ. 2352 – 3. ได้หลบหนีพะม่าพร้อมทั้งภรรยาไปอยู่แถบเมืองพังงาหรือตะกั่วป่า (สุนัย, 2517) : 161 – 162) และเพราะเป็นเชื้อสายเจ้าพระยาสุรินทราชา อีกทั้งเกี่ยวดองกับกลุ่มอํานาจของถลางนี้เอง ที่ทําให้มีผู้คนบ่าวไพร่อยู่มาก และแม้แต่พระวิเชียรภักดีก็ยังต้องร้องขอให้เอาบุคคลผู้นี้เป็นผู้ช่วยราชการ
เมืองถลางถูกกลับตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อใดไม่ทราบชัด แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2363 (ดูสุนทร, 2518 : 63) พระวิเชียรภักดีจะได้กลับไปตั้งอยู่ ณ ถลางและกลายเป็นพระยาถลางหรือไม่ก็ไม่มีหลักฐาน แต่ในเวลาก่อนที่หลวงวิชิตภักดีหรือบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชาจะได้เป็นพระยาถลางนั้น ยังมีพระยาถลางอีก 1 คนชื่อเดิมว่าเจิม มีบิดาเป็นชาวอินเดียเมืองมัทราส แต่ได้เป็นกรมการในเมืองถลางมาก่อน เพิ่มได้แต่งงานกับแสงซึ่งเป็นหญิงในวงศ์ญาติของท้าวเทพกระษัตรี (สุนัย, 2517 : 92 – 93) บุตรชายของพระยาถลางเจิมและหญิงในกลุ่มเครือญาติสําคัญนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระภูเก็ตมีชื่อตัวว่าแก้ว เป็นอันว่าหลังจากพะมาทําลายถลางลงไม่นานกลุ่มเครือญาติที่มีอํานาจในถลางมาเก่าก็สามารถสถาปนาอํานาจของตนในท้องถิ่น อย่างมั่นคงได้อีกครั้งหนึ่ง
พระยาถลางต่อจากเจิมคือพระยาถลางฤกษ์หรือฤทธิ์ แม้คนทั้งสองจะไม่เกี่ยวพันกันในทางเครือญาติอย่างใด แต่จากการที่ทั้งสองเกี่ยวดองกับกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า – จอมร้างก็ ทําให้เกิดความสืบเนื่องในการสืบตําแหน่งของบุคคลทั้งสองได้อย่างดี และสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ กลุ่มเครือญาติของฝ่ายหญิงนี้จะอํานวยความสืบเนื่องในการรับทอดตําแหน่งได้อย่างราบรื่น นับว่าได้เป็นการแสดงพลังทางการเมืองของกลุ่มเครือญาตินั้นได้อย่างชัดเจน
ถัดจากพระยาถลางฤกษ์หรือฤทธิ์แล้ว เชื้อสายของท่านก็จะได้เป็นพระยาถลางสืบต่อมาจนถึงพระยาถลางเกต ซึ่งถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2433 ถัดจากนั้นก็โอนตําแหน่งไปสู่เชื้อสายของพระยาถลางเกต ซึ่งเป็นน้องชายของท้าวเทพกระษัตรี คือพระยาถลาง หนู ซึ่งก็ยังเป็นบุคคลในกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้างนั่นเอง นับเป็นเจ้าเมืองถลางคนสุดท้ายก่อนหน้าที่ระบบเทศาภิบาลจะแผ่มาถึง (เนื้อความทั้งหมดในตอนนี้อาศัย สุนัย, 2517 : 148 – 165 เป็นพื้นฐาน)
ในส่วนเมืองภูเก็ตนั้นก็ปรากฏว่ากลุ่มเครือญาติสําคัญนี้สามารถยึดตําแหน่งเจ้าเมืองไว้ได้อย่างสืบเนื่องมาจนถึงสิ้นสุดยุคก่อนเทศาภิบาลเช่นกัน (ดูสุนัย, 2517 : 165 – 168) แม้แต่รัฐบาลกลางก็ยอมรับในความสําคัญของกลุ่มเครือญาตินี้ ดังที่เจ้าพระยาอัครมหาเสนาได้มีสารตราถึงผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตใน พ.ศ. 2412 อธิบายเหตุผลที่ยกเมืองถลางมาขึ้นแก่ภูเก็ตตอนหนึ่งว่า “เพราะเป็นพรรคพวกวงศ์ตระกูลติดกับพระยาวิชิตสงคราม” และ “จะจัดหาวงศ์สกุลอื่นมาเป็นผู้สําเร็จราชการเมืองเกลือกจะเป็นที่ขัดขวางแก่เมืองภูเก็ต” (สุนทร, 2518 : 72)
ในสังคมไทยโบราณ กลุ่มเครือญาติเป็นการรวมกลุ่มทางสังคมหรือเป็นการจัดตั้งที่รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะพบว่ากลุ่มอํานาจที่ยืนยงได้นาน ๆ ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ (หรือแม้แต่ในราชอาณาจักร) ก็มักเป็นกลุ่มเครือญาติ เพราะฉะนั้นในกรณีของเมืองและเกาะถลาง บทบาทอันสําคัญของกลุ่มเครือญาติจอมเฒ่า-จอมร้าง จึงมิใช่ผิดประหลาดไปจากท้องถิ่นอื่น ๆ กลุ่มอํานาจในท้องถิ่นที่จะยกตนให้มีความสําคัญสูงพอที่จะกล่าวถึงการดําเนินการทางการเมืองของกลุ่มอํานาจเดิมของกลางที่จะพึ่งพิงศูนย์อํานาจอื่นนอกจากไทรบุรีและกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ เพราะหลักฐานที่เหลืออยู่เป็นหลักฐานจากช่วงสมัยที่ศูนย์อํานาจในลุ่ม้ำเจ้าพระยามีความจําเป็น (ทั้งทางทหาร, เศรษฐกิจ และการเมือง ระหว่างประเทศ) ในอันที่จะแสดงอํานาจของตนให้ชัดเจนทวีขึ้นทุกขณะในแถบฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร
ข้อสังเกตว่าด้วยกลุ่มอำนาจทางการเมืองของท้องถิ่น
จากการพิจารณากลุ่มเครือญาติของถลางในแง่ที่เป็นกลุ่มอํานาจทางการเมืองของท้องถิ่น เช่นนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอันควรสรุปไว้ดังนี้
1. แม้ว่าจะมีความผันผวนทางการเมืองอย่างใหญ่ที่กระทบเกาะภูเก็ตหลาย ครั้งหลายคราวในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา เช่น การเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 ซึ่งทําให้ดุลย์แห่งอํานาจในถลางสลายลงชั่วขณะ การยึดครองของไทรบุรี ศึกพะม่าใน พ.ศ. 2328 การสถาปนามหาอํานาจใหม่คืออังกฤษในช่องแคบมะละกา การทําลายถลางของพะม่าใน พ.ศ. 2352-3 การกบฏของหัวเมืองมลายู ฯลฯ กลุ่มเครือญาติที่ยึดอํานาจไว้สืบทอดกันนี้ก็ยังคงสามารถสืบทอดอํานาจ
2. เงื่อนไขสําคัญที่ทําให้สามารถทําเช่นนี้ได้ไม่น่าจะเกิดจากที่ได้รับมอบหมายอํานาจในการควบคุมผู้คนในระบบไพร่ ซึ่งได้รับมาจากราชธานีหรือนครศรีธรรมราช เพราะระบบไพร่ได้แตกสลายลงหลายครั้งในประวัติศาสตร์ถลาง เนื่องจากการยึดครองของข้าศึกหรือศูนย์อํานาจที่ค้ำจุนระบบไพร่นั้นถูกทําลายลง แต่กลุ่มอํานาจเดิมก็ยังคงสามารถรักษาอํานาจของตนในถลางไว้ได้ต่อไป จึงเข้าใจว่าเงื่อนไขสําคัญน่าจะอยู่ที่ฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจนี้มากกว่าฐานทางการเมือง (และจะพิจารณาในเรื่องนี้ข้างหน้า-ตอนต่อไป) และจะเห็นได้ว่าเมื่อฐานทางเศรษฐกิจนี้ถูกทำลายลง กลุ่มอำนาจเดิมก็จะไม่สามารถรักษาอำนาจเก่าของตนไว้ได้
3. การสืบทอดอำนาจของกลุ่มเครือญาตินี้อาศัยผู้หญิงเป็นตัวกลางสำหรับผ่านอำนาจอย่างมาก เช่นท้าวเทพกระษัตรีเองเป็นตัวกลางผ่านทางอำนาจของจอมร้างไปยังพระยาพิมล หญิงชาวถลางคนหนึ่งซึ่งอาจเป็นเชื้อสายในกลุ่มเครือญาตินี้ส่งผ่านอำนาจของจอมเฒ่า-จอมร้างไปยังพระยาสุรินทราชา แสง ส่งผ่านอำนาจไปยังพระยาถลางฤทธิ์หรือฤกษ์ ฯลฯ ส่วนหนึ่งของเหตุผลก็คงเป็นเพราะกลุ่มเครือญาติถลางไม่ประสบความสำเร็จที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันถาวรกับศูนย์อำนาจกรุงเทพฯ …
4. ดังที่กล่าวแล้วว่าในฐานะรัฐชายขอบ เกาะภูเก็ตมีประชากรหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา และภาษา การสืบทอดอำนาจโดยกลุ่มเครือญาติใดเครือญาติหนึ่งโดยผ่านสายผู้ชาย (คือจากพ่อมาหาลูก) ไปเรื่อยๆ จะทำให้กลุ่มเครือญาตินั้นฝังตัวเองลงในผลประโยชน์ของกลุ่มประชากรใดประชากรหนึ่งอย่างแน่นแฟ้น และย่อมก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของกลุ่มเครือญาตินั้นเอง
ในทำนองตรงกันข้าม การเป็นตัวกลางผ่านอำนาจของฝ่ายหญิงในกลุ่มเครือญาติถลางเปิดโอกาสให้คนต่างผลประโยชน์ ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนาและต่างโคตรได้เข้ามาสืบทอดอำนาจในฉายาของกลุ่มอำนาจได้อย่างเปิดกว้างกว่า ดังจะเห็นได้ว่า เขยของกลุ่มเครือญาติถลางซึ่งจะได้เป็นผู้ดำรงอำนาจในถลางนั้นมีมาจากทั่วสารทิศ เป็นต้นว่าจากชาวมุสลิมอินเดีย จากตะกั่วทุ่ง-ตะกั่วป่า จากพังงาและจากสายเจ้าพระยาสุรินทราชา ซึ่งมีกำเนิดในภาคกลางของไทย กลุ่มเครือญาติที่เป็ฯของฝ่ายหญิงจึงเป็นเหมือนตัวอำนวยเสถียรภาพ ในขณะที่มีความแปรเปลี่ยนที่ฝ่ายชายซึ่งเข้ามารักษาอำนาจของกลุ่มเครือญาตินี้ไว้สืบเนื่องกันไป
5. กลุ่มอำนาจเดิมของถลางนี้อาศัยความเป็นรัฐชายขอบ กีดกันมิให้ตัวแทนจากอำนาจภายนอก ซึ่งยังมิได้เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยความเป็นเครือญาติ ได้แทรกแซงในผลประโยชน์และอำนาจของตนได้สะดวกเสมอมา พระยาอินวงษาและ หรือพระยาธรรมไตรโลกเคยมีเรื่องบาดหมางกับพระยาพิมลเจ้าเมืองถลาง เช่นเดียวกับที่เจ้าพระยาสุรินทราชาเคยขัดใจกันกับพระยาทุกขราช เทียน แม้แต่ในพ.ศ. 2358 เมืองนครฯ ยังเป็นผู้ดูแลเมืองถลาง หลังถลางล่มอยู่นั้น พระยาถลางยังแกล้งไม่ส่งตัวกรมการถลางที่โกงเงินอากรรังนกคืนพระยานครฯ แม้ว่าจะมีหนังสือเรียกให้ส่งตัวถึงสองสามครั้งก็ตาม (ดูจ.ร. ๒ – ๒ จ.ศ. ๑๑๗๗)
และในท้ายที่สุดพระยาทิพโกษา ข้าหลวงที่ถูกส่งไปจากกรุงเทพฯ ในสมัยปฏิรูปการปกครอง ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจของกรมการภูเก็ต ในขณะที่พระยามนตรีสุริยวงศ์ข้าหลวงคนแรกที่ถูกส่งไปจากกรุงเทพฯ ร่วมมือกับเจ้าเมืองภูเก็ตได้อย่างสนิทสนิมกลมเกลียว ทั้งนี้เพราะพระยามนตรีสุริยวงศ์เองก็เป็นเชื้อสายกลุ่มเครือญาติถลางและตนเองยังสมรสกับหญิงในกลุ่มเครือญาติถลางอีกด้วย ความสามารถเช่นนี้ของกลุ่มอำนาจเดิมของถลางจะสลายลงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5
พลังของกลุ่มอำนาจเดิมในถลางสามารถต้านทานอำนาจอัน “เกินขอบของความพอดี” จากภายนอกนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปูมหลังที่อธิบายวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรด้วย เมื่อพะม่ายกทัพมาตีถลางใน พ.ศ. 2328 และหลังจากมรณกรรมของพระยาพิมลแล้ว ท่านผู้หญิงจันและคุณหญิงมุขก็กลายเป็นประมุขของกลุ่มอำนาจเดิมอย่างแท้จริง ทั้งในด้านวัยวุฒิและฐานะที่สืบสายโดยตรงจากจอมร้าง การตัดสินใจต้านทานพะม่าของกลุ่มอำนาจเดิมในถลางคือการตัดสินใจของท่าน และเป็นธรรมดาที่ท่านทั้งสองจะเป็นผู้นำในการต่อต้านหรืออย่างน้อยก็ได้รับการเชิดชูจากกลุ่มอำนาจเดิมให้เป็นผู้นำในการต่อต้าน
ภาพของวีรสตรีที่ถือดาบออกกวัดแกว่งต่อสู้ข้าศึกอาจปลุกเร้าความสำนึกชาตินิยมของคนปัจจุบัน (เขียนในพ.ศ. 2528) ได้ดี แต่อนุสาวรีย์ที่แท้จริงน่าจะเป็นความสามารถในการจัดตั้งความสุขุมคัมภีรภาพ สถานภาพอันสูงส่งทางสังคมและการเมือง ความเสียสละที่ให้แก่กลุ่ม (อันไม่จำเป็นต้องหมายถึงชาติ) และความเฉลียวฉลาดในการใช้สถานภาพอันสูงนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม เช่นเดียวกับผู้นำที่สามารถไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะรบเก่งหรือไม่, คนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์มีและเป็น (มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ซึ่งอ้างว่าออกจากปากท่านท้าวเทพกระษัตรีเองว่าชัยชนะจากพะม่าครั้งนี้เกิดจากการใช้กลยุทธ์ แต่ก็เป็นการบอกเล่าจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าวางใจนัก (ดู Anderson 1965 : 129))”
…
ติดตามเนื้อหาว่าด้วย “การเมืองเรื่องดีบุก” และ “การสูญเสียอำนาจทางการเมืองของกลุ่มเครือญาติถลาง” ในตอนต่อไป
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ “จากรัฐชายขอบ ถึงมณฑลเทศาภิบาล : ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในเกาะภูเก็ต” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2528
การอ้างอิง
ประชุมพงศาวดาร ใช้ฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า.
เอกสารในหอวชิรญาณ จ.ร. คือจดหมายเหตุรัชกาลที่ … เลขหมายข้างหลังคือเลขทะเบียนเอกสารและปีจุลศักราช.
สุนทร หิรัญวงศ์. สภาพการณ์ในช่วงสมัยการปฏิรูปการปกครองมณฑลภูเก็ตในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2434-2453, มศว., ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. 2518
สุนัย ราชภัณฑารักษ์, “ท้าวเทพกระษัตรี” ใน ทำเนียบกุลญาติสกุล ณ ถลาง, พ.ศ. 2524
สุนัย ราชภัณฑารักษ์. ภูเก็ต. กรุงเทพฯ 2517.
Anderson, John. Political and Commercial Considerations Re Relative to the Malayan Peninsula and the British Settlements in the Straits of Malacca, Singapore.1965.
Simmonds, E.H.S. “Francis Light and the ladies of Thalang,” JMBRAS XXXVIII, (2 July, 1966) : 213-228.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2563